โรคอ้วน

อันตรายของ “โรคอ้วน”

Views

การกินอาหารที่ดีมีประโยชน์นั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรามีสุขภาพดี แต่หากได้รับปริมาณอาหารมากเกินความจำเป็นของร่างกาย ก็จะเกิดการสะสมไขมันตามส่วนต่างๆ และทำให้คุณกลายเป็น “โรคอ้วน” ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ให้นิยามของโรคอ้วนไว้ว่า “ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันส่วนต่างๆ ของร่างกายเกินปกติ จนเป็นปัจจัยเสี่ยงหรือเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ ที่ส่งผลถึงสุขภาพ จนอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้”

ปัจจุบันคนอ้วนถือเป็นภาวะของการเป็น “โรค” เพราะความอ้วนส่งผลให้สุขภาพโดยรวมไม่แข็งแรง ส่งผลต่อสมรรถนะในการทำงาน การใช้ชีวิต บางคนอ้วนมากจนช่วยเหลือตัวเองได้น้อย เคลื่อนตัวไปไหนมาไหนลำบาก หรือบางคนอ้วนมากจนขยับตัวไม่ได้เลย

เมื่อเราเริ่มอ้วนก็จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่างๆ อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ข้อเข่าเสื่อม โรคตับ นิ่วในถุงน้ำดี นิ่วในไต โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไขมันในเลือดสูง มีปัญหาในการหายใจ มักเป็นโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหลายโรค เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งกระเพาะอาหาร

การที่จะรู้ว่าเราอ้วนหรือไม่นั้น สามารถคิดจากสูตรคำนวณดัชนีมวลกาย [BMI = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (หน่วยเป็นเมตร) ยกกำลังสอง]

ค่าดัชนีมวลกายที่เหมาะสมคือ 18.50-22.99 หากอยู่ระหว่าง 23.00-24.90 จัดว่าเป็นคนท้วม และหากเกิน 25 ขึ้นไปก็จัดว่าคุณเป็นคนอ้วน

จากการสำรวจข้อมูลพบว่ามีคนอ้วนเป็นจำนวนมากถึง 16 ล้านคน เป็นหญิงมากกว่าชายถึง 2 เท่าตัว (ข้อมูลปี 2557) ซึ่งค่าเฉลี่ยความอ้วนของคนไทยอยู่ในลำดับที่ 2 รองจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งนับเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งของประเทศเลยทีเดียว ปัจจุบันภาวะอ้วนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก มีคนอ้วนทั่วโลกเกือบพันล้านคนเลยทีเดียว

สาเหตุของความอ้วน มีดังนี้ คือ

• การกินอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย ทำให้เกิดการสะสมพลังงาน มีไขมันสูงตามร่างกาย ทั้งในเส้นเลือด ช่องท้อง อีกทั้ง รูปแบบการดำเนินชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับโต๊ะทำงาน ร่างกายไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว หรือออกกำลังกาย พลังงานในแต่ละวันที่เหลือ จึงแปรเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นโรคอ้วน

• การเป็นโรคไทรอยด์ ต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระบบเผาผลาญของร่างกายทำงานน้อยลง การมีโรคประจำตัวทำให้ร่างกายไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้พบเป็นส่วนน้อยที่ทำให้เป็นโรคอ้วน

ลดความอ้วนอย่างไรดี

ความอ้วนเป็นสาเหตุของโรคต่างๆ มากมาย ดังนั้น ถ้าเราลดความอ้วนได้ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ ด้วย เช่น ถ้าน้ำหนักตัวเราอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม จะไม่มีอาการปวดเข่า ข้อเข่าเสื่อม เพราะร่างกายสามารถรับน้ำหนักตัวได้

การลดความอ้วนง่ายๆ คือจะต้องควบคุมปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ ใน 1 วันควรได้รับพลังงานไม่เกิน 1,200 กิโลแคลอรี โดยควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และคำนวณแคลอรีที่ร่างกายได้รับให้พอดี นั่นคือ กินข้าวไม่เกินมื้อละ 1 ทัพพี โปรตีนควรได้รับ 6 ช้อนโต๊ะหรือ 1 ขีดต่อมื้อ ซึ่งควรเลือกกินเนื้ออกไก่ เนื้อปลา ไข่ขาว เนื้อหมูไม่ติดมัน และงดกินเนื้อที่มีไขมันแทรก

กินอาหารที่พลังงานต่ำ ได้แก่ อาหารต้มๆ นึ่งๆ ผักสดต่างๆ เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ ผลไม้สดก็กินในปริมาณที่พอดี งดกินของมัน ของทอด ของขบเคี้ยว ขนมหวานต่างๆ ไม่ควรกินผลไม้แปรรูปอย่างมะม่วงแช่อิ่ม มะม่วงกวน เพราะจะได้รับความหวานที่มากเกินไป นอกจากนี้ควรงดดื่มน้ำหวานและกาแฟ

การออกกำลังกาย เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร เพื่อให้ร่างกายได้เผาผลาญพลังงานมากขึ้น โดยควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีขึ้นไป และออกอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลา 150 นาทีต่อสัปดาห์ จึงจะมีการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย

คนที่น้ำหนักตัวมากไม่ควรออกกำลังกายด้วยการวิ่ง เพราะจะส่งผลต่อข้อเข่า ควรใช้การปั่นจักรยานแทน ซึ่งการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับคนอ้วนมากที่สุดคือการว่ายน้ำ เพราะน้ำจะช่วยพยุงร่างกาย สามารถเผาผลาญพลังงานได้มาก และไม่มีผลเสียต่อข้อเข่า

ส่วนคนที่ไม่สะดวกหรือไม่มีสถานที่ออกกำลังกาย ก็แค่ “แกว่งแขน” วันละ 100 ครั้ง หรือประมาณ 30 นาที การแกว่งแขนสามารถทำได้ง่ายๆ ทำได้ทุกที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หากทำทุกวันจะช่วยลดน้ำหนักได้ทางหนึ่งด้วย

ปรับวิถีชีวิตประจำวัน คนอ้วนที่ไม่มีปัญหาเรื่องข้อเข่า ควรเดินให้มากขึ้น เช่น เดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ เดินขึ้นสะพานลอย เดินเข้าซอยบ้านแทนการนั่งรถมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น

หากได้ทำตาม 3 ขั้นตอนที่แนะนำมาข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผล ในกรณีของคนที่มีน้ำหนักตัวมากและต้องการลดน้ำหนักอย่างจริงจัง ก็สามารถลดความอ้วนด้วยการใช้ยาและการผ่าตัด ซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เท่านั้น

การป้องกัน

การกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น ของมัน ของทอดและของหวาน ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและเช็กสุขภาพประจำปี ทุกคนก็สามารถป้องกันโรคอ้วนได้แล้ว

ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ

ขอขอบคุณhttps://www.rajavithi.go.th/

Leave a Reply