สุขภาพกายสุขภาพทั่วไปโควิด-19

“เด็กเล็ก” เสี่ยง “โควิด-19” มากแค่ไหน? ดูแลให้ห่างไกลไวรัสอย่างไร?

Views

สถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทย ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายๆ คนเกิดความวิตกกังวล ยิ่งในครอบครัวที่มีเด็ก ความกังวลของพ่อแม่ผู้ปกครองยิ่งมีมากขึ้น ถึงแม้รายงานการติดเชื้อ โควิด-19 ในเด็กมีไม่มากนัก แต่การเฝ้าระวังโรคทั้งตัวผู้ปกครอง หรือแม้แต่ตัวเด็ก ก็ต้องมีมาตรการที่เหมาะสมเพื่อป้องกันให้ห่างไกลจากไวรัสโควิด-19

“เด็กเล็ก” เสี่ยง “โควิด-19″ มากแค่ไหน?

นพ.พรเทพ สวนดอก กุมารแพทย์ สาขาโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19ในขณะนี้ จำนวนเด็กที่ติดเชื้อยังมีไม่มากนัก เป็นเพราะเด็กไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงหลัก เนื่องจากไม่ได้เดินทางหรือพบปะผู้คนมากเท่าผู้ใหญ่ จึงทำให้โอกาสติดเชื้อน้อยลง ตลอดจนเป็นช่วงปิดเทอมและการประกาศงดกิจกรรมที่มีคนหมู่มาก โดยส่วนใหญ่เด็กมักได้รับเชื้อมาจากผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิด หรือติดจากเพื่อนที่โรงเรียน

สิ่งที่สำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ในบ้าน ควรต้องรักษาสุขอนามัยของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่เอาเชื้อมาติดเด็กๆ  นอกจากโอกาสการติดเชื้อของเด็กมีน้อยกว่าผู้ใหญ่แล้ว ความรุนแรงและผลกระทบต่อสุขภาพก็น้อยกว่าเช่นกัน เพราะระบบทางเดินหายใจและระบบภูมิคุ้มกันของเด็กทั่วไปมักแข็งแรง มีการปรับตัวต่อการติดเชื้อไวรัสอยู่อย่างต่อเนื่อง ยกเว้นเด็กที่มีโรคประจำตัวหรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยอาการของโรคในเด็กคล้ายกับผู้ใหญ่ แต่มักไม่รุนแรงเท่า คือ มีอาการไข้สูง ไอ หายใจเร็วหรือปอดบวม ซึ่งคุณหมอใช้วิธีการรักษาตามอาการและเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อน


ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กมีโอกาสติดเชื้อ โควิด-19 

นอกเหนือจากการได้รับเชื้อมาจากผู้ใหญ่และคนในครอบครัวแล้ว การพาเด็กไปในที่สาธารณะ ชุมชน สถานที่ที่มีคนเยอะ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัย ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด หลีกเลี่ยงการพาไปพื้นที่ดังกล่าวโดยไม่จำเป็น หากเด็กมีอาการป่วย แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตอาการดังต่อไปนี้ ไข้สูง ไอ เหนื่อยหอบ ซึม ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที และที่สำคัญต้องแจ้งข้อมูลต่างๆ ให้กับทางโรงพยาบาลโดยละเอียด โดยเฉพาะประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมโรงเรียน

การป้องกันการติดโควิด-19 ที่สำคัญ

หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กสัมผัสสิ่งของต่างๆ โดยไม่จำเป็น รวมทั้งควรสอนเด็กๆ เรื่องสุขอนามัยส่วนบุคคล ไม่ใช้สิ่งของประจำตัวร่วมกับผู้อื่น กินอาหารปรุงสุก ไม่กินของสุกๆดิบๆ ใช้ช้อนกลาง และล้างมืออย่างถูกวิธีที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลสุขภาพของตัวเองอยู่เสมอ ทำความสะอาดที่อยู่อาศัยไม่ให้เป็นแหล่งรังโรค สังเกตอาการเจ็บป่วยของคนในบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้เอาเชื้อมาติดลูกได้ สำหรับเด็กที่มีโรคประจำตัว ควรควบคุมโรคเดิมให้ดี กินยาอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี เพื่อป้องกันปอดอักเสบ

อีกหนึ่งเกราะป้องกันลูกรักให้ห่างไกลจากไวรัส โควิด-19 คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจกับตัวโรคแก่เด็ก อย่างกระชับ เพื่อให้เข้าใจถึงสถานการณ์และการปฏิบัติตัวซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้กับเด็กๆ ได้ อาทิ

  1. บอกกับลูกว่า ตอนนี้มีเชื้อโรคตัวใหม่และรุนแรง ที่สามารถติดกันได้ง่ายจากการไอ จาม และการสัมผัสสิ่งของร่วมกันทุกคนต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น
  2. สอนให้ลูกล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ทุกครั้งอย่างถูกต้อง ก่อนและหลังทำกิจกรรมต่างๆ
  3. อธิบายให้ลูกเข้าใจว่า ควรหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้าหรือเอามือเข้าปาก เพราะทำให้ติดเชื้อโรคได้
  4. ต้องใส่หน้ากากอนามัยเสมอเมื่อไปนอกบ้านหรือที่มีคนเยอะ

ในสถานการณ์เช่นนี้ แนะนำว่าประชาชนทั่วไป ควรตระหนักกับโรคระบาด แต่ไม่ตระหนกกับโรคจนเกินไป มีความตื่นตัวในสถานการณ์ของโรค แต่ไม่ตื่นตูมหรือเสพข่าวสาร จนเกิดภาวะเครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ จนภูมิคุ้มกันของตัวเองลดลง ที่สำคัญ การเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ลดการออกไปนอกบ้านโดยไม่จำเป็น หลีกเลี่ยงการใช้ขนส่งสาธารณะ งดการเดินทางไปแหล่งชุมชนพยายามใช้การทำงานที่บ้าน เดินทางให้น้อยที่สุดทั้งในและนอกประเทศ เน้นเรื่องสุขอนามัยส่วนบุคคล หมั่นล้างมือ กินอาหารปรุงสุกใหม่ สวมหน้ากากอนามัย และคอยติดตามข่าวสารอยู่เสมอก็จะช่วยให้เราสามารถผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้ด้วยดี

ถึงแม้แนวโน้มการติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ในวัยเด็ก จะมีอัตราผู้ป่วยไม่มากเท่ากับช่วงวัยอื่นๆ แต่การป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด คุณพ่อคุณแม่หรือคนในบ้านต้องล้างมือและทำความสะอาดตัวเองทุกครั้งก่อนสัมผัสลูก เด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไปสามารถสวมใส่หน้ากากอนามัยได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่แนะนำในเด็กเล็กสวมใส่หน้ากากอนามัยโดยไม่มีผู้ปกครองดูแล เนื่องจากกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจยังไม่แข็งแรง อาจทำให้หายใจลำบากได้ ที่สำคัญ คนใกล้ชิดเด็กต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยด้วย การหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อสร้างภูมิต้านทาน หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น เพื่อให้ทั้งคุณพ่อคุณแม่และแก้วตาดวงใจของคุณ ห่างไกลจากโควิด-19

Leave a Reply