มะเร็งปอด เสี่ยงเสียชีวิตมากเป็นอันดับ 1
แม้ว่ามะเร็งปอดไม่ได้เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุด แต่มะเร็งปอดนั้นเป็นมะเร็งที่มีอัตราการเสียชีวิต อันดับ 1 เนื่องจากมะเร็งปอดเป็นโรคร้ายแรง และมักพบมะเร็งเมื่อเป็นระยะกระจาย แม้โรคมะเร็งอื่นๆ ที่มีคนเป็นกันเยอะ เช่น มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่มะเร็งปอดเป็นแล้วเสียชีวิตได้ในอัตราที่สูงกว่ามะเร็งอื่นๆ ดังนั้นมะเร็งปอดจึงถือเป็นโรคที่น่ากลัวโรค โดยปัจจัยเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอดหลักๆ คือ การสูบบุหรี่ รวมไปถึง การสูบบุหรี่มือสอง คือ ไม่ได้สูบเองแต่ได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ในการเกิดมะเร็งปอดเช่น ก๊าชเรดอน (radon gas) เยื่อใยหิน (asbestos) และประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งปอด
“บุหรี่” สาเหตุหลักของ “มะเร็งปอด”
ในช่วงก่อนมีบุหรี่นั้น โรคมะเร็งปอดถือ เป็นโรคประหลาดพบได้ไม่บ่อย แต่พอหลังจากมีการสูบบุหรี่อย่างกว้างขวาง ทำให้มีโรคมะเร็งปอดเกิดขึ้นในโลกนี้อย่างมากมาย การศึกษาต่อมาจึงพบว่าบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอด ในบุหรี่มีสารก่อมะเร็งมากมายหลายชนิด โดยเฉพาะ Tar ที่ทำให้เหมือนมียางมะตอยเกาะในปอด มีการประมาณกันว่า หากไม่มีบุหรี่ มะเร็งปอดจะลดลงถึง 80-90% ทั่วโลกเลยทีเดียว แต่ในกลุ่มชาวเอเชีย เช่น ชาวไทยนั้น มีลักษณะพิเศษของมะเร็งปอด คือ 40-60% ของมะเร็งที่เกิดในคนไทยไม่ได้มาจากการสูบบุหรี่ แต่เกิดจากความผิดปกติของ gene บางอย่างในเซลล์ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เป็นมะเร็ง
มะเร็งปอด กับสัญญาณอันตรายที่ถูกละเลย
อาการของมะเร็ง เช่น ไอ เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด ไม่มีแรง เบื่ออาหาร ปวดตามตัวหรือกระดูก จะเห็นว่าอาการเหล่านี้ไม่จำเพาะกับมะเร็ง และพบได้บ่อยในผู้ที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว กว่ามะเร็งจะเกิดอาการมักเป็นระยะท้ายๆ
ดังนั้น จึงแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง คือผู้สูบบุหรี่มากกว่า 30 pack year (คำนวณจากจำนวนซองที่สูบต่อวัน x จำนวนปีที่สูบเช่น 2 ซองต่อวัน 15 ปี = 2×15 = 30 pack year เป็นต้น) หรือผู้ที่เลิกสูบน้อยกว่า 15 ปีมาตรวจ Low dose CT chest (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด) ปีละครั้งเพื่อการค้นหามะเร็งระยะแรก (lung cancer screening) ทำให้พบมะเร็งปอดระยะแรกซึ่งมีโอกาสรักษาหายได้มากขึ้น ถ้าหากแพทย์ผู้รักษาสงสัยจะส่งตรวจโดยการเจาะเนื้อที่ปอดมาดูเพื่อยืนยันชิ้นเนื้อ หลังยืนยันว่าเป็นมะเร็งปอด ก็จะมีการทำ CT หรือ PET/CT ร่วมกับ MRI สมองเพื่อวินิจฉัยระยะของโรค เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
การรักษามะเร็งปอด
การรักษามะเร็งปอด ถ้าเป็นระยะแรกก็ใช้การผ่าตัด ร่วมกับ การฉายแสงและเคมีบำบัดขึ้นกับผู้ป่วย ขนาดของมะเร็ง และตำแหน่งของมะเร็งหากเป็นระยะกระจายหรือที่เรียกกันว่า “ระยะที่ 4” นั้น จะใช้การรักษาด้วยยาซึ่งยาจะมีทั้ง เคมีบำบัด ยาพุ่งเป้า (targeted therapy) หรือ ยากลุ่ม immunotherapy คือ การให้ยาเพื่อให้เม็ดเลือดขาวกลุ่ม cytotoxic T cell ไปทำลายเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งมีการใช้มากขึ้นในมะเร็งหลายชนิด
อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือยาพุ่งเป้า ยังมีบทบาทสำคัญในการรักษามะเร็ง ผลการรักษาด้วย immunotherapy ขึ้นกับชนิดของมะเร็ง และคนไข้ ซึ่งถือเป็นยาที่ใช้รักษามะเร็งปอดและเริ่มมีการใช้มาในช่วง 4-5 ปีนี้เอง
ดังนั้นจึงอยากรณรงค์ มาช่วยกันลด ละ เลิกสูบบุหรี่ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง แต่หากเป็นแล้วก็อยากพบมะเร็งปอดระยะแรกเพราะมีโอกาสรักษาหายได้