อาหาร กับ สุขภาพ

คะน้าเม็กซิโก คะน้าเม็กซิกัน สรรพคุณอนันต์ เป็นผักผงชูรส

Views

หลายคนอาจยังไม่รู้จักคะน้าเม็กซิโก หรือคะน้าเม็กซิกัน หรือที่เรียกกันว่าผักไชยา ที่เขาว่ากันว่าเป็นผักมีรสชาติคล้ายผงชูรส เหมาะกับคนที่ติดรสชาตินัว ๆ จนทำให้เสี่ยงต่อโรคไต อ๊ะ ! ผักจะมีรสชาติได้อย่างนั้นจริงหรือไม่ เราลองมาทำความรู้จักคะน้าเม็กซิโก พร้อมอ่านสรรพคุณของคะน้าเม็กซิกันไปด้วยกันเลย

คะน้าเม็กซิโก แวร์ดูยูโก

          คะน้าเม็กซิโก ภาษาอังกฤษคือ Tree spinach มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cnidoscolus chayamansa McVaugh เป็นพืชในวงศ์ EUPHORBIACEAE วงศ์เดียวกับมันสำปะหลัง ยางพารา ฝื่นต้น หนุมานนั่งแท่น สลัดได และสบู่ดำ ส่วนถิ่นกำเนิดของคะน้าเม็กซิโกคาดว่าเป็นผักท้องถิ่นในเขตร้อนของประเทศเม็กซิโก โดยน่าจะมีการแพร่กระจายสายพันธุ์อยู่ในกัวเตมาลา และอเมริกา แต่ปัจจุบันก็พบในประเทศไทยอยู่หลายพื้นที่ เพราะเป็นผักปลูกง่าย โตไว และยืนต้นนาน โดยในไทยเรียกคะน้าเม็กซิโกหลากหลายชื่อ ทั้งคะน้าเม็กซิโก คะน้าเม็กซิกัน ผักไชยา ผักชายา (Chaya ในภาษาสเปน) ต้นมะละกอกินใบ (เพราะใบคล้ายมะละกอมาก) หรือ ต้นผงชูรส เป็นต้น

คะน้าเม็กซิโก ลักษณะทางพฤกษศาสตร์เป็นยังไง

          ลักษณะคะน้าเม็กซิโกไม่ได้เหมือนคะน้าไปซะทีเดียว แต่มีลักษณะเป็นไม้พุ่ม ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ ความสูงของลำต้นประมาณ 2-6 เมตร เปลือกของลำต้นเป็นสีน้ำตาล ข้างในมีน้ำยางสีขาว ๆ ส่วนใบมีลักษณะคล้ายใบเมเปิล โดยขอบใบจะแยกออกเป็น 3-4 แฉก ดอกของคะน้าเม็กซิกันเป็นสีขาว ลักษณะดอกจะออกเป็นช่ออยู่ปลายกิ่ง และในแต่ละช่อจะประกอบไปด้วยดอกย่อยจำนวนมาก

คะน้าเม็กซิโก

คะน้าเม็กซิโก คุณค่าทางโภชนาการไม่ธรรมดา

          คะน้าเม็กซิกันเป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง โดยเป็นแหล่งที่ดีของโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุอีกหลายชนิดด้วยกัน โดยใบคะน้าเม็กซิโก 100 กรัม จะให้คุณค่าทางสารอาหาร ดังนี้

               – น้ำ 85.3%

               – คาร์โบไฮเดรต 4.2%

               – โปรตีน 5.7%

               – ไขมัน 0.4%

               – ใยอาหาร 1.9%

               – แคลเซียม 199.4 มิลลิกรัม

               – โพแทสเซียม 217.2 มิลลิกรัม

               – ฟอสฟอรัส 39 มิลลิกรัม

               – เหล็ก 11.4 มิลลิกรัม

               – วิตามินซี 164.7 มิลลิกรัม

               – วิตามินเอ 0.085 มิลลิกรัม

          นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า คะน้าเม็กซิโกเป็นผักที่ให้คุณค่าทางอาหารสูงกว่าผักใบเขียวอื่น ๆ ประมาณ 2-3 เท่า เลยทีเดียวค่ะ

คะน้าเม็กซิโก

คะน้าเม็กซิโก สรรพคุณโอ้โห…เด็ด !

