เมื่อขับถ่ายแล้วมีเลือดออกหลายคนมักคิดว่าเป็นโรคริดสีดวงทวาร และไม่เคยคาดคิดว่าเป็นสัญญาณเตือนของเนื้องอกหรือโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ทั้งที่อาการของริดสีดวงทวารบางอาการมีความคล้ายคลึง ดังนั้นการสังเกตอาการและไม่ชะล่าใจในการตรวจวินิจฉัยกับแพทย์เฉพาะทางจะช่วยให้รักษาได้ถูกวิธีก่อนสายเกินแก้
รู้จักริดสีดวงทวาร
ริดสีดวงทวาร (Haemorrhoid) เป็นภาวะที่หลอดเลือดดำบริเวณทวารหนักมีการโป่งพอง บวม ซึ่งสามารถเป็นพร้อมกันหลายอันและหลายตำแหน่ง โดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ
1) ริดสีดวงทวารภายใน จะเกิดขึ้นภายในทวารหนัก โดยหลอดเลือดที่โป่งพองอาจจะไม่โผล่ออกมาให้เห็น และไม่สามารถคลำได้ จะตรวจพบต่อเมื่อส่องกล้องเท่านั้น ซึ่งมี 4 ระยะของโรคนั่นคือ
- ระยะที่ 1 มีหัวริดสีดวง แต่ไม่มีก้อนเนื้อยื่นออกมา อาจมีเลือดสด ๆ ขณะถ่ายหรือหลังถ่ายอุจจาระ
- ระยะที่ 2 หัวริดสีดวงโผล่ออกมาขณะเบ่งถ่ายและหดกลับเข้าไปได้เองหลังถ่ายอุจจาระเสร็จเรียบร้อย
- ระยะที่ 3 หัวริดสีดวงโผล่ออกมาขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ ไม่กลับเข้าไป ต้องใช้มือดันเข้าไป
- ระยะที่ 4 หัวริดสีดวงโผล่ออกมาด้านนอกไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้ อาจรู้สึกปวด
2) ริดสีดวงทวารภายนอก จะเกิดขึ้นบริเวณปากรอยย่นทวารหนัก จากการที่กลุ่มหลอดเลือดดำใต้ผิวหนังปากทวารหนักโป่งพอง สามารถมองเห็นและคลำได้ หากมีรอยโรคอาจมีอาการเจ็บปวด
ปัจจัยเสี่ยงริดสีดวงทวาร
ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลให้เกิดโรคริดสีดวงทวาร ได้แก่
- ท้องผูกเรื้อรัง
- ท้องเสียบ่อย
- ถ่ายอุจจาระบ่อย
- นั่งถ่ายอุจจาระนาน
- เบ่งแรงขณะขับถ่าย
- ใช้ยาระบาย ยาสวนอุจจาระบ่อยโดยไม่จำเป็น
- อายุมาก กล้ามเนื้อหย่อนยาน
- ไอเรื้อรัง
- น้ำหนักมาก
- ยกของหนัก ออกแรงมาก
- โรคตับแข็ง ส่งผลถึงเส้นเลือดดำบริเวณทวารโป่งพอง
- กรรมพันธุ์ มีคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้
- ตั้งครรภ์ ขับถ่ายไม่สะดวก
อาการของริดสีดวงทวาร VS เนื้องอก / มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย
เพราะอาการของริดสีดวงทวารและเนื้องอก / มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลายมีความคล้ายคลึงกัน การสังเกตอาการของโรคจึงเป็นหัวใจสำคัญของการรักษาให้ถูกโรคและถูกวิธี
ริดสีดวงทวาร | เนื้องอก / มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย |
ถ่ายเป็นเลือดสด | ถ่ายเป็นเลือดสด |
อาจคลำได้ก้อนเนื้อในรูทวารหนัก | ล้วงแล้วจึงเจอก้อนเนื้อ (ตรวจโดยแพทย์ผู้ชำนาญ) |
อาจมีก้อนเนื้อปลิ้นและยุบกลับเข้าไปทวารหนักได้ | ไม่มีก้อนเนื้อปลิ้นออกมา |
อาจมีอาการปวดก้น ริดสีดวงด้านในไม่ปวด ริดสีดวงด้านนอกปวด | ส่วนใหญ่ไม่ปวดก้น |
อาจมีอาการหลังถ่ายไม่ค่อยออก ต้องเบ่ง หรือถ่ายบ่อย | ถ่ายอุจจาระบ่อย ถ่ายไม่สุด หรืออาการถ่ายไม่ค่อยออก |
คันหรือระคายเคืองรอบปากทวารหนัก | มีมูกเลือดปนในอุจจาระ |
ตรวจวินิจฉัยริดสีดวง
