หากพูดถึงโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือ SLE (Systemic Lupus Erythematosus) หลายคนคงพอจะทราบว่าคือโรคภูมิแพ้ตัวเอง นั่นคือภูมิต้านทานของตัวเองทำลายเนื้อเยื่อจนเกิดการอักเสบเรื้อรัง พบมากในคนอายุน้อยผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งหนึ่งในวิธีการรักษาคือการทานยาสเตียรอยด์เพื่อควบคุมการอักเสบของโรค อาจส่งผลให้ข้อสะโพกเสื่อมก่อนวัยอันควรได้
ข้อสะโพกเสื่อมกับ SLE
เนื่องจากโรค SLE เป็นโรคเรื้อรังที่ส่งผลต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย โดยจะปรากฏอาการในผู้ป่วยแตกต่างกัน อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ปวดตามข้อและกล้ามเนื้อ ซึ่งหากมีอาการทางข้อและกล้ามเนื้อจะพบได้ที่ข้อมือ ข้อนิ้วมือ ข้อเข่า ข้อเท้า และข้อสะโพก ร่วมกับอาการบวม แดง ร้อนเป็นครั้งคราว
ดังนั้นเมื่อต้องรักษาโรค SLE ด้วยการทานยาสเตียรอยด์ไม่ว่าจะปริมาณมากหรือน้อย ล้วนมีความเสี่ยงที่จะส่งผลให้หัวกระดูกสะโพกขาดเลือดมาเลี้ยง (Avascular Necrosis) ทำให้หัวกระดูกสะโพกยุบตัว เนื่องจากข้อสะโพกเป็นข้อใหญ่ในร่างกาย เมื่อเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดีและกระดูกหัวสะโพกตายในที่สุด เพราะฉะนั้นโรค SLE อาจไม่ได้ทำให้ข้อสะโพกเสื่อมโดยตรง แต่การทานยาสเตียรอยด์เพื่อรักษาโรคส่งผลให้ข้อสะโพกเสื่อมได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย สภาวะเลือด สภาวะเส้นเลือดของแต่ละบุคคล
อาการบอกข้อสะโพกเสื่อม
อาการข้อสะโพกเสื่อมจากโรค SLE ขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่พบ ได้แก่
- ระดับที่ 1 เจ็บข้อสะโพกเพียงเล็กน้อย ปวดเสียวบริเวณขาหนีบ เวลาขยับงอข้อสะโพก เดินได้ปกติ
- ระดับที่ 2 เจ็บปวดข้อสะโพกทุกครั้งที่เคลื่อนไหว เสียวแปลบ เดินได้ปกติ
- ระดับที่ 3 หัวกระดูกสะโพกยุบตัว เดินลำบาก ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน ข้อไม่เรียบ ปวดมากจนนอนไม่หลับ
- ระดับที่ 4 เบ้าข้อสะโพก กระดูกที่เว้าเข้าไปในกระดูกเชิงกรานเกิดความเสียหาย เจ็บข้อสะโพกมาก เดินไม่ได้
รักษาข้อสะโพกเสื่อม
การรักษาข้อสะโพกเสื่อมจากโรค SLE สามารถทำได้โดย
- รักษาแบบไม่ผ่าตัด จะใช้ในการรักษาข้อสะโพกเสื่อมในระยะแรก โดยให้ผู้ป่วยทานยาเพื่อลดอาการปวด
- รักษาด้วยการผ่าตัด จะใช้ในผู้ที่มีข้อสะโพกเสื่อมที่มีอาการปวดมากหรือผิดรูป เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประกอบไปด้วย
- การผ่าตัดเจาะหัวกระดูกสะโพก (Core Decompression) เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงหัวกระดูกสะโพกเพิ่มขึ้น
- ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมด้วยเทคนิคใหม่แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ ซ่อนแผลผ่าตัดบริเวณขาหนีบ ด้วยเทคนิคผ่าตัดทางด้านหน้าและไม่มีการตัดกล้ามเนื้อใดๆ เจ็บปวดน้อย ฟื้นตัวเร็ว เคลื่อนไหวสะดวก อยู่โรงพยาบาล 2-4 วันก็กลับบ้านไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น ซึ่งสามารถผ่าตัดทั้งสองข้างพร้อมกันได้ ข้อดีคือขาจะสมดุลเท่ากันในการผ่าตัดครั้งเดียว ไม่ต้องรอเพื่อเว้นช่วงในการผ่าตัดแบบทีละข้าง
( อ่านเพิ่มเติม : http://bdms1devtwo.prod.acquia-sites.com/th/node/1451 )
ยาสเตียรอยด์กับข้อสะโพกเสื่อม
โรคที่จำเป็นต้องทานยาสเตียรอยด์เพื่อทำการรักษา ได้แก่ โรค SLE หูดับเฉียบพลัน หอบหืด เส้นประสาทสมองอักเสบ โรคไต โดยแพทย์จะกำหนดปริมาณในการทานให้เหมาะกับอาการและความรุนแรงของโรค ซึ่งหลายคนมักคิดว่าการทานยาสเตียรอยด์ปริมาณมากส่งผลให้ข้อสะโพกเสื่อมขณะอายุยังน้อย แต่ความจริงแล้วปริมาณและระยะเวลาในการทานยาสเตียรอยด์อาจไม่ได้เป็นตัวกำหนดข้อสะโพกเสื่อมในคนอายุยังน้อย แต่ขึ้นอยู่กับร่างกายแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ
บคุณข้อมูล https://www.bangkokhospital.com