          นอกจากคะน้าเม็กซิโกจะมีสารอาหารค่อนข้างสูง และเป็นผักที่มีรสชาติดีแล้ว คะน้าเม็กซิกันหรือผักไชยายังมีประโยชน์ ดังนี้

               – มีฤทธิ์ต้านจุลชีพหลายชนิด

               – มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ

               – มีสารต้านอนุมูลอิสระ

               – มีส่วนช่วยปกป้องหลอดเลือดและหัวใจของหนูทดลอง

               – มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของหนูทดลอง

               – ช่วยลดไขมันในเลือดของหนูทดลอง

               –  ในต่างประเทศ ใช้คะน้าเม็กซิโก เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ เพิ่มการไหลเวียนโลหิต ช่วยย่อยอาหาร

ข้อควรระวังในการกินคะน้าเม็กซิโก

          ย้ำกันอีกทีว่าผักไชยาหรือคะน้าเม็กซิโกมีสารอาหารมากกว่าผักใบเขียวถึง 2-3 เท่า ดังนั้นก็จัดว่าคะน้าเม็กซิโกเป็นผักที่น่ารับประทานเพื่อสุขภาพไม่น้อย แต่ทั้งนี้ไม่ควรกินผักไชยาหรือคะน้าเม็กซิกันแบบดิบ ๆ สด ๆ เพราะในใบสดมีสารกลูโคไซด์ซึ่งจะปลดปล่อยสารพิษจำพวกไซยาไนด์ออกมา ทว่าสารนี้จะถูกทำลายได้ง่าย ๆ ด้วยการทำให้ผักสุกก่อนรับประทาน ฉะนั้นก็ควรกินคะน้าเม็กซิโกแบบปรุงสุก

โดยใบอ่อนควรปรุงสุกด้วยความร้อนนาน 5 นาทีขึ้นไป ส่วนใบแก่ควรปรุงสุกด้วยความร้อนนาน 10-15 นาที ซึ่งถ้าหากนำใบคะน้าเม็กซิโกไปต้มเพื่อทำให้สุก ในน้ำต้มคะน้าเม็กซิโกก็จะมีสารอาหารอยู่มาก สามารถนำน้ำเหล่านั้นมาทำเป็นน้ำซุป หรือดื่มเป็นชาไชยาก็ได้

          นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำว่า ไม่ควรใช้ภาชนะอะลูมิเนียมในการต้มคะน้าเม็กซิโก เพราะอาจทำให้น้ำต้มเป็นพิษและก่อให้เกิดอาการท้องร่วงได้

คะน้าเม็กซิโก

คะน้าเม็กซิโก ทําอาหารอะไรกินดี

          รสชาติคะน้าเม็กซิโกจะคล้าย ๆ ผักคะน้า แต่มีรสชาติหวานกว่า กรอบกว่า และไม่เหม็นเขียว  ซึ่งเมนูคะน้าเม็กซิโกก็มีหลากหลายพอตัว ตามนี้เลย

               – คะน้าเม็กซิโกลวกจิ้มน้ำพริก

               – คะน้าเม็กซิโกผัดน้ำมันหอย

               – คะน้าเม็กซิโกไฟแดง

               – ผักไชยาดอง

นอกจากนี้ยังสามารถนำคะน้าเม็กซิโกมาปรุงอาหารได้เหมือนผักคะน้าเลยล่ะ ยังไงก็ลองไปหาคะน้าเม็กซิโกมารับประทานกันนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก
ไทยพีบีเอส
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สำนักข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล
mexconnect.compdf.usaid.gov

Leave a Reply