โรคมะเร็งกระดูกเป็นภัยเงียบที่ไม่มีสัญญาณเตือนใด ๆ ให้เราล่วงรู้ได้เลย มีจุดที่แตกต่างจากอาการปวดกล้ามเนื้ออย่างไร ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจหามะเร็งกระดูกได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ต้องสังเกตอาการผิดปกติอย่างใกล้ชิด จึงจะตรวจพบได้ในระยะเริ่มแรก
สาเหตุเกิดจากอะไร
โรคมะเร็งกระดูกยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร โดยทั่วไปเกิดจากการที่เซลล์ในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งแล้วเซลล์มะเร็งนั้นค่อย ๆ เติบโตขึ้นในร่างกายของเรา และหากโตขึ้นจนถึงจุดหนึ่งอาจมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ถึงแม้ว่าเซลล์จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งหรือยีนจะมีการเปลี่ยนแปลงไปแต่ไม่ได้มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคนี้รักษาหายแล้วไม่ต้องกังวลว่าจะมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปยังบุตรหลาน
จะสังเกตอย่างไรว่าเริ่มเป็นโรคมะเร็งกระดูก
มะเร็งกระดูก นับได้ว่าเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง เกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว โดยทั่วไปแล้ว มะเร็งกระดูกแบ่งได้ 2 ชนิด ชนิดแรก เกิดจากความผิดปกติภายในเซลล์ของกระดูกที่เป็นเนื้องอก ซึ่งถ้าเป็นเนื้อร้ายก็จะก่อให้เกิดมะเร็งกระดูก และ ชนิดที่สอง เกิดจากการแพร่กระจายของมะเร็งชนิดอื่นมาที่กระดูก ซึ่งมักเกิดกับผู้ป่วยที่มีประวัติการเป็นโรคมะเร็งของอวัยวะอื่นมาก่อน เช่น มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น
อาการของมะเร็งกระดูกมาด้วยสองอาการ อาการแรกคือ อาการของก้อนที่โตขึ้นเรื่อย ๆ จากกระดูก และอาการที่สองคืออาการปวด โดยอาการปวดจะมีลักษณะเฉพาะก็คือ อาการปวดตอนกลางคืน อาจจะทำให้ผู้ป่วยต้องลุกขึ้นขยับไปขยับมาแล้วอาการดีขึ้นจนกลับไปนอนได้ ซึ่งแตกต่างจากอาการปวดจากกล้ามเนื้ออักเสบหรือจากข้อเคล็ดต่าง ๆ อาการปวดเหล่านั้นจะเป็นช่วงกลางวัน ช่วงที่ผู้ป่วยใช้งานบริเวณนั้น ๆ
ในเด็กเองอาจจะพบว่า เด็กมีอาการปวดมากขึ้นที่ไปวิ่งเล่นแล้วหกล้ม หรือว่าไปเตะฟุตบอลกับเพื่อน ๆ แล้วมีอาการปวด โดยที่อาการปวดนี้ไม่หายไปในระยะเวลาอันสั้น แล้วสังเกตว่าตอนกลางคืนเป็นมากขึ้น
รักษาได้อย่างไร หายหรือไม่
สำหรับการรักษาผู้ป่วย ขึ้นกับชนิดและระยะของโรค มีตั้งแต่การให้ยาบรรเทาอาการปวด ยาเคมีบำบัด ยาต้านฮอร์โมน ยาลดแคลเซียมในเลือด ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดและช่วยให้กระดูกแข็งแรงขึ้น ส่วนการให้รังสีรักษาเป็นไปเพื่อหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเฉพาะตำแหน่ง ลดอาการปวด ช่วยให้ผู้ป่วยหายจากอาการอัมพาตในรายที่มะเร็งแพร่กระจายไปที่กระดูกสันหลัง ส่วนผู้ป่วยที่เป็นมากและเป็นหลายตำแหน่งจะทำการฉายแสงรักษาเพื่อลดอาการปวด และหากพิจารณาพบว่าเกิดภาวะมะเร็งกระดูก ตำแหน่งที่รับน้ำหนักมาก เช่น กระดูกต้นขา แพทย์จะใช้วิธีผ่าตัดเอากระดูกที่เป็นโรคมะเร็งออก และทดแทนด้วยโลหะชนิดต่าง ๆ เพื่อเสริมความแข็งแรงของกระดูกที่ขา หรือทดแทนด้วยกระดูกที่นำไปฆ่าเชื้อมะเร็ง แล้วกลับมาใส่ใหม่ ด้วยวิวัฒนาการต่าง ๆ ทำให้เรารักษา ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเดินได้ตามปกติ
มะเร็งกระดูกแม้พบได้น้อย แต่เมื่อเป็นแล้วผู้ป่วยจะมีอาการทรุดอย่างรวดเร็ว หากพบความผิดปกติ เช่น มีก้อนบริเวณแขน ขา กระดูก ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพราะการวินิจฉัยโรคได้เร็วและให้การรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่ระยะเริ่มต้นของโรค และยังไม่มีการแพร่กระจายของมะเร็งไปที่อวัยวะอื่น สามารถรักษาหายขาดได้ จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตสูง มีคุณภาพชีวิตภายหลังการรักษาที่ดี
อย่างไรก็ตามถึงแม้โรคบางโรคจะเกิดขึ้นโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง แต่เราสามารถสังเกตอาการ และรีบมาพบแพทย์เพื่อรักษาให้ทันท่วงทีได้ และขอฝากผู้ปกครองให้สังเกตอาการบุตรหลานของท่าน หากมีอาการปวดกระดูกโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปวดในตอนกลางคืน หากนานกว่าหนึ่งสัปดาห์ให้พาบุตรหลานของท่านไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการรักษาให้ทันท่วงที
ขอบคุณที่มา
ผศ.นพ.ระพินทร์ พิมลศานติ์
ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล