สุขภาพทั่วไปโควิด-19

สกู๊ปหน้า 1 : ชีวิตแนวหน้านักรบโควิด หน้าที่ยืนบนความเสี่ยง

Views

ในภาวะที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็ว ทั้งยังไม่มีวัคซีน และยารักษาชัดเจน ส่งผลให้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ กลับมาพุ่งทะยานเพิ่มขึ้นแตะหลักร้อยรายวัน ซึ่งเป็นกลุ่มกลับจากต่างประเทศ แม้มีใบรับรองแพทย์ยืนยันจากต้นทาง…เมื่อมาถึงไทย มีการตรวจซ้ำก็ยังเจอเชื้อไวรัสนี้…

ทำให้ “ผู้ป่วย” หลั่งไหลมุ่งเข้าสู่โรงพยาบาลกันอย่างท่วมท้น จนแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข ทำหน้าที่เปรียบเสมือน “นักรบแนวหน้า” ที่มีความเสี่ยงทุกเสี้ยววินาที ในการติดเชื้อจากการตรวจผู้ป่วย

ท่ามกลางการขาดแคลนอุปกรณ์และเครื่องมือในการป้องกัน แต่ทุกคนก็ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการรักษาเฝ้าระวัง ควบคุมการระบาดของโรค ให้กระทบคนไทยให้น้อยที่สุด เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้

แต่นับเป็นเรื่องน่าเศร้า…เมื่อมี “บุคลากรทางการแพทย์” ติดเชื้อจากการตรวจผู้ป่วยโควิด-19 ตามรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึง 8 เม.ย.2563 พบบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 80 ราย 3.4% ของผู้ป่วยทั้งหมด

แหล่งติดเชื้อคือ โรงพยาบาล 50 ราย หรือ 62.5% ผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน แผนกฉุกเฉิน ทันตกรรม ห้องปฏิบัติการ พนักงานสนับสนุนติดเชื้อชุมชน 18 ราย หรือ 22.5% รอสอบสวนโรค 12 ราย หรือ 15%

แบ่งสายวิชาชีพ…พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล 36 ราย แพทย์ 16 ราย เภสัชกร ผู้ช่วยเภสัชกร 2 ราย ทันตแพทย์ ผู้ช่วยฯ เจ้าหน้าที่งานทันตะ 2 ราย เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ 1 ราย อื่นๆ 10 ราย ไม่ระบุ 13 ราย

ซ้ำร้าย…มีการสูญเสียบุคลากรสาธารณสุข จำนวน 3 คน คือ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ รพ.ลำพูน และ อสม.จ.พิษณุโลก แม้ว่าไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ โควิด-19 ส่วนหนึ่งเพราะทำงานหนักในการดูแล และติดตามผู้ป่วยติดเชื้อ ทำให้พักผ่อนน้อย ประกอบกับมีโรคประจำตัว ส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตครั้งนี้

สาเหตุผู้มาใช้บริการ “ไม่แจ้งอาการ” จนเกิดกระจายเชื้อสู่บุคลากรทางการแพทย์ หรือคนอื่น ทำให้เกิดผลกระทบต่อบริการคนอื่น “ทีมสกู๊ปหน้า 1” ติดตามภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์ สถาบันบําราศนราดูร

ในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสพูดคุยกับ นพ. วีรวัฒน์ มโนสุทธิ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ และนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สถาบันบำราศนราดูร ที่ทำงานหนักเพื่อรักษาผู้ป่วยนี้ เล่าว่า…

แม้ว่าการระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย ยังไม่รุนแรงเท่าหลายประเทศ แต่บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนต่างทำงานอย่างเต็มความสามารถ เพื่อดูแลผู้ป่วยให้ได้กลับบ้านไปอยู่กับครอบครัวอย่างปลอดภัย

ซึ่งการปฏิบัติ…“บุคลากรทางการแพทย์” ต้องผ่านการอบรมซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะด้วยจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้ต้องดึงแพทย์ พยาบาลจากแผนกอื่นเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยครั้งนี้ ในบางคนอาจไม่ยังคุ้นเคยกับการทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส จำเป็นต้องมีการอบรมก่อนอยู่ตลอด…

ส่วนการดูแล “ผู้ป่วยติดเชื้อ” จำเป็นต้องใส่ “ชุดพีพีอี” เพื่อป้องกันติดเชื้อ ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก คือชุดกาวน์รัดคลุมศีรษะ หน้ากาก N95 แว่นตาหรือแว่นครอบตา ถุงมือ กระบังป้องกันหน้า กรณีที่ต้องรักษาผู้ป่วยในการใช้เครื่องมือ และอุปกรณ์ต่างๆ เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย เช่น เจาะเลือด ทำแผล ให้น้ำเกลือ ฉีดยา

