กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกมีความปลอดภัย และพร้อมให้บริการทั่วประเทศ ส่วนอาการเด็กหญิงหลังได้รับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (เอชพีวี) แพทย์วินิจฉัยว่าเกิดจากโรคประจำตัว และขอให้เน้นหลังได้รับวัคซีนควรรอสังเกตอาการอย่างน้อย 30 นาที
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าจากที่มีข่าวพบเด็กหญิงจำนวนหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (เอชพีวี) นั้น จากการสอบสวนโรคเบื้องต้น แพทย์ประเมินอาการเบื้องต้นพบมี 4 ราย ส่งต่อโรงพยาบาล และแพทย์ในโรงพยาบาลทำการประเมินและสังเกตอาการ ก่อนให้ผู้ป่วย 3 รายกลับบ้านได้ ส่วนอีก 1 ราย รับการรักษาต่อในโรงพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยรายนี้มีประวัติเป็นหอบหืด ก่อนรับวัคซีน 2 วัน ผู้ป่วยมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก โดยปกติผู้ป่วยจะพ่นยาแก้หอบหืดทุกวัน เช้า-เย็น แต่ในวันที่รับวัคซีน ผู้ป่วยไม่ได้พ่นยามาจากบ้าน แพทย์วินิจฉัยว่าเกิดจากโรคประจำตัว (โรคหอบหืด)
ซึ่งล่าสุดผู้ป่วยรู้สึกตัวดี พูดคุยได้ปกติ แพทย์ยังคงให้รักษาตัวต่ออีก 1-2 วัน เพื่อสังเกตอาการและให้การรักษาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่ 2 พิษณุโลก ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก ติดตามสถานการณ์และความคืบหน้าของเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ส่วนกรณีนักเรียนที่รอแล้วมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ลักษณะดังกล่าวเรียกว่าอุปทานหมู่ ซึ่งเกิดจากอาการวิตกกังวลและกลัวการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ เหตุการณ์ลักษณะนี้พบได้บ่อย หากมีคนหนึ่งมีอาการผิดปกติ ก็สามารถกระตุ้นให้เด็กคนอื่นๆ มีอาการร่วมด้วย
นายแพทย์เจษฎา กล่าวอีกว่า สำหรับวัคซีนเอชพีวี นั้น เป็นวัคซีนเชื้อตายที่มีความปลอดภัย ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีนนั้นมักไม่รุนแรง อาการที่พบบ่อย ได้แก่ อาการปวด บวมแดง คัน ซึ่งเกิดบริเวณที่ฉีดวัคซีน บางรายอาจมีไข้ และปวดศีรษะ ส่วนอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงมีโอกาสพบได้แต่น้อยมาก อย่างไรก็ตาม หลังจากให้วัคซีนแล้วควรพักรอสังเกตอาการภายหลังได้รับวัคซีนอย่างน้อย 30 นาที หากพบผู้ป่วยที่มีอาการหรือมีความผิดปกติหลังได้รับวัคซีน เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการจะได้ให้การดูแลเบื้องต้นและส่งต่อผู้ป่วยในกรณีที่มีอาการรุนแรงไปโรงพยาบาลต่อไป
ในการฉีดวัคซีนเอชพีวีครั้งนี้ เริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 นี้เป็นต้นไป โดยจะฉีดในเด็กหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4 แสนคนทั่วประเทศ การฉีดวัคซีนให้เด็กหญิงในช่วงอายุ 10–12 ปี จะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก เนื่องจากเป็นการป้องกันตั้งแต่ยังไม่ติดเชื้อเอชพีวี คือก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ดังนั้นการป้องกันตั้งแต่แรกจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะโรคมะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงไทย และเมื่อมะเร็งอยู่ในระยะลุกลามแล้วจะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาค่อนข้างสูง หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422