คู่รักหลายคู่อาจชื่นชอบและมีความสุขกับการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก แต่การร่วมเพศทางประตูหลังมีความเสี่ยงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากกว่าการร่วมเพศทางปากหรือทางช่องคลอด ดังนั้น ผู้ที่มีรสนิยมหรืออยากลองมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ทั้งคู่รักแบบชายรักชาย หรือคู่รักชายหญิง ควรศึกษาข้อมูลและข้อควรระวังต่อไปนี้ให้ดีก่อน เพื่อให้มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยและห่างไกลโรค
เพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก เป็นอย่างไร ปลอดภัยหรือไม่ ?
เพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก คือ การทำกิจกรรมทางเพศบริเวณทวารหนัก ซึ่งประกอบไปด้วยการสอดใส่องคชาติเข้าไปทางทวารหนัก โดยบางรายอาจใช้นิ้วมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการร่วมเพศ (Sex Toys) สอดใส่ในทวารหนัก และอาจใช้ริมฝีปากหรือลิ้นบริเวณทวารหนักด้วย
อย่างไรก็ตาม การร่วมเพศทางทวารหนักมีความเสี่ยงกว่าการทำกิจกรรมทางเพศรูปแบบอื่น ๆ จึงควรระมัดระวังด้านความปลอดภัยเป็นพิเศษหากต้องการมีเพศสัมพันธ์ด้วยวิธีนี้
ทำไมการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักจึงเสี่ยงมากกว่าวิธีอื่น ๆ ?
- เนื้อเยื่อในทวารหนักบอบบาง เนื้อเยื่อที่ห่อหุ้มร่างกายทั่วไปถูกปกคลุมด้วยชั้นเซลล์ผิวหนังที่แข็งแรง เพื่อช่วยป้องกันสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกไม่ให้ผิวหนังเกิดการติดเชื้อ ซึ่งต่างกับเนื้อเยื่อในทวารหนักที่ไม่มีชั้นผิวหนังดังกล่าวปกคลุมอยู่ ทำให้เนื้อเยื่อในทวารหนักเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่ายกว่า
- ทวารหนักไม่มีน้ำหล่อลื่น การร่วมเพศทางทวารหนักอาจทำให้เนื้อเยื่อในทวารหนักฉีกขาดง่ายเนื่องจากไม่มีน้ำหล่อลื่นเหมือนในช่องคลอด ซึ่งอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียและไวรัสต่าง ๆ เข้าสู่กระแสเลือดได้ จนเป็นเหตุให้เสี่ยงติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่รุนแรงอย่างไวรัสเอชพีวี (HPV) และไวรัสเอชไอวี (HIV) โดยมีการวิจัยพบว่าการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีสูงถึง 30 เท่า เมื่อเทียบกับการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ซึ่งแม้การใช้เจลหล่อลื่นอาจช่วยลดความเจ็บปวดจากการเสียดสีของอวัยวะเพศกับเนื้อเยื่อทวารหนักได้ แต่ก็ไม่สามารถป้องกันเนื้อเยื่อฉีกขาดได้อย่างเต็มที่
- ทวารหนักเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรีย แม้ว่าตนเองและคู่นอนจะไม่ได้ป่วยติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ฝ่ายที่สอดใส่องคชาติเข้าทางทวารหนักอาจติดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ภายในทวารหนักได้ นอกจากนี้ หากร่วมเพศทางช่องคลอดต่อหลังมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก อาจนำไปสู่การติดเชื้อในช่องคลอดและระบบทางเดินปัสสาวะของอีกฝ่ายได้เช่นกัน
- ทวารหนักมีกล้ามเนื้อหูรูด บริเวณทวารหนักจะถูกล้อมรอบด้วยกล้ามเนื้อหูรูด โดยกล้ามเนื้อนี้จะหดตัวขณะไม่ได้ถ่ายอุจจาระ ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักขณะที่กล้ามเนื้อหูรูดปิดแน่นอยู่นั้นอาจสร้างความเจ็บปวดได้ และหากร่วมเพศทางทวารหนักบ่อย ๆ อาจทำให้กล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักหย่อนยาน จนส่งผลให้เกิดภาวะกลั้นอุจจาระไม่อยู่ ซึ่งการฝึกขมิบกล้ามเนื้อหูรูดอาจช่วยป้องกันหรือบรรเทาปัญหานี้ได้
ปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
การมีเพศสัมพันธ์ผ่านทางทวารหนัก ไม่ว่ากับบุคคลเพศเดียวกันหรือเพศตรงข้าม ก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้ ดังนี้
- การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี การร่วมเพศทางทวารหนักเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีสูงกว่ากิจกรรมทางเพศอื่น ๆ โดยเฉพาะกับผู้ที่เป็นฝ่ายรับ ซึ่งเชื้อไวรัสดังกล่าวเป็นสาเหตุของโรคเอดส์เป็นการเจ็บป่วยที่รุนแรงและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
- การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี เชื้อไวรัสเอชพีวีเป็นเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย และสามารถแพร่กระจายได้ง่าย ซึ่งการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้อาจส่งผลให้เกิดหูดบริเวณทวารหนัก แต่หากติดเชื้อเอชพีวีเป็นระยะเวลานานก็อาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งทวารหนักได้
- การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ ส่วนใหญ่แล้วการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอไม่ร้ายแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต แต่อาจทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการป่วยต่าง ๆ และมีภาวะตัวเหลืองได้ โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถแพร่กระจายผ่านการทำออรัลเซ็กซ์ทางทวารหนักได้
- การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถแพร่กระจายผ่านการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน และอาจติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักได้ด้วยแม้จะเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก ซึ่งผู้ที่ติดเชื้ออาจมีอาการของโรคที่รุนแรงขึ้นจนนำไปสู่ภาวะตับวายเรื้อรังได้
- การติดเชื้ออีโคไล เชื้ออีโคไลเป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ สามารถเข้าสู่ทางเดินปัสสาวะได้ และส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หากมีการสอดใส่ในช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักทันที เชื้อชนิดก็นี้อาจแพร่กระจายเข้าสู่ช่องคลอดหรือท่อปัสสาวะได้
นอกจากปัญหาสุขภาพข้างต้น การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม โรคเริมที่อวัยวะเพศ โรคไวรัสตับอักเสบบี และโรคซิฟิลิส เป็นต้น
วิธีลดความเสี่ยงโรคติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
นอกจากช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ วิธีต่าง ๆ ต่อไปนี้ยังอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อจากเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักได้ด้วย
- ใช้ถุงยางอนามัย ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพราะถุงยางอนามัยมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อเอชไอวีและเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ๆ หากใช้อย่างถูกวิธีตลอดการสอดใส่ทางทวารหนัก โดยควรเปลี่ยนถุงยางอนามัยก่อนร่วมเพศทางช่องคลอดหลังการสอดใส่ทางทวารหนัก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียที่อาจทำให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ อย่างไรก็ตาม ถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ควรใช้วิธีป้องกันอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้
- ใช้สารหล่อลื่น ใช้เจลหล่อลื่นสูตรน้ำหรือสูตรซิลิโคนขณะมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก เพื่อช่วยให้สอดใส่ได้ง่ายขึ้น ป้องกันถุงยางอนามัยแตก และไม่ให้เนื้อเยื่อในทวารหนักฉีกขาด
- รักษาความสะอาดจากภายใน การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักนั้นอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ดังนั้น ก่อนการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ควรแน่ใจว่าผิวหนังบริเวณทวารหนักสะอาดและไม่มีอุจจาระตกค้างภายในลำไส้ เพื่อป้องกันปัญหาการปวดอุจจาระหรือการถ่ายอุจจาระของฝ่ายรับในขณะมีเพศสัมพันธ์
- ใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ขณะมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ควรระมัดระวังสอดใส่อย่างนุ่มนวลและไม่ใจร้อนเกินไป เพื่อป้องกันถุงยางอนามัยหรือเนื้อเยื่อทวารหนักฉีกขาด
- เปลี่ยนกิจกรรมทางเพศ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักอาจปรับเปลี่ยนวิธีมีเพศสัมพันธ์ โดยเลือกทำกิจกรรมทางเพศที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์น้อย เช่น การร่วมเพศทางปากหรือออรัลเซ็กส์
- ปลอดภัยไว้ก่อน ทั้งตนเองและคู่นอนควรตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นระยะ และหากพบการติดเชื้อใด ๆ ควรเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก : POBPAD