ในเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นเดือนรณรงค์ต่อต้านโรคมะเร็งเต้านม ที่ถือได้ว่าเป็นมะเร็งร้ายอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลก ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เนื้อเยื่อเต้านมเจริญเติบโตผิดปกติ และร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตที่ผิดปกตินั้นได้ ทําให้เซลล์เหล่านั้นกลายเป็นเซลล์มะเร็งและโตอย่างรวดเร็ว
จากข้อมูลทางสถิติที่ผ่านมาพบว่า จำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นของทั่วโลกและในประเทศไทย แม้จะมีการรณรงค์ให้ผู้คนตระหนักรู้ถึงโรคมะเร็งเต้านมอย่างต่อเนื่องก็ตามแต่ก็ยังคงมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น เพราะขาดความรู้แนวทางการป้องกันที่จะช่วยให้ลดอัตราของโรคนี้ได้
ทำไม “มะเร็งเต้านม” จึงเป็นมะเร็งร้ายอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลก?
มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้หญิงเป็นอันดับ 1 ในประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงไทย จากเดิมที่พบมากเป็นอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็งปากมดลูก และมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
โรคมะเร็งเต้านมไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่มีปัจจัยหนุนคือฮอร์โมนเอสโตรเจนที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เนื้อเยื่อเต้านมจนเจริญเติบโตผิดปกติและร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตที่ผิดปกตินั้นได้ ทำให้เซลล์เหล่านั้นกลายเป็นเซลล์มะเร็งและโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจแพร่กระจายออกไปยังอวัยวะอื่นๆ
สัญญาณอันตราย “มะเร็งเต้านม”
ความจริงแล้วมะเร็งเต้านมมีหลายชนิด แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือชนิดที่เกิดจากท่อน้ำนม เมื่อเซลล์มะเร็งแบ่งตัวจนทะลุเนื้อเยื่อของท่อน้ำนมเข้าไปถึงท่อน้ำเหลืองหรือเส้นเลือดก็จะแพร่กระจายไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น กระดูก ตับ ปอด หรือสมอง ซึ่งโรคมะเร็งเต้านมเริ่มแรกจะไม่แสดงอาการ ไม่เจ็บ ไม่ปวด มีเพียงก้อนเนื้อให้สัมผัสได้แต่ไม่รู้สึก หลายคนจึงละเลยจนเข้าสู่ระยะลุกลามปล่อยทิ้งไว้จนเกิดอาการที่ตามมา เช่น เต้านมบวมผิดปกติ แตก เน่า เป็นแผล แล้วค่อยไปพบแพทย์ ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้แล้ว
กลุ่มเสี่ยง “มะเร็งเต้านม”
โดยอายุเฉลี่ยของคนไข้ที่พบมะเร็งเต้านมคือ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งจริงๆ แล้วเซลล์มะเร็งอาจจะก่อตัวก่อนหน้านั้น แต่เพิ่งมาตรวจพบในช่วงวัยดังกล่าว เพราะมะเร็งเต้านมค่อนข้างโตช้า กว่าจะโตจากขนาด 1 เซนติเมตรไปสู่ 2 เซนติเมตรต้องใช้เวลาประมาณ 90-180 วัน กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมคือ บุคคลที่มีญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งเต้านมเกินสองคนขึ้นไป เช่น แม่ พี่สาว หรือน้องสาว คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงกว่าคนอื่นถึงสิบเท่าและมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งเร็วขึ้น ดังนั้นจึงต้องตรวจหาความผิดปกติด้วยตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ รวมถึงการตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมและอัลตราซาวน์ (digital mammogram and ultrasound)
ระยะอาการของ “มะเร็งเต้านม”
มะเร็งเต้านมเป็นเซลล์มะเร็งที่เกิดกับอวัยวะภายนอก สามารถคลำหาได้ด้วยมือ ผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมเกินกว่าร้อยละ 85 จึงมักจะมาพบแพทย์หลังจากคลำพบก้อนที่เต้านม โดยระยะของมะเร็งเต้านมแบ่งออกเป็นดังนี้
- ระยะ 0 ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นของเซลล์มะเร็ง ยังไม่ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อของเต้านมและสามารถรักษาหายได้
- ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตรและยังไม่ลุกลามถึงต่อมน้ำเหลือง
- ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งมีขนาดระหว่าง 2-5 เซนติเมตรและเริ่มลุกลามไปสู่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แต่ยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น
- ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร ลุกลามเข้าไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แล้วแต่ก็ยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น
- ระยะที่ 4 มะเร็งได้แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น เรียบร้อยแล้ว
