โรคมือจีบ หรือโรคหอบทางอารมณ์ คืออะไร แล้วมีอาการแสดงแบบไหน อันตรายถึงตายหรือไม่ มาทำความรู้จักโรคทางจิตเวชที่เรียกสั้น ๆ ว่า โรคมือจีบกันค่ะ
ภาพจาก misc.medscape.com
ภาวะเครียดอย่างรุนแรง หรือได้รับความกดดันเป็นอย่างมาก อาจส่งผลให้เกิดอาการของโรคมือจีบ หรือโรคหอบจากอารมณ์ขึ้นได้ ทว่าความเครียดส่งผลให้เป็นโรคมือจีบ กับทุกคนหรือเปล่า ใครเสี่ยงบ้าง แล้วความรุนแรงของโรคหอบทางอารมณ์ร้ายขนาดไหน มาทำความรู้จักโรคนี้ไว้สักนิดก็ดีค่ะ
โรคมือจีบ คืออะไร
โรคมือจีบ หรือโรคหอบทางอารมณ์ ภาษาอังกฤษชื่อว่า Hyperventilation Syndrome คือ อาการหอบหายใจเร็ว จัดเป็นกลุ่มอาการหายใจเกิน จนก่อให้เกิดความผิดปกติของค่าสารเคมีในเลือด ทำให้มีอาการทางร่างกายอย่างอาการชักเกร็ง มือจีบ หอบหายใจเร็ว แรง ลึก อยู่นาน โดยโรคมือจีบมักสัมพันธ์กับความกดดัน ภาวะวิตกกังวล และความเครียดที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจ ก่อนหน้าจะมีความผิดปกติทางกายตามมา
โรคมือจีบ เกิดจากอะไร
สาเหตุของโรคหอบหายใจทางอารมณ์ พบว่า ผู้ที่เกิดอาการมักจะมีภาวะกดดันทางจิตใจ รวมทั้งความเครียดทางอารมณ์ กระทั่งส่งผลให้ร่างกายขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากเกิน เกิดภาวะเลือดเป็นด่างและภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายหลาย ๆ ระบบพร้อมกัน
ทั้งนี้ยังมักจะพบว่า ผู้ป่วยโรคมือจีบมีแนวโน้มในการหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าอก แทนกะบังลมและกล้ามเนื้อท้อง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหอบ หายใจลึก หรือหายใจเร็ว อันส่งผลกระทบต่อระบบการหายใจอีกด้วย
โรคมือจีบ อาการเป็นอย่างไร
อาการของโรคหอบหายใจทางอารมณ์ ผู้ป่วยมักจะมีอาการหายใจหอบเร็ว หายใจลำบาก หอบ หน้ามืด เวียนศีรษะ ใจสั่น บางรายมีอาการเกร็ง มือ-เท้าจีบเกร็ง และอาจพบอาการชาบริเวณรอบปากและนิ้วมือ ซึ่งนอกจากอาการเหล่านี้แล้ว โรคมือจีบยังอาจแสดงอาการปวดศีรษะ ปวดท้อง เจ็บหน้าอก แน่นอึดอัดในหน้าอก หรือมีลมในท้อง มีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แต่บางรายอาจแสดงอาการร้องเอะอะโวยวาย ดิ้นไปมา สับสน ประสาทหลอน หรือนอนแน่นิ่งคล้ายหมดสติ ทว่าบางรายก็มีอาการหลับตามิด ขมิบหนังตาแน่นได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม อาการของโรคหอบจากอารมณ์ มักจะเป็นการแสดงออกในเชิงประท้วง หรือเรียกร้องความสนใจหรือความเห็นใจจากคนรอบข้าง ซึ่งอาจเป็นความรู้สึกใต้จิตสำนึกของผู้ป่วยที่เกิดขึ้นโดยที่เจ้าตัวเองไม่รู้ตัวก็เป็นได้
โรคมือจีบ รักษาอย่างไร
วิธีการรักษาโรคมือจีบ สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้โดยการดูแลให้ผู้ป่วยค่อย ๆ หายใจโดยใช้กะบังลมและกล้ามหน้าท้อง ซึ่งจะช่วยให้หายใจช้าลง อาการหอบที่เป็นก็จะทุเลาลงเช่นกัน
ทว่าหากผู้ป่วยไม่สามารถฝึกการหายใจได้ อาจรักษาโรคมือจีบด้วยการใช้กระดาษทำเป็นรูปกรวย (มีรู 0.5-1.0 เซนติเมตร ตรงปลายกรวย) หรือใช้ถุงกระดาษ (เจาะรูขนาดเดียวกัน) นำมาครอบปากกับจมูกของผู้ป่วยพอแน่น ให้ผู้ป่วยหายใจในกรวยหรือถุงกระดาษ หรืออาจใช้ผ้าห่มคลุมโปงให้ผู้ป่วยหายใจอยู่ภายในโปงนั้น เพื่อให้ผู้ป่วยสูดเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับเข้าไปในร่างกายเพื่อแก้ไขภาวะเลือดเป็นกรด ซึ่งจะช่วยแก้ไขภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ทำให้มือเท้าหายจีบเกร็งและอาการต่าง ๆ ทุเลาได้ โดยปกติมักจะได้ผลภายใน 10-15 นาที
