โรคปอด

แค่ฝุ่นจางๆและควัน ก็ทำให้เสี่ยง “โรคปอด” ได้นะ

Views

มลภาวะทางอากาศหลายอย่างเป็นสิ่งที่เราไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา คนส่วนใหญ่จึงละเลยที่จะปกป้องตัวเองจากอันตรายเหล่านี้ จนกระทั่งเกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและปอด หรืออาจเพราะมลภาวะทางอากาศหลายชนิดไม่มีกลิ่น จึงทำให้เราไม่ทันระวังและรับสารพิษเหล่านี้เข้าไปกับลมหายใจโดยไม่รู้ตัว

ไม่ใช่แค่ PM 2.5 ที่อันตรายกับทางเดินหายใจ

แม้ว่าร่างกายจะออกแบบมาให้จมูกคอยทำหน้าที่เป็นตัวกรองและดักจับเชื้อโรคที่ปะปนในอากาศที่เราหายใจ แต่ฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่าง PM 2.5 ก็ยังสามารถเล็ดลอดเข้าไปได้ถึงหลอดลมฝอยขนาดเล็ก และยิ่งหากมีขนาดเล็กกว่า 1 ไมโครเมตร ก็จะสามารถซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอด แต่ก็ไม่ใช่แค่ PM 2.5 เท่านั้นที่เราต้องระวัง เพราะในอากาศยังมีมลภาวะอื่นๆ ที่อันตรายไม่แพ้กัน อาทิ

  • ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง กระบวนการอุตสาหกรรม การบด การโม่ หรือการทําให้เป็นผงจากการก่อสร้าง เมื่อหายใจเข้าไปจะสามารถสะสมในระบบทางเดินหายใจ เป็น อันตรายต่อสุขภาพ
  • ก๊าซโอโซน (O3) ที่ทำให้ความสามารถในการทำงานของปอดลดลง เหนื่อยเร็ว โดยเฉพาะในเด็ก คนชรา และคนที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง
  • ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิง ก๊าซชนิดนี้จะเข้าไปจับกับเม็ดเลือด ทำให้การลำเลียงออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่างๆ ของร่างกายลดน้อยลง ส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการอ่อนเพลีย และหัวใจทำงานหนักขึ้น
  • ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) มีผลต่อระบบการมองเห็นและกระตุ้นให้เกิดอาการหอบหืด หรือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ
  • ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุตา ผิวหนัง และระบบทางเดินหายใจ หากได้รับเป็นเวลานานๆ จะทำให้เป็นโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังได้

ไม่สูบ แค่สูดควันหรืออยู่ใกล้…ก็เสี่ยง!

กว่า 90 % ของผู้ป่วยโรคปอดโดยเฉพาะมะเร็งปอดในปัจจุบันล้วนมีสาเหตุสำคัญมาจากการสูบบุหรี่ แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือกว่าร้อยละ 30 ของคนที่เป็นมะเร็งปอดคือคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่ได้รับควันบุหรี่จากคนใกล้ชิด และผู้ที่สูบบุหรี่ในที่สาธารณะทั่วไป เพราะในบุหรี่ 1 มวนมีสารพิษกว่า 60 ชนิดที่เป็นอันตรายกับร่างกาย และสารพิษเหล่านั้นยังสามารถตกค้างอยู่ในพื้นที่ที่เคยมีคนสูบบุหรี่ได้นานถึง 6 เดือน ไม่จะไม่มีควันแล้วก็ตาม ดังนั้นแม้จะไม่สูบหรี่ก็มีโอกาสเสี่ยงโรคถุงลมปอดโป่งพอง รวมถึงเป็นสาเหตุของอาการเหนื่อยหอบตลอดชีวิต เพราะร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมเนื้อปอดที่ถูกทำลายจากบุหรี่ได้

ไม่แสดงอาการฉับพลัน…แต่ก่อให้เกิดโรคร้ายแรง

สำหรับผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ โรคหอบหืด หรือโรคทางเดินหายใจ การสูดฝุ่นละอองที่เป็นพิษอาจจะแสดงผลในทันที แต่สำหรับบางคนที่สุขภาพร่างกายแข็งแรง การสูดฝุ่นละอองอาจไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงแบบเฉียบพลันทันที แต่จะไปสมสะอยู่ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ก่อให้เกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด โรคทางสมอง และโรคมะเร็งได้ในระยะยาว

ผิดปกติแบบนี้ พบแพทย์ทันที ก่อน “ปอด” พัง

โดยธรรมชาติแล้วปอดมักจะไม่แสดงอาการผิดปกติในระยะเริ่มต้น ทุกคนจึงควรหมั่นสังเกตตัวเอง หากมีอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด ไอรักษาไม่หาย หอบเหนื่อย แน่นเจ็บชายโครง เจ็บหน้าอก หายใจแล้วเจ็บ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด มีไข้ ควรรีบมาพบแพทย์ทันที เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ ปอดของเราอาจถูกโรคร้ายทำลาย จนไม่อาจฟื้นฟูกลับมาได้ดังเดิม “หมั่นตรวจสุขภาพปอดประจำปี ไม่ต้องมีอาการก็ตรวจได้”

ขอขอบคุณ:paolohospal.com

Leave a Reply