หากตรวจพบตั้งแต่ระยะที่ 0 ซึ่งยังไม่มีก้อนมะเร็งจะสามารถรักษาให้หายได้ แต่หากพบก้อนมะเร็งที่ขนาดไม่ถึง 1 เซนติเมตร เปอร์เซ็นต์การรักษาหายจะลดลงเหลือร้อยละ 98 และถ้าเข้าสู่ระยะที่ 1 ที่ก้อนมะเร็งมีขนาด 1-2 เซนติเมตรแล้ว โอกาสหายเหลือเพียง 80 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ยิ่งก้อนมะเร็งใหญ่ขึ้นโอกาสที่เซลล์มะเร็งจะลุกลามไปยังอวัยวะอื่นยิ่งมีมากขึ้น ดังนั้นยิ่งตรวจพบเร็วยิ่งมีโอกาสหายได้มากกว่า
วิธีตรวจหาเซลล์ “มะเร็งเต้านม” ด้วยเครื่องมือแพทย์
วิธีที่จะช่วยให้พบเซลล์มะเร็งได้เร็วคือ การตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมและอัลตราซาวน์ (digital mammogram and ultrasound) ซึ่งสามารถหาเซลล์ที่ผิดปกติได้ตั้งแต่ขนาดเล็กในระดับมิลลิเมตร เมื่อพบบริเวณก้อนเนื้อต้องสงสัยแล้วตรวจเพิ่มเติมด้วยเครื่องอัลตราซาวน์ ร่วมกับการตรวจชิ้นเนื้อก็จะวินิจฉัยได้ว่าก้อนเนื้อนั้นเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ การตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมเป็นเทคโนโลยีการตรวจทางรังสีชนิดพิเศษ มีประสิทธิภาพสูงในการตรวจหาความผิดปกติของเต้านมแม้เพียงขนาดเล็กระดับมิลลิเมตร โดยปกติจะใช้เวลาตรวจ 5-10 นาที โดยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมจะกดเต้านมไว้ประมาณ 5 วินาที ภาพที่ได้จากการตรวจมีความละเอียดและความคมชัดสูง ช่วยแพทย์สามารถวินิจฉัยได้อย่างชัดเจน
วิธีรักษา “มะเร็งเต้านม”
การตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรก (ระยะที่ยังไม่ลุกลาม) สามารถเลือกได้ว่าจะผ่าตัดเฉพาะจุดที่เป็นมะเร็ง (ผ่าตัดแบบสงวนเต้าหรือตัดเฉพาะบางส่วน) หรือเลือกการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด ถ้าเลือกการผ่าตัดแบบสงวนเต้าต้องทำควบคู่กับการฉายรังสีรักษาเต้านมที่เหลือ แต่ถ้าเลือกการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดไม่จำเป็นต้องรับการฉายรังสีรักษาหลังรับการผ่าตัด ซึ่งทั้งสองวิธีให้ผลการรักษาที่เหมือนกันคือ ผู้ป่วยมีโอกาสจะหายจากมะเร็งได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ต้องให้เคมีบำบัด แต่หากพบมะเร็งเต้านมในระยะที่ใหญ่ขึ้นคือ ตั้งแต่ระยะที่ 1 ตอนปลายเป็นต้นไป (มะเร็งระยะแพร่กระจาย) ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด ทั้งยังต้องรักษาเสริมด้วยยาเคมีบำบัดและฮอร์โมน เพื่อลดโอกาสในการกลับมาเป็นซ้ำ ทั้งนี้การทำให้เต้านมกลับสู่รูปร่างเดิมหรือใกล้เคียง ด้วยการเสริมซิลิโคนหรือใช้กล้ามเนื้อส่วนอื่นมาสร้างเป็นเต้านมใหม่ เพื่อคนไข้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นใจ
ปัจจัยเสี่ยง “มะเร็งเต้านม”
ปัจจัยเสี่ยงสําคัญ นอกเหนือจากการมีญาติสายตรงใกล้ชิดเป็นโรคมะเร็งเต้านมแล้ว การมีการกลายพันธุ์ของยีน ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมในครอบครัว ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งเช่นกัน
ยีน BRCA เป็นชื่อของยีนที่ทําหน้าที่ควบคุมการเจริญของเซลล์ (Tumor suppressor gene) มี 2 ชนิด คือ BRCA1 และ BRCA 2 หากยีนทั้ง 2 ชนิดนี้มีการกลายพันธุ์ (mutation) จะสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม จาก พ่อ-แม่ สู่ลูกได้โดยตรง ส่งผลให้ในผู้หญิงเพิ่มโอกาสการเกิดเป็นโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ ถ้ามีการกลายพันธุ์ของยีนส์ BRCA 1 ในผู้หญิง โอกาสเป็นมะเร็งเต้านมก่อนอายุ 50 ปี สูงถึง 60-80% ถ้ามีการกลายพันธุ์ของยีนส์ BRCA 2 ในผู้หญิง โอกาสเป็นมะเร็งเต้านมก่อนอายุ 50 ปี สูง 50-70% และประมาณ 5 – 10 % ที่สามารถเป็นมะเร็งเต้านม และ 10 – 15 % สามารถเป็นมะเร็งรังไข่ได้
โดยการถ่ายทอดการกลายพันธุ์ของยีนส์ชนิด BRCA 1 และ BRCA 2 ทำให้ญาติสายตรงมีโอกาสที่จะได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมดังกล่าว และเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็งทั้ง 2 ชนิด มากกว่าคนทั่วๆ ไป
การตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีนที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ต่อการเป็นมะเร็งเต้านม จึงเป็นการตรวจเพื่อหาความผิดปกติของยีน BRCA ที่สามารถทําได้โดยการตรวจเลือดโดยแพทย์ด้านพันธุศาสตร์มะเร็ง หากผลตรวจพบว่ามีความผิดปกติของยีนเหล่านี้ก็จะสามารถวางแผนจัดการเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมในอนาคต หรือ ช่วยให้ตรวจพบได้เร็วที่สุดเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายมากยิ่งขึ้น