ภูมิคุ้มกันสุขภาพทั่วไป

ปัจจัยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

47864009 - senior healthy fitness couple. over blue background
Views

ปัจจัยภายในร่างกายของเรา ได้แก่ ภูมิคุ้มกัน (immune) ก็มีส่วนสำคัญในการต่อสู้ต้านทานกับโรคภัยไข้เจ็บที่เข้ามารุมเร้า ถ้าภูมิคุ้มกันเข้มแข็งก็สามารถขจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายและควบคุมโรค (เช่นมะเร็ง) ที่กำลังก่อตัวไม่ให้ลุกลามจนเกิดการเจ็บป่วยขึ้นมาได้

แต่ถ้าภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ยกตัวอย่างสุดโต่งก็คือผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีถึงขั้นที่เกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรงก็จะเกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาสรุมเร้ามากมาย เช่น วัณโรคปอด ปอดอักเสบจากเชื้อรา เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา โรคเริมหรืองูสวัด เป็นต้น ซึ่งจะไม่ค่อยพบในคนที่แข็งแรง หรือเป็นรุนแรงหรือเรื้อรังกว่าคนปกติ นอกจากนี้ยังมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ได้มากกว่าคนปกติ

ภูมิคุ้มกัน (ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการทำงานของเม็ดเลือดขาวทั้งโดยการสร้างสารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดีและการฆ่าเชื้อโรคโดยตรง) มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคและการทุเลาบรรเทาบางเบาของโรค 4 กลุ่มโรค ดังนี้

  1. โรคติดเชื้อ ทั้งเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา
  2. โรคมะเร็งต่างๆ
  3. โรคภูมิแพ้ เช่น แพ้อากาศ (หวัดภูมิแพ้) โรคหืด ลมพิษ เป็นต้น
  4. โรคภูมิต้านตนเอง เช่น แผลร้อนใน (แผลแอฟทัสในช่องปาก) โรคปวดข้อรูมาตอยด์ คอพอกเป็นพิษ เป็นต้น

ภูมิคุ้มกันจะดีหรือไม่ ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น 

1. พันธุกรรม ซึ่งเป็นสิ่งติดตัวมาตั้งแต่เกิดและแก้ไขไม่ได้

2. อายุ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และผู้ชราอายุมากกว่า 65 ปี มักเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย เช่น เป็นหวัด คออักเสบ ปอดอักเสบ ท้องเดิน วัณโรคปอด ผู้สูงอายุยังมีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าคนหนุ่มสาว

เด็กอายุ 6 เดือนแรกยังมีสารภูมิต้านทานโรค (แอนติบอดี) ที่ได้รับถ่ายทอดมาจากแม่ขณะอยู่ในครรภ์ ปรากฏว่าแข็งแรงไม่ค่อยเจ็บไข้ได้ป่วย แต่เมื่อพ้น 6 เดือนไปแล้ว สารภูมิต้านทานโรคดังกล่าวได้เสื่อมสลายลง จึงเริ่มเป็นไข้หวัด ท้องเดิน และโรคติดเชื้อต่างๆ

3. อาหาร ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ กากใยอาหาร นมเปรี้ยว (โยเกิร์ตที่มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์) มีส่วนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง

เด็กที่ขาดอาหาร (เช่นเด็กยากจนกินแต่น้ำข้าวกับนมข้นหวาน) มักจะเป็นไข้หวัด ท้องเสีย ปอดอักเสบบ่อย ในพื้นที่ที่มีภาวะสงคราม ขาดแคลนอาหาร เด็กๆ มักจะเป็นโรคขาดอาหารและเสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อพื้นๆ เหล่านี้

ผู้ป่วยมะเร็งในบ้านเราบางคนมีความเชื่อว่าไม่ควรกินอาหารพวกโปรตีน จึงอดจนร่างกายอ่อนแอถูกโรคติดเชื้อรุมเร้าจนเป็นอันตราย

4. ออกกำลังกาย การออกกำลังกายแต่พอเหมาะจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้แข็งแรง การไม่ออกกำลังกายเลยหรือออกหักโหมเกิน (เรียกว่า overtrain) จะทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอได้ เช่น เป็นหวัด เจ็บคอง่าย

5. นอนหลับพักผ่อน ควรนอนวันละ 6-8 ชั่วโมง การอดนอน นอนน้อย ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

เรามักจะแนะนำผู้ที่เป็นไข้หวัด เจ็บคอ โรคภูมิแพ้ โรคภูมิต้านทานตนเอง ที่กำเริบบ่อยให้นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เลิกเหล้า บุหรี่ หาวิธีผ่อนคลายความเครียด ก็มักจะทำให้โรคทุเลาหรือหายขาด

6. อันตราย (สิ่งที่เป็นพิษภัย) เช่น โรคติดเชื้อ (เอดส์ หัด) โรคเบาหวาน รังสี ยากดภูมิคุ้มกัน ยารักษามะเร็ง (เคมีบำบัด) ยาบางชนิด (เช่น ยาสเตียรอยด์ ที่ผสมในยาชุด/ยาลูกกลอน ยารักษาคอพอกเป็นพิษ) สารเคมี (เช่น เบนซิน) เหล้า บุหรี่ มีส่วนทำลายภูมิคุ้มกันให้อ่อนแอได้ ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นพิษภัยเหล่านี้ ควรควบคุมโรค (เช่น เบาหวาน โรคติดเชื้อ) ให้ได้ผลเสียแต่แรก รวมทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ก็จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

7. อารมณ์ (จิตใจ) อารมณ์ดี อารมณ์ขัน การหัวเราะ มีจิตเมตตา ส่งเสริมให้ร่างกายหลั่งสารหลายชนิด (เช่น เอนดอร์ฟินส์) กระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรง (กล่าวกันว่า การหัวเราะเป็นยาวิเศษ และเมตตาธรรมก็เป็นยาวิเศษ )

ตรงกันข้าม ความเครียด การอมทุกข์  ซึมเศร้า ทำให้ร่างกายหลั่งสารหลายชนิด (เช่น สเตียรอยด์ อะดรีนาลีน) กดภูมิคุ้มกัน ทำให้โรคต่างๆ (เช่น เป็นหวัด เจ็บคอ โรคภูมิแพ้ แผลร้อนใน คอพอกเป็นพิษ) กำเริบ

ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.thaihealth.or.th/

Leave a Reply