อย่างไรก็ตาม วิธีปฐมพยาบาลด้วยกระดาษ ถุง หรือการคลุมโปง ควรทำกับผู้ป่วยที่เคยตรวจกับแพทย์และได้รับการยืนยันว่าเป็นโรคหอบจากอารมณ์ (Hyperventilation Syndrome) และควรหลีกเลี่ยงวิธีรักษานี้กับผู้ป่วยที่ไม่แน่ใจว่ามีอาการของโรคทางกายอื่น ๆ ร่วมด้วยไหม เช่น โรคหอบหืด โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันสูง หรือมีภาวะหัวใจขาดเลือด สำลักอาหาร น้ำท่วมปอด รวมไปถึงภาวะโพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ ซึ่งอาจเป็นอันตรายหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที
ฉะนั้นการจะรักษาผู้ป่วยโรคหอบจากอารมณ์ จึงควรจะต้องสังเกตด้วยว่า ผู้ป่วยมีอาการหลังจากที่ได้รับความกดดัน หรือความเครียดด้านจิตใจหรือไม่ และหากไม่มั่นใจ ควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งให้ถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุด แต่ถ้าเกิดจากภาวะทางอารมณ์จริง ๆ แล้วไม่สามารถหายใจด้วยตัวเองได้ แพทย์อาจให้ยาคลายกังวล หรือฉีดยาเพื่อช่วยให้อาการหอบทุเลา
โรคมือจีบ ใครเสี่ยงบ้าง
อาการของโรคหอบจากอารมณ์ หรือโรคมือจีบ สามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย แต่มักจะพบได้บ่อยในกลุ่มอายุ 15-55 ปี โดยพบมากในเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึง 2 เท่า
ทั้งนี้เหตุการณ์ที่สามารถทำให้เกิดความเครียดทางอารมณ์และกดดันทางจิตใจอย่างหนักก็อย่างเช่น ช่วงทำกิจกรรมรับน้องของเฟรชชี่ปี 1 หรือการเข้าร่วมแข่งขันอะไรสักอย่าง รวมทั้งเรื่องการเรียน และการทำงานที่ทำให้เกิดภาวะเครียดได้ง่าย
โรคมือจีบ อันตรายถึงตายไหม
โรคหอบจากอารมณ์ไม่อันตรายถึงตาย เนื่องจากเป็นอาการที่สัมพันธ์กับอารมณ์ความรู้สึกทางจิตใจมากกว่าเกิดจากความผิดปกติทางร่างกายล้วน ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วผู้ป่วยสามารถฝึกพฤติกรรมการแสดงออกของตนเองได้ โดยต้องทำความเข้าใจกับผู้ป่วยก่อนว่า กลไกการเกิดอาการเป็นอย่างไร รวมทั้งให้ผู้ป่วยมั่นใจว่าอาการนี้ไม่อันตรายถึงชีวิต สามารถทุเลาหรือลดความถี่การเกิดอาการมือจีบได้ด้วยการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง
โรคมือจีบ ป้องกันอย่างไร
ผู้ป่วยสามารถเข้ารับคำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมเมื่อเกิดอาการ รวมทั้งวิธีรับมือและแก้ไขสาเหตุของความตึงเครียด และควรได้รับการดูแลด้านจิตใจ เพื่อให้ปรับตัวในการรับมือความตึงเครียดได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยสามารถเรียนรู้วิธีการฝึกหายใจโดยใช้กะบังลมและกล้ามเนื้อหน้าท้อง (หายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องแฟ่บ) เพื่อช่วยให้การหายใจหอบทุเลาลง เสมือนเป็นการรู้เท่าทันร่างกายของตัวเองเมื่อเกิดอาการ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้มากขึ้น รวมทั้งควรฝึกผ่อนคลายความตึงเครียดด้วยการออกกำลังกาย การฝึกสมาธิ และเจริญสติ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
กรมสุขภาพจิต
ขอขอบคุณhttps://www.kapook.com/