ความหมาย
โรคพุ่มพวง หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus) เป็นโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกายมีความผิดปกติ โดยภูมิคุ้มกันจะต่อต้านและทำลายเนื้อเยื่ออวัยวะต่าง ๆ จนเกิดเป็นอาการอักเสบเรื้อรัง ทำให้มีอาการป่วยรู้สึกเหนื่อยล้า มีผื่นแดงตามใบหน้า ตาแห้ง ตัวบวม ขาบวม ปวดหัว ปวดบวมตามข้อต่อกระดูก ผมร่วง เป็นต้น
ส่วนสาเหตุที่คนไทยเรียกโรคนี้ว่า โรคพุ่มพวง เนื่องจากเป็นโรคที่ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ศิลปินนักร้องที่มีชื่อเสียงของไทยได้ป่วยและเสียชีวิตลงด้วยโรคนี้ (Systemic Lupus Erythematosus: SLE) โรคแพ้ภูมิตัวเองจึงเป็นที่รู้จักและถูกเรียกต่อกันมาว่า โรคพุ่มพวง
โรคแพ้ภูมิตัวเอง มีหลายชนิด เช่น
- SLE: โรคแพ้ภูมิตนเองชนิดที่มักพบบ่อย และเป็นชนิดที่คุณพุ่มพวงป่วยและเสียชีวิต ภูมิคุ้มกันจะทำลายเนื้อเยื่ออวัยวะที่สมบูรณ์ ทำให้เกิดอาการและความเจ็บป่วย เช่น ผื่นแดงทางผิวหนัง ข้ออักเสบ สมองและระบบประสาทได้รับความเสียหาย อาจเกิดอาการทางประสาทอย่างเห็นภาพหลอนร่วมด้วย รวมถึงข้อต่อ ไต และอวัยวะอื่น ๆ
- Neonatal Lupus: โรคแพ้ภูมิในทารกแรกเกิด
- Drug-induced Lupus: โรคแพ้ภูมิจากยา อาการแพ้เกิดจากการใช้ยาบางกลุ่มและจะหายเมื่อหยุดใช้ยานั้น
- Discoid Lupus Erythematosus: โรคที่มีผื่นแดงขึ้นที่ใบหน้าและสร้างรอยแผลเป็นหลังผื่นหาย
- Subacute Cutaneous Lupus Erythematosus: โรคผื่นกึ่งเฉียบพลัน โดยผิวหนังบริเวณที่สัมผัสกับแสงแดดจะเป็นผื่น
อาการของโรคพุ่มพวง
เมื่อป่วยด้วยโรคนี้ อาการแสดงจะมีทั้งแบบที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและแบบที่ค่อย ๆ แสดงอาการ ลักษณะอาการรุนแรงน้อยไปถึงรุนแรงมาก และอาจมีอาการป่วยเพียงชั่วคราว เมื่อได้รับการรักษา อาการก็จะหายไป หรืออาจมีอาการต่อไปอย่างถาวรแม้ได้รับการรักษาแล้วก็ตาม
อาการส่วนใหญ่ที่พบของโรคพุ่มพวง คือ
- รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนแรง
- มีไข้ ปวดหัว
- ตาแห้ง ตาบวม
- มีผื่นแดงขึ้นตามใบหน้า
- ปากเป็นแผล
- ผมร่วง
- นิ้วมือ นิ้วเท้าซีด
- ผิวไวต่อแสงแดด
- หายใจช่วงสั้น ๆ เจ็บหน้าอกเมื่อหายใจเข้าลึก ๆ
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือปวดบวมตามข้อ ขาบวม
- รู้สึกมึนงง สูญเสียความทรงจำ
สาเหตุของโรคพุ่มพวง
โรคพุ่มพวงเป็นโรคที่เกิดความผิดปกติของการทำงานระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย ที่ควรจะมีปฏิกิริยาต่อต้านเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย แต่กลับมีปฏิกิริยาต่อต้านทำลายเนื้อเยื่อตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายตัวเองแทน
อย่างไรก็ตาม สาเหตุการเกิดโรคยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีบางปัจจัยที่อาจเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรค ได้แก่
- พันธุกรรม การถ่ายทอดทางพันธุกรรมอาจส่งต่อลักษณะบางอย่างที่ทำให้มีโอกาสเป็นโรคได้
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนของเพศหญิงในช่วงตั้งครรภ์ หรือช่วงวัยที่กำลังเจริญเติบโต
- การติดเชื้อ การได้รับเชื้อต่าง ๆ อย่างไวรัสบางชนิด
- การใช้ยา ยาบางประเภท เช่น ยาต้านอาการชัก ยาปฏิชีวนะ และยากลุ่มควบคุมความดันโลหิต
- การได้รับสาร เช่น สารเคมี การสูบบุหรี่ และยาสูบต่าง ๆ
- แสงแดด สำหรับคนที่มีผิวไวต่อแดด การสัมผัสแสงแดดอาจทำให้เกิดรอยโรค เป็นเหตุให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา
การวินิจฉัยโรคพุ่มพวง
เมื่อพบอาการที่น่าสงสัยของโรคพุ่มพวง ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาอาการ โดยแพทย์อาจใช้ชุดตรวจเลือดและปัสสาวะเพื่อวินิจฉัยโรค ดังนี้
การตรวจเลือด
- ตรวจหาความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด แพทย์จะเจาะเลือดเพื่อดูปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด และฮีโมโกลบินในเลือด เช่น หากป่วยด้วยโรคนี้ มักจะมีภาวะโลหิตจาง และปริมาณเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดจะต่ำ
- วัดอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง (Erythrocyte Sedimentation Rate: ESR) หากสูง แสดงว่ามีการอักเสบ และมีโอกาสในการป่วยด้วยโรคนี้
- ตรวจการทำงานของตับและไต หากป่วยด้วยโรคพุ่มพวง มักส่งผลกระทบต่อตับและไตด้วย
