รู้หรือไม่ว่าจากสถิติปี 2558 พบว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคที่ถูกวินิจฉัยพบมากที่สุดในเพศหญิงสูงเป็นอันดับที่ 3 ในกลุ่มโรคมะเร็ง และถูกวินิจฉัยพบมากที่สุดในเพศชายสูงเป็นอันดับที่ 2 ในกลุ่มของโรคมะเร็ง และนับเป็นโรคที่ตรวจพบในระยะแพร่กระจาย (ระยะที่ 4) มากเป็นอันดับ 1 แล้วอะไรคือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกันนะ
ทางเดินอาหาร ระบบสำคัญที่หล่อเลี้ยงร่างกาย
จากการศึกษาพบว่า ถ้าเรามีระบบการย่อยอาหารที่ดี สุขภาพก็จะดีตามไปด้วย ซึ่งกระบวนการย่อยอาหารจะเริ่มต้นจาก การเปลี่ยนอาหารที่กินเข้าไปให้มีโมเลกุลขนาดเล็กลงและจะดูดซึมสารอาหารเข้าสู่เซลล์ต่างๆ ส่วนที่เหลือจะเป็นกากอาหาร โดยลำไส้ใหญ่จะเก็บกากอาหารไว้นาน 12-24 ชั่วโมง ถ้าเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก็จะช่วยลดภาระของระบบย่อย ลดปัญหาอาหารไม่ย่อย ลดของเสียคั่งค้างในร่างกายนานเกินไป ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุโรคร้ายอื่นๆ
กว่า 70% ของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายคนเรา อยู่ที่ระบบทางเดินอาหาร
กระบวนการย่อยในร่างกายมี 2 วิธีการคือ
1. การย่อยเชิงกล (Mechanical Process) เป็นการเคลื่อนไหวอวัยวะของระบบทางเดินอาหาร เช่น การรีดอาหารลงไปในหลอดอาหาร การเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้
2. การย่อยเชิงเคมี (Chemical Process) เป็นการเปลี่ยนแปลงขนาดโมเลกุลของสารอาหารให้มีขนาดเล็กลง โดยอาศัยเอนไซม์หรือน้ำย่อย
iStock
หนึ่งในตัวช่วยที่สำคัญของระบบการย่อยก็คือ “จุลินทรีย์”
จุลินทรีย์เป็นเพื่อนสนิทติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด เป็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ (GUT Microbiota) เจริญเติบโตไปพร้อมกับตัวเรา มีหน้าที่สำคัญคือ เป็นหน่วยรบต่อสู้กับแบคทีเรียตัวร้าย ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้เป็นปกติ สร้างสมดุลในระบบทางเดินอาหาร และช่วยให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ
อาหารที่ทำให้จุลินทรีย์เติบโตได้ดี จะมีอยู่มากในอาหาร 2 ประเภท
1. อาหารจำพวกไฟเบอร์ หรือน้ำตาลเชิงซ้อน ประกอบด้วย oligofructose, fructo-oligosaccharides และ inulin นี่แหละอาหารสุดโปรดของแบคทีเรียในลำไส้ หรือที่เราเรียกกันว่า พรีไบโอติก ซึ่งจะพบมากในอาหารจำพวก กล้วย เห็ด หน่อไม้ฝรั่ง หัวหอม ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เล่ย์
2. อาหารที่มีโพรไบโอติกหรืออาหารที่มีการใส่จุลินทรีย์เข้าไป เช่น โยเกิร์ต ที่จะช่วยสร้างสมดุลในระบบทางเดินอาหาร ช่วยเรื่องระบบขับถ่าย และยังมีข้อมูลวิจัยจากต่างประเทศสนับสนุนว่า อาจช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อีกด้วย
ท้องผูก… จุดเริ่มต้นเล็กๆ ของปัญหาใหญ่
อย่าปล่อยให้อุจจาระค้างในระบบขับถ่ายนานเกิน 3 วัน เพราะจะทำให้อุจจาระแข็ง ถ่ายได้ยากขึ้น อุจจาระที่แข็งเมื่อเสียดสีกับทวารหนักบ่อยๆ อาจทำให้เกิดแผล ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคริดสีดวงและลำไส้อีกด้วย
– อย่าปล่อยให้ท้องผูกเรื้อรัง
ฝึกนิสัยขับถ่ายที่ดี หมั่นออกกำลังกาย ดื่มน้ำให้เพียงพอ เลือกกินอาหารที่ช่วยสร้างสมดุลให้จุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหาร เช่น ผัก ผลไม้ที่มีไฟเบอร์สูง จะช่วยทำให้การขับถ่ายเป็นไปอย่างสมบูรณ์ ไม่มีปัญหา
iStock
– สังเกตความผิดปกติ หยุดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่
ระบบขับถ่ายอุจจาระผิดปกติไป เช่น ท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด
1. ปวดท้อง ปวดเบ่ง หรือปวดทวารเวลาถ่ายอุจจาระ
2. ภาวะซีด เกิดจากมีเลือดออกจากก้อนมะเร็ง
3. เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลงทั้งที่ไม่ได้ควบคุมน้ำหนัก
4. อาการของโรคจากการแพร่กระจายไปสู่อวัยวะต่างๆ เช่น เมื่อไปสู่ตับจะปวดชายโครงด้านขวา และไปสู่เยื่อบุช่องท้อง จะเกิดอาการท้องมาน เป็นต้น
– เพิ่มจุลินทรีย์ที่ดีให้ลำไส้
มะเร็งลำไส้ใหญ่กลายเป็นโรคร้ายแรงลำดับต้นๆ เพราะไม่มีสัญญาณบอกเหตุใดๆ หมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ใส่ใจดูแลสุขภาพและเติมจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นประจำ หรือรับประทานผัก ผลไม้ และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แค่นี้ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่กันทุกคน