หากพูดถึง “ถั่งเช่า” หลายคนอาจนึกถึงสมุนไพรที่ดูออกจีนๆ และมีราคาแพงหูฉี่ชนิดที่เราๆ คนบ้านๆ อาจหาทานไม่ได้ จริงๆ แล้วก็เป็นอย่างที่ทุกคนเข้าใจแหละค่ะ ว่าถั่งเช่าเป็นสมุนไพรจีน เป็นเห็ดราชนิดหนึ่งที่ขึ้นในฤดูหนาว และเป็นปรสิตที่อาศัยอยู่ในตัวอ่อนของหนอนชนิดหนึ่ง เมื่อหนอนตายในฤดูร้อน เห็ดราก็จะงอกออกมาจากตัวหนอน ในส่วนของหัวหนอนนี่แหละ ที่เราเรียกว่า “ถั่งเช่า”
ถั่งเช่า ขึ้นชื่อว่าเป็นสมุนไพรจีนที่มีราคาสูงมาก ราคาขีดละเกือบ 10,000 บาท หรืออาจะแพงกว่านั้น ขึ้นอยู่กับคุณภาพของถั่งเช่า แต่ในปัจจุบันหากใครอยากบำรุงร่างกายด้วยราคาเบาๆ แต่ยังได้ประโยชน์จากถั่งเช่าอยู่บ้าง ก็มี “ดอกถั่งเช่า” ที่มาในลักษณะของดอกถั่งเช่าอบแห้ง ราคาจะถูกกว่ากันมาก วิธีทานแค่นำไปต้มรวมกับน้ำซุปในแกงจืด หรือตุ๋นกับเนื้อหมู เนื้อไก่ เหมือนเป็นสมุนไพรจีนอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง บางสูตรอาจใช้ชงดื่มเป็นชาได้ด้วย
10 ประโยชน์ดีๆ ที่คุณอาจไม่รู้ของ “ถั่งเช่า”
1. ต่อต้าน และยับยั้งการลุกลามของเซลล์มะเร็ง และเนื้องอก
2. ลดผลข้างเคียงในการรักษาโรคมะเร็งด้วยเคมีบำบัด
3. ลดระดับน้ำตาล และไขมันในเลือด
4. รักษาสมดุลของประสาท ฮอร์โมน และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
5. ฟื้นฟูระบบการทำงานของไตให้ดียิ่งขึ้น
6. เพิ่มสมรรถภาพทางเพศสำหรับผู้ชาย
7. เพิ่มการไหลเวียนของโลหิตให้ดียิ่งขึ้น
8. ลดความดันโลหิต
9. บำรุงโลหิต ลดการเกิดภาวะโลหิตจาง
10. ต้านอาการอักเสบในส่วนต่างๆ ของร่างกาย
เห็นสรรพคุณดีขนาดนี้ อย่าเพิ่งวิ่งไปหาซื้อมาทานโดยไม่ได้สำรวจร่างกายตัวเองก่อนนะคะ เพราะยังมีบางคนที่ไม่เหมาะกับการทานถั่งเช่าอยู่บ้าง เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยที่กำลังรับยากลุ่มป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด และผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เพราะถั่งเช่ามีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจเสริมกับฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะที่กำลังทานอยู่ จนให้ผลมากเกินไปกับร่างกาย จนเกิดเป็นอันตรายได้
จำง่ายๆ ว่า การใช้สมุนไพรในการรักษาอาการต่างๆ อาจไม่สามารถใช้ควบคู่ไปกับยาปฏิชีวนะที่เราอาจกำลังทานจากแพทย์อยู่ เพราะอาจเข้าไปเสริมฤทธิ์ในการรักษามากจนเกินไปนั่นเอง ทางที่ดีหากผู้ป่วยท่านไหนอยากทานยา ควบคู่ไปกับสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์ที่ให้การรักษาเราอย่างใกล้ชิดอีกครั้งค่ะ
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยรองศาสตราจารย์ ดร.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ และ ธิดารัตน์ จันทร์ดอน สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก istockphoto
ขอบคุณที่มา https://www.sanook.com/health/4585/