หนึ่งในโรคร้ายคู่คนไทยคือ โรคหัวใจ
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคหัวใจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ส่วนมากมักจะเกิดกับผู้ที่มีช่วงอายุวัยกลางคนขึ้นไปและเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยเฉพาะหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจคือคอเลสเตอรอลส่วนมากจะเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง ไม่ค่อยออกกำลังกาย ดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่จัด ปัญหาสุขภาพเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะคอเลสเตอรอลสูง เช่น เบาหวาน
นพ.เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คอเลสเตอรอลเป็นไขมันที่พบได้ในเลือด ซึ่งมีแหล่งที่มาจาก 2 ที่คือ 1.ภายในร่างกาย โดยสามารถสังเคราะห์ขึ้นได้ที่ตับ 2.ภายนอกร่างกายคือ จากการรับประทานอาหารในแต่ละวัน ซึ่งถ้ามีคอเลสเตอรอลในเลือดสูงจะไปเกาะสะสมที่ผนังหลอดเลือดทำให้อักเสบ เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งเมื่อมีการสะสมของไขมันเพิ่มมากขึ้น จะทำให้หลอดเลือดตีบตัน ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ นอกจากนี้ในบางรายอาจมีการปริแตกของผนังด้านในของหลอดเลือดหัวใจ ทำให้มีลิ่มเลือดมาอุดตันส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายทำให้เสีย ชีวิตได้
สำหรับการป้องกันและลดคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด คือ 1.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารและขนมที่มี เนย ชีส ครีม รวมถึงเค้ก เบเกอรี่ เป็นต้น 2.รับประทานอาหารที่มีเส้นใยให้มากขึ้น เช่น ข้าวซ้อมมือ ผัก ผลไม้น้ำตาลน้อย 3.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย ครั้งละ 30 นาที 3-5 ครั้ง/สัปดาห์ 4.ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม 5.งดดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดและงดสูบบุหรี่
ขอบคุณที่มา สยามรัฐ