ทวารหนัก (rectum) หมายถึง ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายที่มีความยาวราว 15 เซนติเมตรนับตั้งแต่กล้ามเนื้อหูรูดของรูทวาร (anus) ขึ้นไป เป็นลำไส้ใหญ่ส่วนที่ตรง บางคนจึงเรียกมันว่าไส้ตรง “มะเร็งทวารหนัก” ภาษาอังกฤษเรียกว่า CA rectum (rectum มีความหมายว่า ตรง)
ในบรรดามะเร็งลำไส้ มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นมากที่สุด มากกว่า 90% (คำว่ามะเร็งลำไส้จึงหมายถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก) มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมักจะเกิดในคนอายุ 50 หรือมากกว่า ในสหรัฐอเมริกา แต่ละปีมีผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 143,000 ราย มีอยู่ราว 40,000 ราย (28%) ที่เป็นมะเร็งทวารหนัก
การรักษาโดยตรงของมะเร็งทวารหนักคือการผ่าตัด และบางกรณีที่เป็นมากอาจจะให้เคมีบำบัดร่วมกับการฉายแสงด้วย แต่ถ้าสามารถตรวจพบมะเร็งทวารหนักได้เร็วในระยะแรก ๆ การรักษาจะได้ผลดีในระยะยาวราว 85 – 90% ตัวเลขนี้จะลดลงมากถ้าตรวจพบช้าจนมีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองของลำไส้
มะเร็งทวารหนักส่วนมากเริ่มจากติ่งเนื้อเล็ก ๆ (polyp) การตัดติ่งเนื้อออกจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งตามมา ด้วยเหตุนี้การส่องกล้องตรวจกวาดหา (screening) และตัดติ่งเนื้อในเวลาที่เหมาะสมจึงได้ประโยชน์ เวลาที่เหมาะสมมักเริ่มที่ 50 ปี
อาการต้องสงสัย
คนไข้หลายคนเมื่อเป็นมะเร็งทวารหนักไม่มีอาการหรืออาการแสดงในระยะเริ่มแรกของโรค อาการและอาการแสดงของโรคในระยะหลัง ๆ ได้แก่ อุจจาระเป็นเลือด มักเป็นเลือดสด มีการเปลี่ยนแปลงของนิสัยการขับถ่าย ปวดมวนท้องน้อย ปวดก้น มีความรู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุด มีความรู้สึกว่ามีอุจจาระเต็มก้น แต่เวลาเบ่งถ่ายมันปวดและถ่ายไม่ออกด้วย
เมื่อมีอาการถ่ายเป็นเลือดควรให้แพทย์ตรวจ แม้ว่าอาการต่าง ๆ ดังข้างบนนี้อาจจะเกิดจากสาแหตุอย่างอื่นได้ แต่การตรวจของแพทย์สามารถแยกแยะสาเหตุอื่นได้ เช่น ริดสีด้วยทวาร (hemorrhoid) แผลที่ช่องทวารหนัก (anal fissure)
การตรวจวินิจฉัย
ถ้าแพทย์สงสัยมะเร็งทวารหนัก เริ่มแรกแพทย์จะตรวจโดยการใช้นิ้วสวมถุงมือหล่อลื่นสอดเข้าไปคลำดูว่ามีก้อนหรือไม่ หลังจากนั้นจะมีการตรวจอย่างอื่นเพื่อวินิจฉัย ยืนยันการวินิจฉัย หรือตรวจเพื่อดูระยะของโรค ดังนี้
- ส่องกล้องที่มีลักษณะเป็นแท่งกลวงแข็งตรวจทวารหนัก ความลึกประมาณ 15 เซนติเมตร
- ถ้าตรวจด้วยวิธีแรกแล้วไม่พบอะไร แต่แพทย์ยังสงสัยจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม อาจจะตรวจเพิ่มด้วยกล้องที่เลี้ยวเข้าไปลึก ๆ ได้ ที่เรียกว่า colonoscopy การตรวจวิธีนี้สามารถตรวจได้ตลอดความยาวของลำไส้ใหญ่ ถ้าพบติ่งนี้ก็ตัดออกได้ หรือถ้าเป็นก้อนเนื้อใหญ่ก็สามารถตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อออกไปตรวจได้
- การตรวจโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ตรวจหามะเร็งในช่องท้อง หรือดูขนาดและขอบเขตของมะเร็ง พร้อมทั้งสามารถดูว่ามะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นหรือยัง
- การตรวจเอกซ์เรย์หรือ ซีที ปอด เพื่อดูว่ามะเร็งแพร่กระจายไปที่ปอดหรือยัง
- บางกรณีอาจจะตรวจด้วยอัลตราซาวน์โดยวิธีส่องกล้อง (endoscopic ultrasound) หรือ MRI เพื่อดูว่ามะเร็งทวารหนักมีความลึกมากแค่ไหน มีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองหรือยัง หรืออัลตราซาวน์อาจจะช่วยนำวิธีตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อจากต่อมน้ำเหลืองไปตรวจด้วย
การรักษา
มีปัจจัยหลายอย่างที่มีอิทธิพลต่อการรักษา ถ้ามะเร็งไม่ลุกลามผ่านผนังทวารหนัก และไม่แพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง แบบนี้เป็นมะเร็งระยะเริ่มแรกระยะ 1 (หรือ stage 1) มะเร็งที่ลุกลามผนังทวารหนักแต่ยังไม่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองเป็นมะเร็งระยะ 2 ถ้ามีการแพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองด้วยเรียกว่า ระยะที่ 3 มะเร็งที่แพร่กระจายไปที่อื่นๆ เรียกว่า ระยะ 4
การผ่าตัดเอามะเร็งออกเป็นวิธีการรักษามะเร็งทวารหนักทุกระยะ แต่การผ่าตัดมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับว่ามะเร็งอยู่ตรงไหน อยู่สูงหรือต่ำใกล้ชิดกล้ามเนื้อหูรูดหรือไม่อย่างไร
สำหรับมะเร็งที่ลุกลามผนังหรือผ่านผนังทวารหนักการผ่าตัดต้องตัดก้อนมะเร็งออกพร้อมกับเนื้อเยื่อที่ไม่เป็นมะเร็งโดยรอบ ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ ๆ ก็ได้รับการตัดออกด้วย เมื่อตัดอย่างว่าแล้วบางกรณีศัลยแพทย์สามารถเย็บต่อลำไส้ใหญ่เข้ากับทวารหนักส่วนปลายที่ปราศจากมะเร็ง ถ้าทำอย่างนั้นได้เมื่อแผลหายแล้วคนไข้จะยังสามารถถ่ายอุจจาระทางก้นได้ แต่ถ้าทำอย่างนั้นไม่ได้ เช่น ทำยาก มีความเสี่ยงที่การต่อลำไส้จะไม่ติดคือรั่ว ศัลยแพทย์ก็จะทำการผ่าตัดเอารูทวารออกด้วยพร้อมทั้งทำการสร้างรูทวารใหม่ให้เปิดออกที่หน้าท้อง (colostomy)
นอกจากการผ่าตัดแล้ว ในกรณีมะเร็งทวารหนักเป็นมากลุกลามมากแพทย์ผ่าตัดไม่ได้ แพทย์จะให้เคมีบำบัดและการฉายแสงร่วมด้วย ถ้ามะเร็งไม่ได้แพร่กระจายไปยังที่ห่างไกลจากต้นตอ กา รให้เคมีบำบัดและการฉายแสงจะเป็นการรักษาให้ก้อนมะเร็งลดขนาดลงก่อนทำการผ่าตัดเอามันออก โดยทั่วไปแนะนำการให้เคมีบำบัดและฉายแสงก่อนการผ่าตัด ในรายที่เป็นมะเร็งทวารหนักระยะ 2 และ 3 และหลังจากผ่าตัดแล้วยังให้เคมีบำบัดเพิ่มเติมด้วย
เนื่องจากมะเร็งทวารหนักเป็นโรคที่รักษาให้หายได้ดีถ้าตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะต้น ๆ ของโรค ถ้าท่านมีอาการและอาการแสดงอย่างที่กล่าวถึงข้างต้นและอายุอยู่ในเกณฑ์เสี่ยงก็ควรปรึกษาแพทย์
ขอบคุณที่มา
Resource: HealthToday Magazine, No.198 October 2017
นพ.นริศ เจนวิริยะ ศัลยแพทย์