ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนส่วนใหญ่ละเลยการตรวจเช็กโรคนี้ ทำให้มักพบเมื่อป่วยเข้าสู่ระยะท้ายๆ แล้ว ดังนั้นการรู้เท่าทันมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยการดูแลใส่ใจ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหมั่นตรวจเช็กตั้งแต่เนิ่นๆ คือหนทางการป้องกันโรคได้ในระยะยาว
กลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
กลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่คือ คนที่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ และผู้ที่มีพฤติกรรมตามปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
ปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการ รพ.วัฒโนสถ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งลำไส้ กล่าวว่า สาเหตุของมะเร็งลำไส้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นมะเร็งลำไส้ ได้แก่
- ทานเนื้อสัตว์ติดมันและเนื้อแดงในปริมาณมาก
- ทานเนื้อสัตว์ที่ผ่านขบวนการปรุงแต่ง (ไส้กรอก เบคอน แฮม เป็นต้น) ในปริมาณมากๆ
- ทานผักผลไม้น้อยหรือไม่ทานเลย
- ขาดการออกกำลังกาย
- โรคอ้วน
- สูบบุหรี่จัด
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- พันธุกรรม หากเป็นผู้ที่มีประวัติครอบครัวมีมะเร็งลำไส้ใหญ่ ติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่ รวมทั้งมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมบางชนิด จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้
อาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
อาการของโรคในระยะแรกอาจจะไม่มีอาการแสดงที่จำเพาะ โดยอาการที่บ่งบอกว่าอาจจะเป็นมะเร็งลำไส้ ได้แก่
- ขับถ่ายผิดปกติ ท้องผูกสลับท้องเสีย มีเลือดออกทางทวาร อุจจาระปนเลือด หรืออุจจาระมีลักษณะเปลี่ยนไปเป็นเส้นเล็กลง
- ปวดท้อง โดยลักษณะการปวดขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนและตำแหน่งที่พบ เช่น ถ้าก้อนโตด้านหน้าจะปวดเจ็บคล้ายคนเป็นไส้ติ่ง ถ้ามีก้อนบริเวณลำไส้ใหญ่ด้านซ้ายจะมีอาการลำไส้อุดตัน ปวดท้องคล้ายลำไส้ถูกบิด เป็นต้น
การตรวจโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ สามารถทำได้โดย ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทวารหนัก (Colonoscopy) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์โดยการสวนแป้งแบเรี่ยม ตรวจเลือดเพื่อค้นหามะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยวัดระดับ Carcinoembryonic Antigen (CEA) ตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ เช่น เอกซเรย์ทรวงอก CT Scan MRI หรือส่องกล้องคลื่นความถี่สูง (EUS)
การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้น ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค ได้แก่
ระยะที่ 0 (Stage 0) ระยะก่อนมะเร็ง เซลล์มะเร็งจะอยู่บริเวณผนังลำไส้ สามารถรักษาได้โดยการส่องกล้องเพื่อเข้าไปตัดชิ้นเนื้อออก
ระยะที่ 1 (Stage I) – ระยะที่ 2 (Stage II) เซลล์มะเร็งลุกลามเข้าไปบริเวณผนังกล้ามเนื้อของลำไส้ใหญ่ แต่ยังไม่แพร่กระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง สามารถรักษาได้โดยผ่าตัดตามตำแหน่งที่พบในลำไส้ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ตรวจพบในระยะที่ 2 จะมีการตรวจยีน (Genome Testing) เพิ่มเติม เพื่อพิจารณาว่าจำเป็นต้องให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ร่วมด้วยหรือไม่ เพราะการรักษาด้วยเคมีบำบัดช่วยลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้
ระยะที่ 3 (Stage III) เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังบริเวณต่อมน้ำเหลือง ต้องมีการตรวจยีน (Genome Testing) ร่วมด้วย สามารถรักษาโดยการให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) แต่จะมีการฉายรังสี (Radiotherapy) ร่วมด้วยในกรณีที่พบบริเวณลำไส้และทวารหนัก
ระยะที่ 4 (Stage IV) เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปทั่วทั้งต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ปอด กระเพาะอาหาร รังไข่ ต้องรักษาเริ่มต้นโดยการให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) ร่วมกับการฉายรังสี (Radiotherapy) แล้วตามด้วยการผ่าตัดก้อนมะเร็งในตำแหน่งที่พบรวมถึงตำแหน่งที่ลุกลามไปยังอวัยวะใกล้เคียง
การผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
การผ่าตัดผ่านกล้องเพื่อรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ (Laparoscopic Surgery)
ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้องคือ
- แผลเล็ก
- เสียเลือดลดลง
- เจ็บน้อย
- ฟื้นตัวไว
- ลดการเกิดผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อที่แผล
- ทำให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น
แต่ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ควรจะเข้ารับการผ่าตัดแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญเพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดีและเหมาะสมกับคนไข้แต่ละบุคคล โดยกล้องที่ใช้ในการผ่าตัด เป็นกล้องที่สร้างขึ้นเพื่อใช้งานทางการแพทย์ ซึ่งจะมีประสิทธิภาพความละเอียดและความคมชัดสูง และสามารถสร้างภาพให้เป็นภาพ 3 มิติ ทำให้ศัลยแพทย์เห็นภาพได้ชัดเจน การผ่าตัดสามารถทำได้อย่างแม่นยำและช่วยลดโอกาสการเกิดผลแทรกซ้อนหลังผ่าตัด
วิธีลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทวารหนัก (Colonoscopy) แนะนำให้ตรวจเป็นประจำทุกๆ 5-10 ปี ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป จะช่วยให้สามารถรับมือได้ทันท่วงที แต่ถ้าหากมีคนในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคนี้ แนะนำให้มาตรวจตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป เพื่อตรวจหาความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ อีกวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร พยายามหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารที่ผ่านกรรมวิธีแปรรูป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ หันมาให้ความใส่ใจกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ การรับประทานผักและผลไม้ รวมถึงการออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวันร่วมกับการทำจิตใจให้บริสุทธิ์ สิ่งเหล่านี้ที่มีส่วนสำคัญช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและห่างไกลจากโรคมะเร็ง