เมื่อปฏิบัติงานเสร็จก็ถอดชุดป้องกันในห้องแยกจากบุคลากรทั่วไป ที่ต้องทำตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด ก่อนกลับบ้านต้องอาบน้ำ สระผม ทำความสะอาดร่างกาย และเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ด้วย

สิ่งสำคัญ…“บุคลากร” อาจทำงานหนักมาก เพราะต้องขึ้นเวรบ่อยกว่าเดิม ในการดูแลผู้ป่วยก็ใช้เวลาเพิ่มขึ้นกว่าปกติ ส่งผลให้อยู่ในโรงพยาบาลเป็นหลักมากกว่าอยู่กับครอบครัว ทำให้มีเวลาพักผ่อนลดน้อยลง แต่ต้นสังกัดก็พยายามจัดแพทย์ พยาบาล หมุนเวียนเข้ามาช่วยเหลือกันอยู่ ที่ยังรองรับคนไข้เพิ่มขึ้นได้ในระดับหนึ่ง…

“ยอมรับว่า…“แพทย์ พยาบาล” ต่างทำงานปฏิบัติหน้าที่หนักขึ้น และโหลดกว่าสภาวะปกติที่ไม่มีโรคระบาด และทุกคนก็ต้องปรับตัวให้สามารถปฏิบัติหน้าที่หนักขึ้นนี้ให้ได้ ที่อาจต้องเสียสละเวลา ละทิ้งชีวิตส่วนตัวบ้าง เพื่อทำงานแข่งกับเวลาดูแลรักษาผู้ป่วยให้มีชีวิตรอด” นพ.วีรวัฒน์ว่า

ในฐานะ “แพทย์” ผู้มีหน้าที่หลัก…คือ การรักษาอย่างเต็มที่ เพื่อคนไข้ทุกคนดีขึ้น โดยเฉพาะคนมีอาการหนัก ที่มีทั้งแพทย์ พยาบาล ช่วยกันดูแลแบบที่ไม่เคยรู้สึกว่า…“ตัวเองเหนื่อย หรือกลัวติดเชื้อ” แต่ยังคงทำหน้าที่กันสุดความสามารถ เช่น บางครั้งต้องช่วยกันอุ้มคนไข้ไม่รู้สึกตัวใส่ท่อช่วยหายใจ ก็ต้องช่วยกันทำ…

ด้านส่วนตัว…ยังใช้ชีวิตปกติ เมื่อเลิกงานกลับบ้านก็อุ้มลูกเช่นเดิม เพราะประเมินการทำงานมีการป้องกันตัวตามมาตรฐาน ยกเว้นคนปฏิบัติหน้าที่ไม่ป้องกันเป็นไปตามมาตรฐาน ก็ต้องแยกตัวจากครอบครัว 14 วัน

อีกทั้งไม่ค่อยออกไปไหน…มาไหน ยึดหลัก…เว้นระยะห่างทางสังคม…“อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ที่มีไปอยู่ 2 แห่ง คือ บ้านและโรงพยาบาล ถ้าอยากกินอาหารก็สั่งดิลิเวอรีจากร้านใกล้บ้านแทน

ทว่า…สถานการณ์ระบาดโควิด-19 แบบนี้ ที่ต้องดูแลคนไข้อาการหนักมากขึ้น ในบางครั้งครอบครัว คนใกล้ชิด ก็มีความเป็นห่วงเรื่องสุขภาพ เพราะมีเวลาพักผ่อนน้อย ส่วนความกังวลติดเชื้อนั้น เรื่องนี้ไม่ได้กังวล เพราะต่างรู้ดีว่า ตนเองมีการป้องกันถูกหลัก แต่ก็มีคนให้กำลังใจมาตลอด บางคนซื้อสิ่งของมามอบให้กันมากมาย

แต่ขอบอกอย่างนี้ว่า…“แพทย์ด้านโรคติดเชื้อ” ย่อมมีความรู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อ การป้องกัน และควบคุมการติดเชื้อที่มีคุณภาพที่ดีสุด เมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้นเช่นนี้ ก็ต้องเป็นหน้าที่ “แพทย์ด้านโรคติดเชื้อ” ที่เป็นผู้ปฏิบัติการพยาบาล การดูแลคนไข้ติดเชื้อให้หายเป็นปกติ ที่ต้องป้องกันควบคุมการติดเชื้อด้วย

