ชมรมเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดแห่งประเทศไทย ประกาศเตือนสถานพยาบาล ห้ามใส่ face shield และหน้ากากอนามัยให้เด็กทารกแรกเกิด เสี่ยงภาวะคาร์บอนไดออกไซด์คั่งได้
ในเด็กเล็กทารกแรกเกิดที่เพิ่งคลอดในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลว่าลูกน้อยจะเสี่ยงติดเชื้อไวรัสหรือไม่ เมื่อมีความจำเป็นต้องพาลูกน้อยออกมาข้างนอกบ้าน หรือโรงพยาบาล จึงอาจอยากป้องกันไวรัสให้ลูกด้วยการสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากคลุมหน้า หรือ Face Shield ให้
อย่างไรก็ตาม การสวมหน้ากากให้เด็กทารกแรกเกิด เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็กมากกว่าจะช่วยป้องกันไวรัส
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในการใส่หน้ากากคลุมหน้า หรือหน้ากากอนามัย
ชมรมเวชศาสตร์ทารกแรกเกิดแห่งประเทศไทย ประกาศเตือนว่า การสวมหน้ากากให้เด็กทารกแรกเกิด เป็นอันตรายต่อสุขภาพของเด็ก ดังนี้
- ทารกแรกเกิดหายใจทางจมูกเป็นหลัก ยังไม่มีความสามารถในการหายใจชดเชยด้วยการอ้าปากหายใจได้เมื่อมีการขาดอากาศ หรือ ออกซิเจน ดังนั้นวัสดุต่างๆ ที่นำมาผลิตเป็นหน้ากาก หากมีคุณสมบัติในการต้านต่อการไหลของอากาศเข้า-ออกสูงเกินไป อาจทำให้ทารกหายใจได้ไม่เพียงพอ และมีโอกาสเกิดการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ เกิดอันตรายต่อระบบประสาทของทารก
- วัสดุพลาสติกที่ใช้บังหน้าทารก อาจมีความคมบาดใบหน้า และดวงตาของทารกได้
ความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 จากผู้ใหญ่สู่เด็กทารก
อ้างอิงจากมาตรฐานสากลทั้งองค์การอนามัยโลก และศูนย์ควบคุม และป้องกันโรคติดต่อของสหรัฐฯ ช่องทางการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ไปสู่ทารกแรกเกิดที่สำคัญที่สุด คือ การกระจายเชื้อไวรัสจากผู้เลี้ยงดูทารก ได้แก่ คุณพ่อคุณแม่ ญาติ พี่เลี้ยงเด็ก ผ่านทางละอองฝอยจากการไอ จาม การสัมผัสจากมือผู้เลี้ยงดู หรืออุปกรณ์ สิ่งของที่มาสัมผัสทารก
การป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสสู่ทารกที่ดีที่สุด
- ล้างมือของตัวเองให้สะอาด ตามสุขอนามัยก่อนสัมผัสทารก และผู้เลี้ยงดูสามารถใส่หน้ากากอนามัยได้ หากไม่แน่ใจในอาการของตัวเอง
- ผู้ที่มีอาการไม่สบาย โดยเฉพาะมีอาการทางระบบหายใจ งดเข้าใกล้ทารก
- งดการนำทารกแรกเกิดออกนอกบ้าน ยกเว้นการพาไปฉีดวัคซีนตามกำหนด หรือไปพบแพทย์เมื่อมีอาการไม่สบาย
- หากจำเป็นต้องพาทารกไปอยู่ในที่ชุมชน ควรปฏิบัติตามนโยบายของ Physical Distancing (เว้นระยะห่างทางร่างกายจากผู้อื่นในระยะ 2 เมตร) อย่างเคร่งครัด
- งดการเยี่ยมทารกจากบุคคลภายนอก ทั้งที่โรงพยาบาล และที่บ้าน ควรใช้โซเชียลมีเดีย วิดีโอคอล แสดงความยินดีต่อครอบครัวแทน