มะเร็งคอหอยหลังโพรงจมูก อาจเป็นโรคมะเร็งที่ชื่อโรคไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยเท่าไร แต่ในประเทศไทยสามารถพบผู้ป่วยโรคมะเร็งคอหอยหลังโพรงจมูกได้เรื่อยๆ และหากทราบอาการตั้งแต่ช่วงแรก ก็ยิ่งมีโอกาสรักษาให้หายได้ จึงจำเป็นที่คนไทยควรทราบสัญญาณอันตรายเหล่านี้เอาไว้ เพราะค่อนข้างมีอาการที่สังเกตได้ง่าย ชัดเจน
ในแต่ละปีพบผู้ป่วยทั่วโลกโรคมะเร็งคอหอยหลังโพรงจมูกไม่ถึง 1 ต่อแสนคน แต่ในบางบริเวณจะพบผู้ป่วยมะเร็งชนิดนี้สูงอย่างเด่นชัด ได้แก่ จีนตอนใต้ แคนาดา อลาสกา ชาวเอสกิโมในกรีนแลนด์ บางส่วนของแอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย สำหรับในประเทศไทยพบมะเร็งหลังโพรงจมูก ในผู้หญิง 1.6 ต่อแสนคนต่อปี ในชาย 4.5 ต่อแสนคนต่อปี จัดเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับเก้าสำหรับผู้ชายไทย ทั้งนี้พบอุบัติการณ์ในผู้ชายสูงกว่าในผู้หญิงประมาณสองเท่า ส่วนมากอยู่ในวัยหนุ่มสาวถึงกลางคน จากข้อมูลของโรงพยาบาลศิริราชพบว่า ตรวจพบผู้ป่วยใหม่ประมาณ 90-100 คนต่อปี
มะเร็งคอหอยหลังโพรงจมูก คืออะไร?
มะเร็งคอหอยหลังโพรงจมูก เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณคอหอยหลังโพรงจมูก มีความผิดปกติเหมือนโรคมะเร็งทั่วไป คือ พบก้อนเนื้อบริเวณคอหอยหลังโพรงจมูก และอาจมีอาการบางอย่างที่ทำให้เกิดความผิดปกติในร่างกาย จนทำให้ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์
อันตรายของโรคมะเร็งคอหอยหลังโพรงจมูก
เมื่อบริเวณคอหอยหลังโพรงจมูกเป็นอวัยวะที่อยู่ลึกภายในร่างกาย ไม่สามารถมองเห็นได้ กว่าผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ จึงมักเป็นระยะที่เชื้อแพร่กระจายไปแล้ว ดังนั้นการสังเกตสัญญาณอันตราย หรืออาการเบื้องต้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรทราบ และควรระวัง
สาเหตุของโรคมะเร็งคอหอยหลังโพรงจมูก
- กรรมพันธุ์ หากพบคนในครอบครัว รวมถึงเครือญาติเคยเป็นโรคมะเร็งคอหอยหลังโพรงจมูกมาก่อน เราก็อาจมีสิทธิ์เป็นโรคนี้ได้
- เชื้อไวรัส ไวรัสเอปสไตน์บาร์ (Epstein-Barr virus – EBV) มีส่วนสำคัญต่อการเกิดมะเร็งหลังโพรงจมูก
- อาหาร จากการศึกษาพบว่า ในมณฑลกวางตุ้งซึ่งมีอุบัติการณ์ของมะเร็งหลังโพรงจมูกในอัตราสูงนั้น ประชาชนนิยมบริโภคปลาหมักเค็มกันมากกว่าจีนส่วนอื่น
- อากาศ/สภาพแวดล้อม หากอยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีฝุ่นละออง ควันไฟจากการเผาไม้ หรือหญ้า สารเคมีต่างๆ รวมถึงควันบุหรี่ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งคอหอยหลังโพรงจมูกมากขึ้นด้วย
สัญญาณอันตราย “มะเร็งคอหอยหลังโพรงจมูก”
- ก้อนที่คอ
- มีน้ำมูกปนเลือด คัดจมูกข้างเดียว หายใจไม่ค่อยสะดวก จึงอาจเข้าใจว่าเป็นโพรงจมูกอักเสบ หรือโพรงไซนัสอักเสบได้
- หูได้ยินข้างเดียว มีเสียงดังในหู ปวดหู หรือมีของเหลวไหลออกมาจากหู (เมื่อเชื้อมะเร็งกระจายมาถึงบริเวณท่อเชื่อมหูชั้นกลาง
- ใบหน้าชา วิงเวียนศีรษะ
- มองเห็นภาพซ้อน ปวดศีรษะ
การรักษาโรคมะเร็งคอหอยหลังโพรงจมูก
การรักษาโรคมะเร็งคอหอยหลังโพรงจมูกอาจคล้ายกับการรักษาโรคมะเร็งทั่วไป ที่มีการใช้รังสี อาจร่วมกับเคมีบำบัด แต่อาจไม่มีวิธีการผ่าตัดในช่วงการรักษาแรกๆ เพราะบริเวณคอหอยหลังโพรงจมูกจะใกล้กับอวัยวะส่วนสำคัญหลายๆ อย่างเช่น เส้นเลือดแดงที่เลี้ยงคอ และสมอง ฐานกะโหลกศีรษะ และส่วนของสมอง แต่หากควบคุมมะเร็งคอหอยหลังโพรงจมูกได้แล้ว และยังมีก้อนเนื้ออยู่ อาจใช้วิธีผ่าตัดกับก้อนในบริเวณที่จำกัด และปลอดภัยได้