- ตรวจหาภูมิคุ้มกัน ANA (Antinuclear antibody) หากมีผลเป็นบวก แสดงว่าอาจกำลังป่วยด้วยโรคนี้อยู่
การตรวจปัสสาวะ
ระดับโปรตีนที่เพิ่มขึ้นหรือเซลล์เม็ดเลือดแดงที่เพิ่มขึ้นในปัสสาวะ อาจมาจากการป่วยด้วยโรคพุ่มพวงจนมีผลกระทบต่อไต
การฉายภาพ
ในรายที่ต้องสงสัยว่าเป็นโรคพุ่มพวง แพทย์จะเอกซเรย์ช่วงอก หรือตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงเพื่อดูผลกระทบที่เกิดจากโรคต่อปอดและหัวใจ เช่น สังเกตปริมาณของเหลวหรือการอักเสบของปอด อัตราการเต้นของหัวใจ ความผิดปกติของลิ้นหัวใจและส่วนอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง
การรักษาโรคพุ่มพวง
แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาตามอาการที่ป่วย โดยวิธีการหลักที่ใช้รักษา คือ การรับยา เช่น
- ยาลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-inflammatory Drugs: NSAIDs) บางชนิดสามารถหาซื้อได้ตามร้ายขายยา อย่างยานาพรอกเซน (Naproxen Sodium) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ใช้ลดอาการปวด บวม หรือมีไข้
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) สามารถรักษาอาการอักเสบต่าง ๆ ที่เกิดจากโรคพุ่มพวงได้ ด้วยการลดปฏิกิริยาของภูมิคุ้มกันร่างกายลง แต่อาจส่งผลข้างเคียงได้ในระยะยาว
- ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressants) จะออกฤทธิ์ให้ระบบภูมิคุ้มกันมีการทำงานที่ลดลง ทำให้อาการป่วยที่เกิดขึ้นบรรเทาลง มักใช้ในผู้ที่ป่วยอย่างรุนแรง เช่น ยาอะซาไธโอพรีน (Azathioprine) ยาไมโคฟีโนเลต (Mycophenolate) และยาบีลิมูแมบ (belimumab) เป็นต้น
- ยาต้านมาลาเรีย (Antimalarial Drugs) สามารถนำมาใช้ควบคุมอาการโรคพุ่มพวงได้ด้วย อย่างลดผื่น และอาการบวมตามข้อ
ภาวะแทรกซ้อนของโรคพุ่มพวง
ภูมิคุ้มกันที่ทำงานผิดปกติจะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยจนอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะและระบบต่าง ๆ ภายใน ได้แก่
- เลือด อาจเกิดภาวะโลหิตจาง เสี่ยงต่อการเสียเลือด การเกิดลิ่มเลือดอุดตัน และการติดเชื้อในกระแสเลือด
- ปอด อาจเกิดเยื่อหุ้มปอดอักเสบที่สร้างความเจ็บปวดในขณะหายใจ และเสี่ยงต่อปอดอักเสบได้
- ไต อาจเกิดความเสียหายจากการอักเสบภายใน หรืออาจเกิดภาวะไตวายที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต
- หัวใจ อาจเกิดการอักเสบที่กล้ามเนื้อหัวใจ หลอดเลือดแดง และเยื่อหุ้มหัวใจ เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
- สมองและระบบประสาทส่วนกลาง อาจเกิดอาการที่มีความรุนแรงน้อยไปจนรุนแรงมาก ตั้งแต่ปวดหัว เวียนหัว มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป มีปัญหาด้านความจำ ประสาทหลอน เป็นโรคหลอดเลือดสมอง ตลอดจนเกิดภาวะชัก
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคพุ่มพวงยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อในอวัยวะและระบบต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ทั้งจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันเอง และจากการรักษาโรคที่ต้องรับประทานยาลดการทำงานของภูมิคุ้มกันลง เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกตายจากการขาดเลือด รวมถึงเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ภาวะครรภ์เป็นพิษ และการแท้งลูกในผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์
การป้องกันโรคพุ่มพวง
แม้ยังไม่มีวิธีการป้องกันโรคพุ่มพวงได้ แต่คนทั่วไปสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคได้ อย่างการดูแลสุขภาพ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ตากแดดที่ร้อนจ้าหรือเป็นเวลานาน และหลีกเลี่ยงสารเคมีเป็นพิษในชีวิตประจำวัน
ส่วนผู้ที่ป่วยด้วยโรคพุ่มพวง สามารถเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับการป่วยอย่างเข้าใจ และลดการกำเริบของโรคได้โดย
- รับประทานยาตามกำหนด ไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ และรีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการกำเริบ
- ควบคุมอาหาร รับประทานแต่สิ่งที่มีประโยชน์และไม่ทำให้เกิดอาการแพ้
- พักผ่อนอย่างเพียงพอ
- ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงหรือลดการสัมผัสกับแสงแดด และสารเคมี
- ออกกำลังกายอย่างพอดี หลีกเลี่ยงการใช้แรงหรือออกกำลังกายในขณะที่มีอาการกำเริบ
- รักษาสุขภาพจิต เรียนรู้วิธีการจัดการกับความเครียด
ขอขอบคุณ