คณะกรรมการรางวัลโนเบลมอบรางวัลสาขาแพทย์ให้ 2 นักวิจัยสหรัฐฯ และอเมริกาจากผลงานบุกเบิกบำบัดมะเร็งด้วยการพุ่งเป้าไปที่ภูมิคุ้มกันของร่างกาย แทนการโจมตีเซลล์มะเร็งอย่างเดียว
สมัชชาโนเบลที่สถาบันแคโรลินสกา (The Nobel Assembly at Karolinska Institutet) ประกาศผลรางวัลโนเบล สาขาสรีรศาสตร์และการแพทย์ ประจำปี 2018 เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2018 ให้แก่
เจมส์ พี อัลลิสัน (James P. Allison) จากศูนย์มะเร็งเอ็มดีแอนเดอร์สันมหาวิทยาลัยเท็กซัส (University of Texas MD Anderson Cancer Center) สหรัฐฯ และ ทาสุกุ ฮอนโจ (Tasuku Honjo) จากมหาวิทยาลัยเกียวโต (University of Kyoto) ญี่ปุ่น
สำหรับ “การค้นพบวิธีบัดมะเร็งโดยการยับยั้งการควบคุมภูมิคุ้มกันเชิงลบ” ซึ่งเป็นงานที่ช่วยหาวิธีปลดปล่อยการหยุดระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อให้โจมตีเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
งานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ทั้งสอง ต่างจากการรักษามะเร็งแบบดั้งเดิม ซึ่งมุ่งกำจัดเซลล์มะเร็งโดยตรงและมักส่งผลข้างเคียงที่ร้ายแรง แต่อัลลิสันและฮอนโจพยายามหาวิธีที่จะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเองได้จัดการกับเซลล์มะเร็งอย่างทันท่วงที
การค้นพบของอัลลิสันและฮอนโจนั้นนำไปสู่การบำบัดที่พุ่งเป้าไปที่โปรตีนซึ่งผลิตขึ้นโดยเซลล์ภูมิคุ้มกัน ที่ทำหน้าที่ “หยุด” กลไกตามธรรมชาติที่ฆ่าเซลล์มะเร็ง
คณะกรรมการรางวัลโนเบลในสต็อคโฮล์มระบุว่า การบำบัดดังกล่าวได้ปฏิวัติการรักษามะเร็งในปัจจุบัน และได้เปลี่ยนมุมมองของเราในระดับพื้นฐานว่า เราสามารถจัดการมะเร็งได้อย่างไร
เมื่อปี 1995 อัลลิสันเป็น 1 ในสองนักวิทยาศาสตร์ที่จำแนกโมเลกุล CTLA-4 ว่าเป็น “ตัวรับยับยั้ง” (inhibitory receptor) บนเซลล์ที (T-cells) ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่มีบทบาทหลักในการระบบภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติของร่างกายในการป้องกันโรค
คณะกรรมการรางวัลโนเบลยังอธิบายถึงงานวิจัยอัลลิสันซึ่งปัจจุบันอายุ 70 ปีแล้วว่า สร้างความตระหนักถึงศักยภาพของการปลดปล่อย “ตัวหยุด” และปล่อยให้เซลล์ภูมิคุ้มกันในร่างกายของเรานั้นโจมตีเนื้อร้าย
ในช่วงเวลาที่ฮัลลิสันค้นพบดังกล่าวนั้น ทางด้านฮอนโจก็ได้ค้นพบโปรตีนบนเซลล์ภูมิคุ้มกันที่ชื่อ ลิแกนด์ PD-1 (ligand PD-1) และท้ายสุดได้ค้นพบว่าโปรตีนดังกล่าวทำงานเป็น “ตัวหยุด” ได้เช่นกัน แต่ทำงานในอีกวิธีที่แตกต่างกัน
อัลลิสันกล่าวว่า เขาไม่เคยฝันว่างานวิจัยของเขาจะมาถึงขั้นนี้เลย ยอเยี่ยมมาก เป็นเกียรติอันน่าตื้นตันเป็นพิเศษที่ได้พบผู้ปวยมะเร็ง ซึ่งได้รับการรักษาจนหายขาด ด้วยการปิดกั้นจุดตรวจสอบของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งผู้ป่วยเหล่านั้นเป็นข้อพิสูจน์ที่มีลมหายใจ ถึงพลังของวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ซึ่งตามมาด้วยการเรียนรู้และได้เข้าใจระบบต่างๆ นี้ทำงานอย่างไร
ส่วนฮอนโจในวัย 76 ปีก็ปฏิญาณตนที่จะเดินหน้างานวิจัยของเขาต่อไป เพื่อให้การบำบัดด้วยภูมิคุ้มกันนี้ได้ช่วยชีวิตผู้ป่วยมะเร็งเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม
คณะกรรมการรางวัลโนเบลบอกอีกว่า เป็นเวลามากกว่า 100 ปี ที่นักวิทยาศาสตร์พยายามจะดึงระบบภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้กับมะเร็ง จนกระทั่งมาถึงการค้นพบต้นแบบโดยนักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติทั้งสอง กระบวนการสู่การพัฒนาในระดับคลีนิคก็เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง
แอนตีบอดี (Antibodies) หรือภูมิต้านทานของร่างกาย ที่ยับยั้งเซลล์ภูมิคุ้มกัน PD-1 นั้น ได้รับการรับรองโดยองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (US Food and Drug Administration) ว่า เป็นยาตัวใหม่ที่อยู่ระหว่างการศึกษาหาข้อพิสูจน์ และได้พัฒนาขึ้นเพื่อบำบัดรักษามะเร็ง
ทีมวิจัยของอัลลิสันได้นำไปสู่การพัฒนายาโมโนโคลนอลแอนติบอดี ซึ่งได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาสรัฐฯ (FDA) เมื่อปี 2011 เพื่อบำบัดมะเร็งผิวหนัง ซึ่งมีชื่อทางการค้าที่รูจักกันทั่วไปว่า “เยอร์วอย” (Yervoy)
คณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์และการแพทย์นี้ ยังเคยมอบรางวัลให้แก่ผลงานวิจัยด้านการบำบัดรักษามะเร็งอื่นๆ อีก เช่น การบำบัดรักษามะเร็งปากมดลูกด้วยการใช้ฮอร์โมนเมื่อปี 1966 การบำบัดมะเร็งด้วยยาเคมีเมื่อปี 1988 และการปลูกถ่ายไขกระดูกสำหรับรักษาลูคีเมียหรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว เมื่อปี 1990
คณะกรรมการระบุอีกว่า ยังมีมะเร็งที่ยากต่อการรักษา และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยยุทธศาสตร์ในการบำบัดรักษาแบบใหม่ๆ
นักวิทยาศาสตร์ทั้งสองที่ได้รับรางวัลโนเบลปีล่าสุด จะแบ่งเงินรางวัล 870,000 euros ยูโรกันคนละครึ่ง และจะได้พระราชทานเหรียญรางรางวัลจากกษัตริย์ คาร์ล กุสตาฟ (King Carl XVI Gustaf) ที่ 16 ของสวีเดน ภายในงานฉลองอย่างเป็นทางการที่กรุงสตอคโฮล์มในวันที่ 10 ธ.ค.นี้ ซึ่งตรงกับวันเสียชีวิตของ อัลเฟร็ด โนเบล (Alfred Nobel) ผู้ตั้งรางวัลนี้ และได้เสียชีวิตตรงกับวันดังกล่าวเมื่อปี 1896
ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2014 อัลลิสันและฮอนโจได้ร่วมรับรางวัล “ตังไพรซ์” (ang Prize) ซึ่งยกย่องกันว่าเป็นรางวัลโนเบลของเอเชีย จากผลงานวิจัยของทั้งสองเช่นเดียวกันนี้
ส่วนรางวัลโนเบลสาขาอื่นๆ นั้น สาขาฟิสิกส์จะประกาศผลในวันที่ 2 ต.คซึ่งตรงกับวันอังคาร ตามมาด้วยรางวัลสาขาเคมีที่จะประกาศผลในวันพุธที่ 3 ต.ค. จากนั้นในวันศุกร์ที่ 5 ต.ค.จะประกาผลรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และปิดท้ายด้วยรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ที่จะประกาศในวันจันทร์ที่ 8 ต.ค.
อย่างไรก็ตามปีนี้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมจะเลื่อนจะถูกเลื่อนออกไป ตามแรงกระเพื่อมตามกระแส #MeToo เนื่องจาก ฌ็อง-โคลด อาร์โนล (Jean-Claude Arnault) ชาวฝรั่งเศสวัย 72 ปีที่ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 2 ปี จากคดีข่มขืน โดยเขาได้แต่งงานกับสมาชิกราชบัณฑิตสภาสวีเดน (Swedish Academy ) ที่มีอำนาจในการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม และสโมสรของอาร์โนลยังได้รับทุนอุดหนุนจากราชบัณฑิตสภาด้วย
mgronline
เผยแพร่: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ข้อมูลเพิ่มเติม : https://m.mgronline.com/science/detail/9610000098228