ถ้าถามถึงโรคร้ายแรงที่น่ากลัวที่สุดคงหนีไม่พ้น “โรคมะเร็ง” ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี หลายคนรู้ถึงความรุนแรง ความเจ็บปวด ผลร้ายต่างๆ ที่เกิดจากโรคนี้ และทราบเป็นอย่างดีว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นโรคนี้มาจาก “พฤติกรรมการใช้ชีวิต” แต่จากไลฟ์สไตล์ของคนทั่วๆ ไปในปัจจุบันโดยเฉพาะคนวัยทำงานอย่างพนักงานออฟฟิศ ด้วยภาระหน้าที่ ความเร่งรีบ อาหารการกิน สภาพแวดล้อมต่างๆ ที่พบเจอ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นที่กำลังเผชิญอย่าง PM 2.5 ควันพิษต่างๆ ล้วนทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายอย่างโรคมะเร็ง
มะเร็ง เป็นเนื้อร้ายที่สามารถเกิดขึ้นได้เกือบทุกส่วนของร่างกาย แม้กระทั้งในส่วนที่อยู่ลึกและยากต่อการมองเห็นอย่างโพรงจมูก “มะเร็งโพรงจมูก” จึงตรวจพบได้ค่อนข้างยาก อาการเริ่มต้นจะคล้ายๆ ภูมิแพ้หรือไข้หวัดธรรมดา หลายคนจึงมักเข้าใจผิดและรู้ตัวช้า ทำให้ได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที เมื่อตรวจพบอาการจึงลุกลามถึงระยะที่รุนแรงแล้ว มะเร็งชนิดนี้แม้จะพบไม่บ่อยนัก แต่ก็ไม่ควรละเลย จึงถือว่าเป็นอีกภัยเงียบที่ควรระวังไม่แพ้มะเร็งชนิดอื่นๆ วันนี้เราได้รวบรวมข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับมะเร็งชนิดนี้มาฝาก ลองมาเช็คอาการกันดูนะคะว่าคุณมีความเสี่ยงต่อโรคนี้แค่ไหน
สาเหตุการเกิดมะเร็งโพรงจมูก
มะเร็งโพรงจมูกเกิดจากความผิดปกติของเซลล์บริเวณหลังโพรงจมูกซึ่งมีลักษณะเป็นโพรงกว้างอยู่ทางด้านหลังของจมูก ซึ่งเป็นทางผ่านของอากาศไปยังผนังคอ ยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่าสาเหตุของมะเร็งโพรงจมูกคืออะไร แต่ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งโพรงจมูกได้มีหลายประการดังนี้
- พันธุกรรม จากข้อมูลที่ว่ามะเร็งโพรงจมูกสามารถพบมากกับคนเชื้อชาติจีน จึงทำให้มีการศึกษาว่าพันธุกรรมอาจเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดมะเร็งชนิดนี้
- ชื้อไวรัส มีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยมะเร็งโพรงจมูกจะมีสารภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเอปสไตน์บาร์ (EBV) ในปริมาณที่สูงกว่าคนทั่วไปที่มีสุขภาพดี จึงสันนิษฐานว่าเชื้อไวรัสตัวนี้นี่เองที่อาจจะเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งโพรงจมูก
- อาหารการกินการรับประทานอาหารที่มีสารก่อมะเร็งที่ชื่อว่าไนโตรซามีน ซึ่งมักพบปนเปื้อนอยู่ในอาหารหมักดอง เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม แหนม ไส้กรอกอีสาน ปลาร้า หรือแม้แต่อาหารปิ้งย่างต่างๆ
- สิ่งแวดล้อม บริเวณที่มีฝุ่นละออง โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ในอากาศเต็มไปด้วยฝุ่นละออง PM2.5 ควันไฟจากการเผาไหม้ สารเคมีต่างๆ ตลอดจนควันพิษจากบุหรี่
- สุขภาพอนามัย ที่ไม่ดีของช่องปากหรือโพรงจมูก ได้แก่ การละเลยสุขอนามัยในช่องปาก หรือปล่อยให้เกิดการอักเสบภายในช่องปากหรือโพรงจมูกเรื้อรัง
อาการของมะเร็งโพรงจมูก
อาการเบื้องต้นของมะเร็งโพรงจมูกจะคล้ายไข้หวัด เช่น มีอาการไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล แต่จะพบว่ามีบางอาการที่เด่นชัดขึ้นมา สามารถแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
- พบก้อนที่คอ เป็นอาการที่พบมากที่สุดของผู้ป่วยมะเร็งโพรงจมูกที่มาพบแพทย์ เพราะสามารถสังเกตได้ค่อนข้างชัด คือพบว่ามีก้อนนูนอยู่ตรงบริเวณลำคอส่วนบน หรือต้นคอใต้ติ่งหู มีลักษณะแข็ง ไม่เจ็บ เคลื่อนไหวไปมาได้ อาจพบเพียงก้อนเดียว หรือหลายก้อนก็ได้