ฉะนั้น…“แพทย์โรคติดเชื้อ” คือ…ผู้ที่เข้าใจในสถานการณ์โรคระบาด ดีที่สุด ดังนั้น เรื่องความกังวล หรือความกลัวที่จะติดเชื้อต่อตัวเอง และนำไปกระจายสู่คนในครอบครัว ก็จะน้อยลงตามมาด้วย…

หนำซ้ำ…หากเป็น “คนไม่รู้จริง” หรือ “รู้เรื่องโรคติดเชื้อน้อย” มักเกิดความกังวลสูงเป็นเรื่องปกติ นั่นหมายความว่า…ถ้าเรารู้หลักความกังวล หรือความกลัวแล้ว ประกอบกับมีความรู้ด้านโรคติดเชื้อที่แท้จริง ด้วยการยึดหลักปฏิบัติที่ได้มาตรฐานในการดูแลผู้ป่วยอย่างถูกต้อง จะทำให้คลายความกังวลให้ลดน้อยหายไปด้วย…

ทางกลับกัน…หากมีความรู้ไม่จริง…รู้แบบงูๆปลาๆ ในใครบางคนมีความรู้ในเรื่องบางเรื่องแบบไม่รู้จริง ไม่มีความรู้อย่างลึกซึ้ง สิ่งนี้เป็นเรื่องที่ “น่ากลัว” เพราะอาจปฏิบัติตัวอย่างไม่ถูกต้อง กลายเป็น “ตัวกลาง” การแพร่ระบาดของเชื้อโรคต่อกันได้เช่นกัน…

ประเด็นประชาชน “รู้สึกกังวล” แพทย์ที่รักษาคนติดเชื้อจะนำเชื้อออกไป จนรถรับจ้างสาธารณะไม่กล้ารับ ทำให้ต้องเปลี่ยนชุดลำลอง เรื่องนี้เข้าใจคลาดเคลื่อน…ที่ไม่ถูกต้อง เพราะบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานดูแลคนไข้ ต้องใส่ชุดอุปกรณ์ป้องกันมาตรฐานสูงสุด ดังนั้นไม่ต้องกลัวว่า…จะเป็น “ตัวกลาง” ในการกระจายเชื้อได้

ตรงข้าม…“ผู้โดยสาร หรือบุคคลทั่วไป” ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยป้องกัน อาจเป็นคนมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนอื่นมากกว่าด้วยซ้ำ…

อนาคต…มีความรู้สึกเป็นห่วงการระบาดระยะต่อไป จากสาเหตุธรรมชาติของโรคระบาดระยะหนึ่ง ก็มีการระบาดเพิ่มมากขึ้น แต่การระบาดมากขึ้นนี้ จะต้องทำให้ไม่รุนแรง เพื่อเป็นการบรรเทา ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกันในการปฏิบัติตัวต่อการรับผิดชอบต่อสังคม เช่น ไม่อยู่ร่วมกัน หากไม่สบายก็แยกตัว 14 วัน เป็นต้น

ซึ่งอาจลดผู้ติดเชื้อ 30% เมื่อนำมาบวก “มาตรการภาครัฐ” ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาจลดผู้ติดเชื้อ 60% เมื่อนำ 2 มาตรการนี้รวมกันก็ลดผู้ป่วย 90% จะหวังมาตรการภาครัฐฝ่ายเดียวคงไม่ได้ผลเท่าที่ควร

ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกัน เพราะการระบาดของโรคยังคงต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่งหลายเดือน ฉะนั้นบุคลากรทางการแพทย์ก็ต้องมีภาระงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ 2-3 เดือนข้างหน้านี้ ต้องรักษาสุขภาพป้องกันตัวเองเป็นอย่างดี เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่า…ในการดูแลรักษาคนไข้ให้ได้เต็มสุดความสามารถแก่ผู้ป่วยทุกคน…

ประชาชนก็ต้องแจ้งรายละเอียด ประวัติเสี่ยงสัมผัสโรค “อย่าปิดบังข้อมูล” เพื่อความถูกต้องของการวินิจฉัยโรคได้ผลดีและรักษารวดเร็ว

เรื่องราว “ชีวิต” จากผู้ปฏิบัติงาน “แนวหน้า” เสียสละต่อสู้กับโรค โควิด-19…แต่การต่อสู้นี้ยังอีกไกล และทุกคนร่วมสู้ไปด้วยกันได้ เพียงแค่ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เราก็ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน…

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สกู๊ปหน้า 1

Leave a Reply