ผู้ป่วยทุกรายเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งแล้ว มักจะมีความรู้สึกเหมือนกันหมดว่า คงจะต้องเสียชีวิตจากโรคนี้ในเวลาอันใกล้ ซึ่งไม่เป็นความจริง มะเร็งทุกชนิดก็ว่าได้มักจะรักษาให้หายขาดได้ถ้าตรวจวินิจฉัยได้ตั้งแต่ระยะต้นๆ ยิ่งไปกว่านั้นมะเร็งบางชนิดแม้ตรวจพบในระยะท้าย ๆ ของโรคก็ยังอาจจะรักษาหายขาดได้ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่บางชนิด หรือมะเร็งเนื้อรก เป็นต้น บทบาทของญาติมีส่วนมากในการช่วยให้การรักษาประสบผลสำเร็จโดยราบรื่นตามกำหนดที่แพทย์วางแผนไว้
เราควรจะแบ่งผู้ป่วยมะเร็งเป็น 3 ประเภท
- มะเร็งที่รักษาให้หายขาดได้ หรือมีโอกาสหายขาดได้สูง
- มะเร็งที่รักษามีโอกาสหายหรือไม่หายก็ได้
- มะเร็งที่มีโอกาสหายน้อยหรือแทบไม่มีโอกาสหาย
ก่อนอื่นญาติจะต้องทราบว่าผู้ป่วยอยู่ในประเภทใด ดังกล่าว
สำหรับมะเร็งที่รักษาให้หายขาดได้ หรือมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้สูง ความร่วมมือเป็นเรื่องสำคัญมากเพื่อให้การรักษาบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว สำหรับญาติเอง หรือแม้แต่ผู้ป่วยเองควรจะได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องจากแพทย์ผู้รักษา มีบ่อยครั้งที่เดียวที่ผู้ป่วยบางราย เช่น ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกที่แพทย์วางแผนการรักษาโดยทางรังสีรักษา แต่ผู้ป่วยไม่ร่วมมือมารักษาตามนัด ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับข้อมูลผิดที่ได้รับจากญาติหรือเพื่อนบ้านทำให้เสียโอกาสในการหายจากโรค ซึ่งเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะอธิบายให้ทราบความจริง แม้มีผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถรับความจริงว่าตนเองเป็นมะเร็ง ซึ่งในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ผู้ป่วยน่าจะรับทราบความจริงเนื่องจากการพยากรณ์ของโรคดี ญาติควรจะปรึกษาแพทย์ในกรณีเช่นนี้เพื่อจะได้อธิบายแก่ผู้ป่วยรายนี้อย่างเหมาะสม การทราบความจริงมีผลทำให้ผู้ป่วยมีความร่วมมือในการรักษาและร่วมมือในการติดตามการรักษาตามนัดหมาย ญาติเองจำเป็นต้องให้กำลังใจและสนับสนุนในการรักษาอย่างเต็มที่
สำหรับภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในการรักษากำลังใจและการปรนนิบัติของญาติหรือผู้ใกล้ชิดมีความสำคัญต่อผลการรักษาอย่างยิ่ง
ผู้ป่วยที่มีโอกาสหายหรือไม่หายก็ได้ เมื่อได้รับทราบข้อมูลจากแพทย์ถึงแนวทางการรักษา ความเสี่ยงต่าง ๆ ของการรักษา ในการพยากรณ์ของโรค ญาติมักจะตัดสินใจเด็ดขาดไม่ค่อยได้นัก โดยเฉพาะในรายที่มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนสูง หรือแม้แต่แพทย์เองบางครั้งก็ไม่กล้าชี้ลงไปชัดเจนว่าผลการรักษาจะเป็นอย่างไร อาจจะต้องให้การรักษาสักพักหนึ่งก่อนจึงจะบอกได้ว่าการรักษาได้ผลหรือไม่ สำหรับญาติเองน่าจะให้ความสำคัญกับข้อมูลของแพทย์ แต่มีบ่อยครั้งการตัดสินใจขึ้นกับแพทย์เป็นผู้พิจารณา และถ้าญาติแบ่งเป็น 2 ฝ่ายยิ่งทำให้การตัดสินใจของแพทย์กระทำด้วยความลำบาก แต่ถ้ามีมติเอกฉันท์แล้วว่าจะรับการรักษา ญาติจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยรับทราบข้อมูลแง่บวกมากกว่าลบเพื่อจะได้มีกำลังใจและร่วมมือในการรักษา
ผู้ป่วยที่มีโอกาสหายน้อยหรือแทบไม่มีโอกาสหายเลย ฉันทามติของญาติในการรักษาหรือไม่เป็นสิ่งสำคัญมาก แพทย์เองจำเป็นต้องให้ข้อมูลที่ตรงไปตรงมากับญาติ เพื่อให้การตัดสินใจเป็นไปตามหลักวิชาการ ถ้าญาติหรือผู้ป่วยยังต้องการให้การรักษานอกจากโอกาสหายจะมีน้อยแล้ว ภาวะแทรกซ้อนของการรักษาก็อาจจะสูงไปด้วย สำหรับรายที่ญาติตัดสินใจไม่รับการรักษาแล้ว ทางการแพทย์จะมุ่งรักษาให้ผู้ป่วยไม่มีความทุกข์ทรมานหรือมีความทุกข์ทรมานน้อยที่สุดจากโรค เช่นเดียวกันกำลังใจหรือการปรนนิบัติของญาติย่อมช่วยให้ผู้ป่วยมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้ถ้ายังมีภาระหรือความห่วงใยต่าง ๆ อยู่ เป็นหน้าที่ที่ญาติจะต้องช่วยกันแก้ไขเพื่อให้ผู้ป่วยมีความกังวลน้อยที่สุด เพื่อจะได้มีจิตใจที่สงบและมีความทุกข์ทางใจน้อยที่สุด
ขอบคุณที่มา
ภาควิชาสูติศาสตร์–นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล