แม้ว่าโรค “มะเร็ง” จะยังคงเป็นโรคที่สามารถระบุสาเหตุได้อย่างชัดเจนจนถึงปัจจุบันนี้ แต่สิ่งที่นักวิจัย และแพทย์ยอมรับอย่างแน่นอน คือความเสี่ยงของโรคมะเร็งที่อาจเกิดขึ้นกับเราหากเราทานอาหารที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเข้าไปในร่างกาย (อ่านต่อ >> ไขข้อสงสัย อาหาร-พฤติกรรมเสี่ยง “มะเร็ง” มีอะไรบ้าง) อย่างไรก็ตาม อาหารที่ช่วยต้านโรคมะเร็งก็มีอยู่ด้วยเช่นกัน และสำหรับมะเร็งเต้านมที่คุณผู้หญิงทั้งหลายกังวลกันเป็นพิเศษก็มีอาหารที่ช่วยต้านมะเร็งเต้านมโดยเฉพาะให้เราได้เลือกทานกันอีกด้วย
จากการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารวิทยามะเร็งของอเมริกา หรือ JAMA Oncology พบว่าอาหารบางชนิดสามารถลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมได้ Dr. Rowan Chlebowski ศาสตราจารย์ และนักวิจัยที่ City of Hope National Medical Center และทีมงาน ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้หญิงทั้งหมด 48,000 คนจากโครงการ Women’s Health Initiative ที่เป็นโครงการค้นคว้าวิจัยเพื่อป้องกันโรคหัวใจ มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ในผู้หญิงที่สหรัฐอเมริกา โดยให้ผู้หญิง 20,000 คน ในกลุ่มนี้เปลี่ยนอาหารที่ทานให้มีไขมันน้อยลงอยู่ที่ราวๆ 20% (ปกติโดยเฉลี่ยแล้วชาวอเมริกันจะบริโภคอาหารที่มีไขมันราว 30% ในแต่ละวัน) และให้ทานผลไม้ ผัก และโฮลเกรนมากยิ่งขึ้น ส่วนผู้หญิงส่วนที่เหลือยังทานอาหารตามปกติ แม้ว่าจะให้ความรู้เกี่ยวกับสารอาหารที่ดีต่อร่างกายไปบ้าง
หลังจากการติดตามผล 8 ปีครึ่ง พบว่า ในบรรดาจำนวนของผู้ที่เข้าร่วมการทดลองทั้งหมดที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งเต้านม กลุ่มที่ทานอาหารไขมันต่ำมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมน้อยลงราว 22% เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้หญิงที่ทานอาหารตามปกติ นอกจากนี้กลุ่มที่ทานอาหารไขมันต่ำยังมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งอื่นๆ น้อยลงถึง 24% และอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจก็น้อยลงถึง 38% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ทานอาหารตามปกติอีกด้วย
ความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านมในแต่ละคนอาจมีมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง แต่จากการทดลองพบว่า แม้ว่าจะเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง แต่หากเลือกทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ก็สามารถลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคนั้นๆ ได้ นั่นหมายถึงการมีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้นตามไปด้วย
อาหารลดเสี่ยงเสียชีวิตจาก “มะเร็งเต้านม”
-
อาหารไขมัน (เลว) ต่ำ
อาหารไขมันต่ำ หมายถึงอาหารที่มีไขมันเลว (คอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์) ต่ำ ได้แก่ เนื้อปลา ไก่ (ไม่มีหนัง) เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน อาหารประเภทต้ม นึ่ง ย่าง ถั่ว ขนมปังโฮลวีต ผักผลไม้ เห็ด นมพร่องมันเนย น้ำเต้าหู้ เป็นต้น ส่วนน้ำมันที่ใช่ในการประกอบอาหาร ให้เลือกใช้น้ำมันจากพืช เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันเมล็ดดอกคำฝอย เป็นต้น
-
อาหารที่มีกากใยอาหารสูง
อาหารที่มีกากใยอาหารสูง นอกจากจะช่วยลดไขมันในเลือดได้แล้ว ยังช่วยให้ระบบย่อยอาหาร และระบบขับถ่ายดีขึ้นอีกด้วย อาหารที่มีกากใยอาหารสูง ได้แก่ ผักผลไม้ ธัญพืช ถั่ว งา ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮลวีต
-
อาหารที่มีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์
จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หรือที่รู้จักกันในนามของโพรไบโอติก นอกจากจะช่วยลดน้ำตาล และไขมันในเลือดได้แล้ว ยังช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยในเพิ่มภูมิต้านทานในร่างกาย ช่วยการทำงานของสมอง และช่วยเรื่องลดความอ้วนอีกด้วย จุลินทรีย์เหล่านี้เกิดจากการหมักดองตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นกิมจิ กะหล่ำปลีดอง มิโซะ (เต้าเจี้ยวบดแบบญี่ปุ่น) ชาหมัก (Kombucha) นมเปรี้ยวเคเฟอร์ (Kefir) ขนมปังเปรี้ยวหรือขนมปังแป้งหมัก (Sour Dough) รวมไปถึงเครื่องดื่มพวกนมเปรี้ยวและโยเกิร์ต
อย่าลืมว่า อาหารเป็นส่วนสำคัญที่กำหนดทิศทางของสุขภาพเราว่าจะแข็งแรงมากน้อยแค่ไหน อวัยวะต่างๆ ในร่างกายจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ แต่อีกสองปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาทิตย์ละอย่างน้อย 3-4 ครั้ง ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที และการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอราว 6-8 ชั่วโมงต่อวัน หากทำทั้ง 3 สิ่งนี้ได้ รับรองว่าสุขภาพที่แข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนก่อนวัยอันควรย่อมเป็นของคุณแน่นอน