มะเร็งกล่องเสียงรู้ทัน-โรค

มะเร็งกล่องเสียง (Laryngeal Cancer) รักษาหายได้ ถ้ามาพบแพทย์แต่เนิ่นๆ (ตอนที่ 3)

Views
  1.  การดูแลตนเองในเรื่องอาหาร
                       – 
    เมื่อกินอาหารได้น้อย ให้พยายามกินในจำนวนมื้อที่บ่อยขึ้น กินครั้งน้อยๆแต่บ่อยๆ  และจำกัดอาหารหวาน และอาหารเค็ม เพราะมีผลต่อน้ำตาลในเลือด และการทำงานของไต
                            – ให้กำลังใจตนเอง เข้าใจว่า อาหารเป็นตัวยาสำคัญยิ่งตัวยาหนึ่ง ของการรักษาโรคมะเร็ง ลองปรับเปลี่ยน ประเภทอาหารให้กินได้ง่ายขึ้น เช่น อาหารอ่อน อาหารเหลว (ประเภทอาหารทางการแพทย์) แต่ควรหลีกเลี่ยงอาหารทอด หรือผัด หรือมีกลิ่นรุนแรง เพราะมักกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน
                            – ปรับเปลี่ยนที่กินอาหารในบ้าน ไม่กินแต่ในห้อง อาจนั่งกินที่ระเบียง ให้มีบรรยากาศที่ดี ปลอดกลิ่น อากาศถ่ายเทได้ดี มีแสงแดดพอควร มองเห็นต้นไม้ ดอกไม้ กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกที่ดี
                            – เตรียมอาหารครั้งละน้อยๆ อย่าให้กินเหลือ เพราะจะได้เกิดกำลังใจว่ากินหมดทุกมื้อ  ถ้วย ชาม แก้วน้ำ ปรับให้ดูสะอาด สวยงาม จะรู้สึกอยากอาหารเพิ่มขึ้น
                            – ควรแจ้งแพทย์ พยาบาลเมื่อกินไม่ได้ หรือกินได้น้อย และควรยอมรับ เมื่อแพทย์แนะนำการให้อาหารทางสายให้อาหาร อาจผ่านทางจมูก หรือทางช่องท้อง เพราะเป็นการให้เพียงชั่วคราว ในช่วงที่มีปัญหาจากการกินทางปาก เพื่อให้ร่างกายได้อาหารอย่างพอเพียง เพื่อให้การรักษาดำเนินไปได้ตามแผนการรักษา เพื่อผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
                            – การกินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอาหารโปรตีน (เช่น เนื้อ นม ไข่ ปลา ตับ) เพราะในการรักษาโรคมะเร็ง ความแข็งแรงของไขกระดูก (เม็ดเลือดต่างๆ) เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะเป็นตัวช่วยให้ร่างกายตอบสนองที่ดีต่อรังสีรักษา และยาเคมีบำบัด รวมทั้งช่วยลดโอกาสติดเชื้อ ซึ่งการติดเชื้อในขณะกำลังรักษาโรคมะเร็งมักเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง
                            – เพิ่มผัก ผลไม้ให้มากๆ และที่ยังต้องจำกัดตลอดชีวิต คือ อาหารไขมัน แป้ง น้ำตาล อาหารเค็ม (ยกเว้นผู้ป่วยบางรายที่มีเกลือแร่โซเดียม/Sodium ในเลือดต่ำ และแพทย์แนะนำให้กินเค็มเพิ่ม ขึ้น) ทั้งนี้ปริมาณอาหารต้องไม่ทำให้มีโรคอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกิน
                3การออกกำลังกาย
                       – 
    ถ้าสุขภาพไม่เอื้อต่อการออกกำลังกาย  เพียรพยายามเคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตทั่วร่างกาย   อย่านั่งๆนอนๆ ถ้ายังพอลุกไหว  จะช่วยให้สภาพร่างกาย และจิตใจดีขึ้น
                            – ช่วงการรักษา ยังควรออกกำลังกายสม่ำเสมอเท่าที่พอทำได้ อย่าหักโหม ค่อยๆออกกำลังกาย แล้วสังเกตอาการ อย่าออกกำลังกายจนเหนื่อย จะช่วยให้ร่างกายสดชื่น  อยากอาหาร  มีการขับถ่ายที่ดี  มีการไหลเวียนโลหิตที่ดี ช่วยกระตุ้นการอยาก และการย่อยอาหาร               
                            – ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอตลอดชีวิต ค่อยๆปรับจนเข้าภาวะปกติ โดยควรออกกำลังกายให้เหมาะสมตามสุขภาพของตนเอง และเลือกประเภทการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับโรค เช่น เลือกการว่ายน้ำ เมื่อมีโรคของข้อต่างๆ เป็นต้น
              
    ภายหลังการรักษามะเร็งกล่องเสียง แพทย์อาจจะทำการนัดตรวจเป็นประจำ ทุก 1-2 เดือนในช่วงหนึ่งปีแรก เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีภาวะแทรกซ้อน หรือการกลับมาของมะเร็งอีกครั้ง โดยทำการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด เอ๊กซเรย์ปอด บางครั้งอาจต้องทำ CT scan หรือ MRI ด้วย           ปัจจุบันตามโรงพยาบาลใหญ่ จะมีสมาคมชมรมผู้ไร้กล่องเสียง ที่ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด โดยให้ผู้ป่วยดูแลช่วยเหลือกัน ทั้งด้านกำลังใจ การดูแลสุขภาพ และการฝึกพูด    ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งกล่องเสียงใหม่ ๆ โดยเฉพาะผู้ที่ถูกผ่าตัดกล่องเสียง พูดไม่ได้ สื่อสารลำบาก มักเสียกำลังใจ และรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง ญาติ ๆ ควรส่งเสริมให้ผู้ป่วยเข้าร่วมกิจกรรมของสมาคม/ชมรมดังกล่าว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ รู้จักดูแลตนเอง จนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

การป้องกันไม่ให้เป็นโรค
          
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันมะเร็งกล่องเสียงได้ 100% แต่ควร
          
1. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม
          
2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งระคายเคือง เช่นใยหิน  นิกเกิล  ฝุ่นไม้  กรดกำมะถัน  ควัน  สารเคมี  มลพิษ
          
3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกประเภท รวมทั้งผักและผลไม้
          
4.  ดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง  ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอทุกวัน หรือเล่นกีฬาเป็นประจำ   นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ                    

                 มะเร็งกล่องเสียง มักมีอาการเสียงแหบเป็นสำคัญ  ถ้าพบว่าผู้ป่วยมีอาการเสียงแหบ หรือมีอาการเจ็บคอนาน 2-3 สัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผู้ชายสูงอายุที่ มีประวัติสูบบุหรี่จัด หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมมานาน ควรรีบไปพบแพทย์ หู คอ จมูก เพื่อช่วยให้สามารถตรวจพบมะเร็งระยะแรก ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาด และมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ 

ขอบคุณที่มา 

รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน
 ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล