มะเร็งปากมดลูก

สาวไม่จิ้น “เสี่ยงมะเร็งปากมดลูก” แนะตรวจ HPV DNA

Views

สาวๆ รู้หรือไม่ว่า ในบรรดาโรคมะเร็งของผู้หญิง โรค “มะเร็งปากมดลูก” เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงอันดับต้นๆในประเทศไทย จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ ปีละเกือบ 10,000 ราย นำไปสู่การเสียชีวิตประมาณปีละเกือบ 5,000 ราย หรือโดยเฉลี่ยประมาณ 14 รายต่อวันเลยทีเดียว

โรคมะเร็งปากมดลูกเกิดจากอะไร
สาเหตุของโรคนี้ เกิดจากเชื้อไวรัสที่เรียกว่า HPV ซึ่งสามารถอยู่ในร่างกายของเราได้นานกว่า 10 ปีขึ้นไป โดยไม่แสดงอาการใดๆ เจ้าไวรัสร้ายตัวนี้เป็นเหมือนระเบิดเวลาเงียบๆ ภายในร่างกายของเรา และเราก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเราติดเชื้อ HPV แล้วหรือยัง ถ้าไม่ไปตรวจภายใน โดยผู้หญิงที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์แล้วจะยิ่งเสี่ยงติดเชื้อ HPV จากคู่นอนมากกว่าสาวๆที่ยังเวอร์จิ้น และการติดเชื้อ HPV ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน แม้จะมีคู่นอนเพียงคนเดียว!

เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าติดเชื้อ HPV แล้ว
ความจริงที่น่าตกใจ คือเราจะไม่มีโอกาสรู้ได้เลย ถ้าไม่ไปตรวจคัดกรอง และเมื่อใดก็ตามที่ร่างกายเราอ่อนแอ เจ้าเชื้อ HPV จะค่อยๆ พัฒนากลายเป็นมะเร็งปากมดลูก โดยใช้เวลาเป็น 10 ปี ดังนั้น การตรวจ HPV DNA จะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินความเสี่ยงว่า เราจะมีโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูกในอนาคตหรือไม่ อีกทั้งเพิ่มความแม่นยำในการตรวจได้สูงถึงเกือบ 100% และสามารถเว้นระยะการตรวจได้ถึง 2-3 ปี โดยสามารถลดอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ในอนาคต เพราะจากสถิติพบว่าหากตรวจพบเร็วในระยะก่อนมะเร็ง มีโอกาสหายขาดสูงถึง 98% แต่หากตรวจพบตอนมะเร็งลุกลามไปแล้ว โอกาสหายจะลดลงอย่างมาก

ศ. พญ.สฤกพรรณ วิไลลักษณ์ นายกสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย เผยว่า “สาเหตุสำคัญที่ทำให้หญิงไทยเป็นโรคนี้คือ ความอายที่จะไปตรวจคัดกรอง หรือความละเลยที่จะไปตรวจ ซึ่งหากเข้ารับการตรวจคัดกรองแบบ HPV DNA หรือการตรวจทางเซลล์วิทยา ทุก 2-3 ปี และพบว่าเป็นระยะก่อนมะเร็ง แพทย์สามารถทำการรักษาให้หายขาดได้ หากละเลยที่จะไปตรวจทุก 2-3 ปี เราจะไม่มีทางรู้ว่าตนเองมีเชื้อไวรัส HPVหรือระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก อยู่ในร่างกายหรือไม่ เพราะผู้หญิงที่ติดเชื้อไวรัส HPV หรือเป็นระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก จะไม่มีอาการ ซึ่งจากสถิติพบว่าผู้หญิง 4 ใน 5 คน ติดเชื้อไวรัส HPV ช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต โดยที่เชื้อไวรัส HPVติดต่อทางการสัมผัส ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทางเพศสัมพันธ์”

แล้วการตรวจคัดกรองแบบ HPV DNA คืออะไร
HPV DNA Test เป็นวิธีการตรวจคัดกรองที่ได้รับการรับรองโดยองค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้วิธีการเก็บเซลล์บริเวณปากมดลูกในการตรวจหา DNA ของเชื้อ HPV จำนวน 14 สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง โดยสามารถระบุเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ได้อย่างเฉพาะเจาะจง และยังสามารถตรวจหาเชื้อ HPV สายพันธุ์เสี่ยงสูงอีก 12 สายพันธุ์ได้ในการตรวจเพียงครั้งเดียว ทั้งนี้ โรคมะเร็งปากมดลูกเกือบทุกกรณีมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ HPV โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูกถึงร้อยละ 70

ศ.พญ.สฤกพรรณ วิไลลักษณ์ กล่าวเสริมว่า “เนื่องจากผู้หญิง 4 ใน 5 คน จะติดเชื้อไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต สมาคมฯ จึงต้องการรณรงค์ให้หญิงไทยหันมาใส่ใจกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกกันให้มากขึ้น นอกจากนี้ HPV DNA ยังเป็นวิธีการตรวจที่เหมาะสำหรับผู้หญิงที่มีอายุเกิน 25 ปี และยังสามารถเว้นช่วงตรวจได้นาน 2-3 ปี”


รู้ไว้ใช่ว่า 3 วิธีการตรวจคัดกรองป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก
ปัจจุบัน การตรวจคัดกรองเป็นวิธีป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้ดีที่สุด ซึ่งโดยทั่วไปจะมีอยู่ 3 ประเภท
1. Pap Smear (แพปสเมียร์) ความไวหรือความสามารถในการพบรอยโรค เพียง 53% เซลล์ที่ถูกป้ายลงบนกระจกสไลด์จะซ้อนทับกัน และมีมูกเลือดซึ่งอาจบดบังเซลล์มะเร็งได้ ทำให้แปลผลยากและมีโอกาสผิดพลาดสูง จากสถิติ 1 ใน 3 ของผู้หญิงที่เคยตรวจแบบแพปสเมียร์และได้ผลปกติ กลับป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกในเวลาต่อมาV
2. Liquid base Cytology ความไวหรือความสามารถในการพบรอยโรค 74% มีน้ำยารักษาสภาพเซลล์ที่ช่วยกำจัดมูกและเลือด เซลล์จึงไม่ซ้อนทับกัน ทำให้แปลผลง่ายขึ้นและมีโอกาสพบเซลล์มะเร็งสูง
3. การตรวจหาเชื้อไวรัส HPV (HPV DNA) ความไวหรือความสามารถในการพบรอยโรค เกือบ 100% โดยนำเซลล์ปากมดลูกมาตรวจแบบเจาะลึกถึงระดับ DNA ของเชื้อไวรัส HPV สายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกสูง สามารถเว้นช่วงตรวจได้ 2-3 ปี ช่วยให้แพทย์คาดการณ์ความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต



จำไว้ว่าว่าโรคมะเร็งปากมดลูก “รู้ก่อน ก็ป้องกันได้ก่อน” ดังนั้น เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ ปกป้องตัวคุณตั้งแต่เนิ่นๆ จากโรคมะเร็งปากมดลูก ด้วยการระบุว่าขอตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (HPV DNA หรือเซลล์วิทยา) ทุกครั้งที่ไปตรวจภายใน

ขอบคุณที่มา  https://www.sanook.com/women/50737/