หลายคนที่รู้จัก เริ่มเรียงคิวกันเข้ารับการผ่าตัดเอาก้อนนิ่วออกไปจากถุงน้ำดี บางรายถึงขั้นต้องตัดถุงน้ำดีออก เพื่อเป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ค่าผ่าตัดก็ไม่ใช่ย่อย ผ่าหน้าท้องก็ไม่แพง ใช้สิทธิประกันสังคมได้ แต่ถ้าผ่าตัดแบบส่องกล้อง ก็ต้องออกค่ารักษาเองหลายหมื่นเลยทีเดียว
หากใครไม่อยากจะไปเรียงคิวผ่าตัดกับเขาด้วย แถมยังเสียเงินโดยใช่เหตุไปอีกหลายหมื่น เรามาปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นนิ่วในถุงน้ำดีกันดีกว่าค่ะ
ปัจจัยเสี่ยงของนิ่วในถุงน้ำดี
– พันธุกรรม หากพบสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นนิ่วในถุงน้ำดีมาก่อน คุณก็อาจจะมีความเสี่ยงไปด้วย
– เป็นโรคอ้วน หรืออยู่ในภาวะอ้วน เพราะคนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน อาจมีปริมาณของคอเลสเตอรอลในน้ำดีมากกว่าปกติ
– ผู้หญิงที่ทานยาคุมกำเนิด หรือให้ฮอร์โมนทดแทน อาจส่งผลต่อปริมาณคอเลสเตอรอลในถุงน้ำดี และลดการเคลื่อนตัวของถุงน้ำดีได้
– อาการข้างเคียงจากโรคเบาหวาน
– ทานอาหารที่มีไขมันสูง กากใยอาหารต่ำ หรือการทานเนื้อติดมันมาก และไม่ทานผักผลไม้นั่นเอง
– ลดน้ำหนักไม่ถูกวิธี
ลดน้ำหนักไม่ถูกวิธี เสี่ยงนิ่วในถุงน้ำดี?
การลดน้ำหนักที่ไม่ถูกวิธีที่เราอาจพบได้บ่อยๆ คือการที่เราทำให้ร่างกายลดน้ำหนักลงอย่างฮวบฮาบรวดเร็วมากเกินไป ทำให้ตับหลั่งคอเลสเตอรอลออกมามากขึ้น ถุงน้ำดีก็จะบีบตัวน้อยลง น้ำดีจึงค้างอยู่ในถุงน้ำดีนานมากขึ้น โอกาสที่จะเกิดการตกตะกอนจนกลายเป็นนิ่วก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
อาการของนิ่วในถุงน้ำดี
– ปวดท้องอย่างรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณที่มีถุงน้ำดี คือช่วงท้องส่วนบน หรือด้านขวา อาจจะปวดราว 15 นาที หรือปวดนานหลายชั่วโมงได้ อาจจะมีอาการปวดร้าวไปถึงกระดูกสะบัก หรือไหล่ขวาได้
– คลื่นไส้ อาเจียน
– ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย แสบร้อนยอดอก มีลมในกระเพาะอาหาร และมีอาการเสียดแน่นท้อง โดยเฉพาะหลังทานอาหารมันๆ
– หากเป็นถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน อาจมีไข้ ปวดท้องใต้ชายโครงขวา อาจจะตัวเหลือง และปัสสาวะสีเข้มได้เช่นกัน
วิธีป้องกันอาการนิ่วในถุงน้ำดี
- ไม่ทานอาหารไขมันสูง เช่น เนื้อปิ้งย่าง ขาหมู หมูสามชั้น เบคอน ทานอาหารที่มีกากใยอาหารสูง เช่น ผัก ผลไม้ต่างๆ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดมาตรฐาน
- ตรวจสุขภาพ วัดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด อย่าให้เกิดมาตรฐานเช่นกัน
- อย่าลดน้ำหนักอย่างหักโหม ค่อยๆ ลด เดือนละ 3-4 กิโลกรัมต่อเดือนก็พอ
ถุงน้ำดีเป็นเพียงที่พักน้ำดีที่ปล่อยออกมาจากตับ เพื่อช่วยในการย่อยอาหารจำพวกไขมันเท่านั้น ดังนั้นหากผู้ป่วยบางรายที่ถูกตัดถุงน้ำดีออกไป จะยังคงใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ประสิทธิภาพในการย่อยอาหารประเภทไขมันอาจจะน้อยลงเล็กน้อย เพราะความเข้มข้นของน้ำดีไม่เท่าเดิม น้ำดีไหลจากตับเข้าสู่ลำไส้เล็กโดยตรงโดยไม่ได้ไปเก็บเอาไว้ที่ถุงน้ำดี แต่ถึงกระนั้นการลดการทานอาหารประเภทไขมัน (เลว) ก็ยังเป็นหลักสำคัญที่ช่วยให้ตับไม่ทำงานหนักเกินไป ถ้าไม่อยากให้ร่างกายเหนื่อยจนเกินไป เริ่มต้นทานอาหารที่ช่วยให้ย่อยกันได้ง่ายๆ ดูจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดค่ะ