รู้ทัน-โรค

ลดความอ้วนด้วยการอดอาหาร เสี่ยงโรค “ถุงน้ำดีข้น”

Views

เป็นเรื่องที่ดีที่เราจะลุกขึ้นมาดูแลตัวเองโดยใครก็ตามที่เป็นโรคอ้วน หรือน้ำหนักเกินมาตรฐาน ตั้งปณิธานว่าจะลดน้ำหนักลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติให้ได้ แต่เป็นเรื่องน่าเสียดายที่หลายคนพยายามหาทางลัดโดยใช้วิธีลดน้ำหนักแบบผิดๆ โดยเฉพาะการอดอาหาร ที่นอกจากจะไม่ได้ผลในระยะยาวแล้ว ยังเผลอทำร้ายระบบการทำงานของอวัยวะภายในร่างกายโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย

“ถุงน้ำดีข้น” จากการอดอาหาร

เมื่อเราเริ่มต้นอดอาหาร เราจะไม่มีไขมันลงไปที่กระเพาะอาหาร และทางเดินอาหารส่วนต้น และเมื่อไม่มีอาหารที่มีไขมันลงไปกระตุ้นน้ำดี จึงมีความเสี่ยงที่ถุงน้ำดีจะเกิดการตกตะกอนขึ้นได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะ “ถุงน้ำดีข้น” ได้

 

ถุงน้ำดี คืออะไร?

ถุงน้ำดี เป็นอวัยวะหนึ่งอยู่บริเวณใต้ตับตรงชายโครงข้างขวา มีลักษณะเป็นถุงสีขาวเล็กๆ ขนาดเท่าไข่ไก่ลูกเล็ก มีหน้าที่รับน้ำดีมาจากตับ แล้วรอส่งต่อไปยังลำไส้เล็กเพื่อช่วยย่อยอาหารที่มีไขมัน เพื่อให้ไขมันแตกตัวเป็นเม็ดที่มีขนาดเล็กลง จากนั้นจึงให้ตับอ่อนย่อยต่อจนสามารถดูดซึมไปใช้งานในร่างกายได้

 

ถุงน้ำดีข้น คืออะไร?

นพ.พิรัตน์ โลกาพัฒนา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์ ระบุว่า ตามปกติแล้ว ถุงน้ำดีจะพยายามบีบตัวจนหมดถุงเพื่อเอาน้ำดีจากตับออกมาย่อยอาหารที่เป็นไขมันจนหมดถุง แต่หากมีปัญหาบางอย่างที่ทำให้ถุงน้ำดีไม่สามารถบีบตัวเอาน้ำดีออกมาจากถุงจนหมดได้ จะมีน้ำดีที่ตกค้างอยู่ในถุงน้ำดี หินปูน และคอเลสเตอรอลในน้ำดีจึงตกผลึกกลายเป็นก้อนนิ่วเล็กๆ ที่ทำให้กลายเป็นนิ่วในถุงน้ำดีตามมาได้ แต่ในบางครั้งถ้าไม่ได้กลายเป็นนิ่วก้อนๆ อาจกลายเป็นเม็ดทราย หรือคล้ายโคลนได้ อาการแบบนี้เรียกว่าภาวะ “ถุงน้ำดีข้น”

 

อาการของ ถุงน้ำดีข้น?

ตามปกติแล้วคนที่พบความผิดปกติของถุงน้ำดี มักจะพบเมื่อเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี โดยอาจจะยังไม่มีอาการใดๆ แต่หากเป็นอาการเริ่มต้น จะมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ รู้สึกเหมือนอาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ เรอบ่อย แต่หากมีก้อนนิ่ว หรือตะกอนในถุงน้ำดีที่เคลื่อนตัวไปอุดท่อส่งน้ำดี อาจมีอาการปวดท้องนิดอย่างรุนแรงฉับพลันเป็นพักๆ บริเวณใต้ลิ้นปี่ ร้าวมาที่ไหล่ขวา หรือสะบักขวา หรืออาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

 

 

ปัจจัยเสี่ยงของภาวะถุงน้ำดีข้น

– การอดอาหาร เมื่อไขมันลงไปที่กระเพาะอาหาร และทางเดินอาหารส่วนต้น และเมื่อไม่มีอาหารที่มีไขมันลงไปกระตุ้นน้ำดี จึงมีความเสี่ยงที่ถุงน้ำดีจะเกิดการตกตะกอน

– ผู้หญิงตั้งครรภ์ราว 15-30% อาจมีความเสี่ยงต่อภาวะถุงน้ำดีข้น เพราะช่วงที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ รังไข่จะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนออกมามากขึ้น ซึ่งฮอร์โมนนี้จะไปกระตุ้นร่างกายให้ผลิตคอเลสเตอรอลเพิ่มมากขึ้นไปด้วย จึงทำให้มีความเสี่ยงในการที่คอเลสเตอรอลในน้ำดีจะตกตะกอนได้ง่ายขึ้นไปด้วย

– อยู่ในระหว่างบริโภคยาปฏิชีวนะบางชนิด ที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของถุงน้ำดี หรือกลุ่มยาที่ใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร

– ผู้ป่วยโรคเบาหวาน จะมีระบบไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง อาจทำให้ถุงน้ำดีบีบตัวได้น้อย จึงเสี่ยงเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้

– ผู้ป่วยโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ทำให้มีปริมาณคอลเสเตอรอลในเลือดสูง และเพิ่มความเสี่ยงในการปตกตะกอนในถุงน้ำดีได้

– พันธุกรรมจากครอบครัว ใครที่เคยมีภาวะนี้ อาจส่งผลมาถึงรุ่นลูกหลานได้

– พฤติกรรมการกินอาหารที่ไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ไขมันจากเนื้อสัตว์ เนย ชีส มันฝรั่งทอด กะทิ น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว

 

กินน้ำมันพืช เสี่ยงถุงน้ำดีข้นหรือไม่?

เมื่อการกินไขมันมากๆ อาจทำให้มีความเสี่ยงต่อภาวะถุงน้ำดีข้น แล้วถ้าหากทานน้ำมันพืชมากๆ จะมีความเสี่ยงต่อภาวะนี้มากขึ้นหรือไม่ คำตอบคือ ไม่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เพราะไขมันจากพืชที่ทานเข้าไป จะถูกย่อยโดยน้ำดีจากถุงน้ำดีที่ขับออกมา ก่อนจะแตกตัวและถูกย่อยอีกครั้งด้วยตับอ่อน จนดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย บางส่วนที่ไม่ได้ถูกดูดซึมก็โดนขับออกจากร่างกายผ่านอุจจาระอยู่ดี แต่หากจะส่งผลในทางอ้อม คือการทานน้ำมันมากจนปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้นมาก จนเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้น้ำดีตกตะกอนในถุงน้ำดีได้มากกว่า

ดังนั้น วิธีป้องกันภาวะถุงน้ำดีข้น คือการลดการบริโภคไขมันอิ่มตัว ไม่อดอาหารอย่างสิ้นเชิง ทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสม และครบทั้ง 5 หมู่ ออกกำลังกายเป็นประจำ รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และตรวจร่างกายอยู่เป็นประจำทุกปี เพื่อเช็กสุขภาพของอวัยวะภายในร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอยู่เรื่อยๆ หากมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ หรือปวดท้องเป็นๆ  หายๆ บ่อย ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโดยละเอียดอีกครั้ง