แม้ว่าความเสี่ยงของโรคมะเร็งที่เห็นได้อย่างชัดเจน จะเป็นเรื่องของ “กรรมพันธุ์” หากพบพ่อแม่พี่น้องในครอบครัว หรือเครือญาติเป็นโรคมะเร็ง เราก็อาจเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งชนิดนั้นๆ ไปด้วย แต่นอกเหนือจากกรรมพันธุ์แล้ว วิถีชีวิต และอาหารการกินก็สำคัญไม่แพ้กัน แม้จะเป็นการเพิ่มหรือลดความเสี่ยงของโรคแค่บางส่วน แต่รับรองว่าหากทานอาหารได้ตามคำแนะนำของ สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา หรือ อย. แล้ว นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งได้ ยังช่วยให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นจนเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนแน่นอน
9 วิธี กินอย่างไร ช่วย “ต้านมะเร็ง”
- รับประทานผักให้หลากสีเพื่อความหลากหลายทางคุณค่าอาหาร
- รับประทานผลไม้เป็นประจำ เพราะมีวิตามิน เกลือแร่ และเส้นใยอาหารที่ช่วยเรื่องระบบย่อยอาหาร และระบบขับถ่าย
- รับประทานธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสี หรือขัดสีให้น้อยที่สุด เพื่อให้คงคุณค่าทางโภชนาการไว้และเส้นใยจากธัญพืชจะช่วยพาสารที่เป็นโทษต่อร่างกายออกไป เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งทางเดินอาหาร และมะเร็งในลำไส้ใหญ่ เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต เป็นต้น
- เพิ่มการใช้เครื่องเทศในอาหาร เพื่อให้ได้รับแร่ธาตุ วิตามิน และสารประกอบอื่นๆ เช่น พริกไทย พริกแห้ง ขิง ขมิ้น อบเชย ยี่หร่า ลูกผักชี กระวาน กานพลู เป็นต้น
- รับประทานน้ำผักผลไม้ เพื่อเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ (ทานพร้อมกากจะดีที่สุด)
- ปรุงอาหารให้ถูกวิธี เช่น ไม่ปิ้งย่างอาหารประเภทเนื้อสัตว์จนไหม้เกรียม ไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆโดยเฉพาะปลาน้ำจืดที่มีเกล็ด และไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำหลายๆ ครั้ง เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันเลวทั้งจากพืช และจากสัตว์ (>> “ไขมัน” กินอย่างไรถึงจะดี?)
- ลดการบริโภคเนื้อแดงเพราะมีไขมันอิ่มตัวสูง (>> ไขมันอิ่มตัว VS ไขมันไม่อิ่มตัว แตกต่างกันอย่างไร?)
- ลดการบริโภคอาหารหมักดอง เพราะอาจทำให้ได้รับโซเดียมมากเกินไป (>> 5 วิธีลด “โซเดียม” ลดเค็ม ลดโรค)
การรับประทานอาหารให้ถูกตามหลักโภชนาการข้างต้น จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคมะเร็งอยู่ รวมถึงคนที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็ง (จากกรรมพันธุ์) ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องร่วมด้วย