- อาการทางจมูก มีอาการระคายเคืองหลังโพรงจมูก พบน้ำมูกปนเลือดบ่อยครั้ง มีเลือดออกทางจมูกบ่อยๆ แน่นจมูกหายใจไม่ค่อยสะดวก เสียงเปลี่ยน หรือมีน้ำมูกไหลลงคอเรื้อรัง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยหลายรายอาจได้รับการรักษาแบบโพรงจมูกหรือโพรงไซนัสอักเสบเรื้อรังมาก่อน
- อาการทางหู สำหรับผู้ป่วยมะเร็งโพรงจมูก การได้ยินจะบกพร่อง มีเสียงดังในหู ปวดหู หรือมีของเหลวไหลออกจากหู ซึ่งเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของท่อเชื่อมหูชั้นกลางเนื่องมาจากการลุกลามของมะเร็ง ส่งผลให้ความกดอากาศในหูชั้นกลางลดลง ทำให้หูอื้อและอาการจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
- อาการทางระบบประสาท มีอาการปวดศีรษะมองเห็นภาพซ้อนชาที่ใบหน้า ในรายที่ลุกลามมาก ผู้ป่วยก็อาจมีอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้า เวียนศีรษะ เสียงแหบ กลืนลำบาก หรือสำลักได้ รวมทั้งอาจมีการรับกลิ่นและรสเปลี่ยนไป
- อาการอื่นๆ เช่น น้ำหนักลด เบื่ออาหาร มีไข้ต่ำๆ อาจมีอาการอ้าปากไม่ขึ้น สำลักน้ำขึ้นจมูก เป็นต้น รวมถึงอาการที่เกิดจากการลุกลามของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะตำแหน่งอื่น
วิธีการวินิจฉัย และรักษามะเร็งโพรงจมูก
- การวินิจฉัยมะเร็งโพรงจมูก แพทย์จะตรวจร่างกาย โดยการส่องดูภายในจมูก ตรวจโพรงหลังจมูก ทำการตัดชิ้นเนื้อจากเนื้องอกในโพรงจมูกไปตรวจ ร่วมกับการตรวจเลือด และทำการรักษาตามระยะของโรค
- การฉายแสง คือการใช้รังสีพลังงานสูงในการฆ่าเซลล์มะเร็งโพรงจมูก ถือว่าเป็นวิธีหลักที่ใช้รักษามะเร็งโพรงจมูก ซึ่งถ้าเป็นอาการป่วยระยะที่ 1 พบว่ามีโอกาสตัดเซลล์มะเร็งทิ้งไปได้มากกว่า 90% หรือเกือบทั้งหมด
- การฉายแสงร่วมกับการใช้เคมีบำบัด สำหรับผู้ป่วยในระยะที่ 2 ขึ้นไปแพทย์อาจต้องใช้การรักษาแบบผสมผสานระหว่างการฉายแสงร่วมกับการใช้เคมีบำบัดเพื่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ดีขึ้น
- การผ่าตัด วิธีนี้จะไม่ค่อยใช้มากเนื่องจากตำแหน่งของโรคอยู่ใกล้กับอวัยวะที่สำคัญจึงเป็นการเสี่ยงเกินไป แต่ก็ใช้ในบางกรณี เช่น เนื้องอกอยู่ในระยะแรก ๆ ยังกระจายตัวไม่มาก และในกรณีที่สามารถควบคุมเซลล์มะเร็งหลังโพรงจมูกได้แล้ว แต่ยังคงมีก้อนที่คออยู่ หรือในเคสที่ผู้ป่วยมีมะเร็งเกิดซ้ำ
จากข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นว่าเราต้องหมั่นสำรวจตัวเองอยู่เสมอว่ามีอาการผิดปกติ หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งโพรงจมูกหรือไม่ เช่น สูบบุหรี่ ชอบกินอาหารหมักดอง หลังเลิกงานก็มักนัดกันที่ร้านบุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง รวมทั้งไม่ป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ควรเลี่ยงหรือหาหน้ากากมาสวมใส่ หรือใช้เครื่องฟอกอากาศในระยะนี้ แต่บางคนอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะต้องทำงานในสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ โรงงานที่มีฝุ่นไม้ ฝุ่นจากสิ่งทอ เหมืองแร่ งานที่ต้องสัมผัสหรือสูดดมสารเคมีต่างๆ ซึ่งผู้ปฏิบัติงานก็ต้องหาวิธีป้องกันตัวเองให้ได้มากที่สุด เช่น สวมหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานขณะทำงาน ที่สำคัญถ้าพบว่ามีอาการป่วยอย่าเพิกเฉยให้รีบไปพบแพทย์เพื่อที่จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ที่สำคัญ “มะเร็งโพรงจมูกเป็น 1 ใน 10 โรงมะเร็งที่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมในการรักษาได้อีกด้วย” ถ้าอยากอายุยืนยาวไร้โรคภัย อย่าลืมใส่ใจดูแลตัวเอง ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปีด้วยนะคะ
ขอขอบคุณข้อมูล:officemate.co.th