ในประเทศไทยจะมีผู้ป่วยโรคไตเป็นจำนวนมาก การรักษาจึงมีทางเลือกมากมายไม่ว่าจะเป็นการรักษากับทางโรงพยาบาลตามปกติ รวมไปถึงแพทย์แผนทางเลือกที่เริ่มเป็นที่นิยมของผู้ป่วยชาวไทยที่เชื่อว่าการใช้ธรรมชาติบำบัด จะเป็นหนทางที่ทำให้ร่างกายหายจากโรคร้ายได้มากกว่า แต่พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กล่าวว่า ยังไม่มีสมุนไพรตัวใด ที่มีการวิจัยในมนุษย์โดยวิธีการวิจัยที่เหมาะสม แล้วสามารถพิสูจน์ได้ว่าช่วยให้การทำงานของไตดีขึ้น และยังต้องระวังการใช้สมุนไพรที่มีกระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งอาจมีการใช้สมุนไพรผิดชนิดและมีสิ่งหรือสารปนเปื้อน เช่น สเตียรอยด์ สารหนู แคดเมียม ซึ่งอาจมีผลต่อโรคไตได้
ผศ.พญ.สุภินดา ศิริลักษณ์ แพทย์อายุรกรรมโรคไต คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า สมุนไพรที่มีผลต่อการทำงานของไต โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยแล้ว เช่น
- เห็ดหลินจือ เป็นสมุนไพรจีนที่ดังมากในกลุ่มผู้ป่วยโรคไต แต่ที่จริงหากผู้ป่วยที่กำลังฟอกเลือดแล้วรับประทานเห็ดหลินจือเข้าไป จะทำให้ไตเสื่อมไตวายได้
- มะม่วงหาวมะนาวโห่ อาจมีผลทำให้ไตขับสารโพแทสเซียมออกมาไม่ทัน ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและอาจเสียชีวิตได้
- มะเฟือง มีกรดออกซาเลตหรือกรดออกซาลิก ทำให้เกิดไตวายเฉียบพลัน
- ตะลิงปลิง และ ป๋วยเล้ง กินเยอะ อาจทำให้ไตวายเฉียบพลัน
- แครนเบอรี่ ส่วนใหญ่มักทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รับประทานมากทำให้เกิดนิ่ว และผลการทำงานของไตผิดปกติ
- ไคร้เครือ เพราะทำให้ไตวายและเป็นมะเร็งระบบปัสสาวะ
- สมุนไพรกลุ่มใบชา ปอกะบิด หรือกาแฟบางชนิดที่นำมาแปรรูปในโฆษณาในเรื่องลดน้ำหนัก จะส่งผลต่อค่าของตับและไตจะสูงขึ้น นอกจากนี้ยังต้องระวังการปนเปื้อนสารอันตรายจากกระบวนการผลิตด้วย ซึ่งจากการสุ่มตรวจพบปนเปื้อนสเตียรอยด์ถึง 30% และยังพบสารหนู แคดเมียม ซึ่งเป็นโลหะที่มีผลต่อโรคไต
- โสม หากทานไม่ถูกวิธี อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง
- น้ำลูกยอ อันตรายเพราะมีอาจทำให้มีโพแทสเซียมในเลือดสูง เป็นอันตรายต่อไต
- ชะเอมเทศ อาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูง
- หญ้าหนวดแมว อาจทำให้มีโพแทสเซียมในเลือดสูง เป็นอันตรายต่อไต
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคไตนับเป็นปัญหาของสังคมไทยสูงขึ้น ที่ผ่านมาผู้ป่วยแสวงหาความรู้ในการรักษาโรค แต่ไปเชื่อความรู้ที่ไม่ถูกต้องจำนวนมาก เช่น ผู้ป่วย 1 คน เสียเงินจากความเชื่อที่ผิดๆ เกี่ยวกับการรักษาโรคเรื้อรังเกือบล้านบาท นอกจากไม่หายแล้ว อาการยังแย่ลงด้วย ดังนั้นเพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ยืนยาว อยากให้ผู้ป่วยมีความใกล้ชิดกับแพทย์เพื่อให้ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง อย่าเชื่อสื่อต่างๆ ที่ไม่ถูกต้อง
ขอขอบคุณ https://www.sanook.com
ข้อมูล :CHULA Kidney CLUB – รักษ์ไตจุฬา,สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย เครือข่ายลดบริโภคเค็ม ร่วมกับมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยและหน่วยงานองค์กรต่างๆ
ภาพ :iStock