การตรวจวินิจฉัยโรคริดสีดวง หากเป็นริดสีดวงภายนอก แพทย์เฉพาะทางสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่หากเป็นริดสีดวงภายในแพทย์อาจต้องใช้การสอดนิ้วเพื่อคลำหาความผิดปกติ ใช้กล้องขนาดเล็กส่องเพื่อทำการวินิจฉัยเบื้องต้น ตลอดจนใช้การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ระบบพิเศษ ตรวจลำไส้ตรงและทวารหนักโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อให้ทราบผลการตรวจที่ชัดเจน โดยเฉพาะในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าเป็นเนื้องอก / มะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย การส่องกล้องลำไส้ใหญ่จะช่วยแยกโรคให้ชัดเจนเพื่อนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม
รักษาริดสีดวง
วิธีการรักษาโรคริดสีดวงขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของแต่ละบุคคล ได้แก่
1) การรักษาโรคริดสีดวงทวารโดยไม่ผ่าตัด ประกอบไปด้วย
- เหน็บยา โดยแพทย์จะสั่งยาเหน็บรักษาริดสีดวงที่ช่วยรักษาอาการให้ดีขึ้น
- ฉีดยา เข้าไปในตำแหน่งที่กำหนดใต้ชั้นผิวหนังที่มีขั้วริดสีดวงเพื่อให้หัวริดสีดวงยุบลง โดยจะมีการฉีดซ้ำทุก 2 – 4 สัปดาห์ เพื่อบรรเทาอาการให้ดีขึ้น
- ใช้ยางรัด บริเวณหัวริดสีดวงที่โผล่ออกมาเพื่อให้หัวริดสีดวงฝ่อและหลุดออก วิธีนี้จำเป็นต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์เฉพาะทาง เพราะอาจเกิดการติดเชื้อและผลข้างเคียงอื่น ๆ ตามมาได้
2) การรักษาโรคริดสีดวงทวารโดยการผ่าตัด ในกรณีที่ริดสีดวงมีขนาดใหญ่มากจนไม่สามารถกลับเข้าไปได้จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด โดยการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับจำนวนและชนิดของริดสีดวงทวาร ประกอบไปด้วย
- การผ่าตัดริดสีดวงแบบเปิด สำหรับผู้ป่วยที่มีริดสีดวงภายนอกขนาดใหญ่หรือริดสีดวงภายในหย่อนออกจากลำไส้ตรง แพทย์ผู้ชำนาญจะทำการผ่ารอบทวารหนักและนำริดสีดวงทวารออกมา
- การผ่าตัดริดสีดวงโดยใช้เครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ สำหรับผู้ป่วยที่ริดสีดวงหย่อนออกมาภายนอก แพทย์จะใช้เครื่องมือตัดเย็บริดสีดวงเพื่อให้ริดสีดวงกลับเข้าไปในลำไส้ตรง ป้องกันเลือดไปเลี้ยง เนื้อเยื่อจะเล็กลงและตายไป
- การผ่าตัดริดสีดวงด้วยเลเซอร์ เหมาะกับริดสีดวงในระยะที่ยังไม่รุนแรงและหัวไม่ใหญ่นักโดยจะใช้แสงเลเซอร์เข้าไปทำลายเส้นเลือดบริเวณหัวริดสีดวงให้ค่อย ๆ ฝ่อลง และยุบลงในที่สุด วิธีนี้นอกจากเจ็บน้อย หายเร็ว ยังใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน ลดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นขณะผ่าตัด
ในกรณีที่แพทย์ผู้ชำนาญการตรวจพบว่าไม่ใช่ริดสีดวง แต่เป็นเนื้องอก / มะเร็งลำไส้ตรงหรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ปัจจุบันมีการผ่าตัดรักษาด้วยวิธีผ่านกล้อง (Minimally Invasive Surgery) และการผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ตรงโดยวิธีการเก็บกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก (Sphincter Saving Surgery) ที่ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องขับถ่ายผ่านทางหน้าท้อง อย่างไรก็ตามหากมีอาการผิดปกติควรรีบเข้ารับการตรวจวินิจฉัยกับแพทย์เฉพาะทางผู้มีความชำนาญเพื่อรีบทำการรักษาโดยเร็ว คืนคุณภาพชีวิตที่ดีให้กลับมาอีกครั้ง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก:bangkokhospital.com