โรคไต

เมื่อไรผู้ป่วยโรคไต ถึงควร “ผ่าตัดเปลี่ยนไต”

Views

โรคไตเป็นโรคเรื้อรังที่ใช้เวลารักษาอย่างยาวนาน แต่เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ก็สามารถเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนไตได้

หน้าที่ของไต

คนเราเกิดมามีไต 2 ข้าง หน้าที่สำคัญของไต คือ ขับของเสียต่างๆ ที่อยู่ในร่างกายออกทางปัสสาวะ ทำให้เลือดและอวัยวะทุกส่วนในร่างกายคนเราสะอาด ของเสียที่ไตต้องขับออกส่วนหนึ่งมาจากการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย อีกส่วนหนึ่งมาจากอาหาร

หากไม่มีไต เราจะเป็นอย่างไร?

ถ้าคนเราไม่มีไตหรือไตหยุดทำงาน ของเสียเหล่านี้จะคั่งค้างอยู่ในกระแสเลือดและอวัยวะในร่างกาย ทำให้เลือดและอวัยวะในร่างกายสกปรก ในที่สุดอวัยวะต่างๆ จะหยุดทำงาน ผู้ป่วยจะเสียชีวิต

สาเหตุของโรคไต

นพ. วิรุฬห์ มาวิจักขณ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า สำหรับสาเหตุของโรคไตในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มาจากโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งสัมพันธ์กับความอ้วน ไขมันสูง กินอาหารเค็ม และขาดการออกกำลังกาย ซึ่งสาเหตุเหล่านี้สามารถป้องกันและรักษาไม่ให้ลุกลามจนกลายเป็นโรคไตวายได้

วิธีรักษาโรคไต

ในวงการแพทย์เรามีวิธีการรักษาผู้ป่วยไตวาย ให้มีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ วิธีรักษาโรคไตวายเรื้อรังมี 3 วิธี ได้แก่

  1. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม
  2. การล้างช่องท้องด้วยน้ำยา
  3. การผ่าตัดเปลี่ยนไต ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนไตเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด

เมื่อไรถึงควรผ่าตัดเปลี่ยนไต?

ในระยะแรกที่ไตเริ่มเสื่อมจะไม่มีอาการให้เห็น ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกว่าตัวเองมีความผิดปกติ ส่วนใหญ่จะเกิดอาการก็ต่อเมื่อไตเสื่อมไปแล้วกว่า 80% ซึ่งเมื่อถึงระยะนี้แล้ว การรักษาที่ดีที่สุดคือ การผ่าตัดเปลี่ยนไต เพราะจะสามารถทดแทนไตเดิมได้เหมือนปกติ โดยระดับของไตที่เสื่อมลง สามารถวัดได้จากการตรวจของแพทย์เท่านั้น

วิธีผ่าตัดเปลี่ยนไต

การผ่าตัดเปลี่ยนไตทำได้ 2 วิธี คือ

  1. การผ่าตัดเปลี่ยนไตจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตสมองตาย ซึ่งขณะที่ผู้เสียชีวิตยังมีชีวิตอยู่ได้เคยยื่นแสดงความจำนงต้องการบริจาคอวัยวะให้กับศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทยไว้ หรือในกรณีที่ผู้เสียชีวิตไม่เคยยื่นแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะมาก่อน แต่ครอบครัวต้องการบริจาคอวัยวะ ก็สามารถยื่นแสดงความจำนงต่อศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย แทนผู้เสียชีวิตได้ 
  2. การผ่าตัดเปลี่ยนไตจากผู้บริจาคที่มีชีวิต ได้แก่จากญาติพี่น้องร่วมสายโลหิต หรือจากคู่สมรส กรณีที่เป็นผู้บริจาคไตที่เป็นญาติพี่น้อง กฎหมายของประเทศไทยกำหนดว่าต้องมีการพิสูจน์ความสัมพันธ์กันทางสายเลือดก่อน ส่วนคู่สมรสที่จะบริจาคไตให้กันได้ ต้องจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายมาอย่างน้อย 3 ปี หรือต้องมีบุตรด้วยกันที่สามารถตรวจพิสูจน์ความสัมพันธ์ของคู่สมรสได้

วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคไตวาย

  1. ควบคุมอาการของโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันสูง อ้วน ให้ร่างกายอยู่ในภาวะปกติโดยเร็ว
  2. เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  3. ลดอาหารที่มีไขมันสูง ลดอาหารจำพวกแป้ง ลดอาหารเค็มจัด
  4. ทานผักผลไม้ให้มากขึ้น
  5. เลือกรับประทานข้าวกล้องแทนข้าวขาว
  6. ทานเนื้อปลา
  7. ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์มาตรฐาน
  8. งดสูบบุหรี่และงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  9. ตรวจเช็คร่างกาย ตรวจเบาหวาน ความดัน รวมถึงไขมันในเลือด


การเอาใจใส่ระวังรักษาสุขภาพ การป้องกันและการตรวจสุขภาพแต่เนิ่นๆ อย่างสม่ำเสมอ ก็จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้อย่างดี

ขอขอบคุณ https://www.sanook.com

ข้อมูล :นพ.วิรุฬห์ มาวิจักขณ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า

ภาพ :iStock

Leave a Reply