ไวรัสตับอักเสบบี

ตับอักเสบเรื้อรัง ต้องดูแลให้ดี ก่อนที่จะแย่ด้วยโรคตับแข็ง มะเร็งตับ

Views

ตับอักเสบเรื้อรัง หากไม่ได้รับการรักษา หรือดูแลให้ดี มันอาจจะอันตรายลุกลามร้ายแรงถึงขั้นตับแข็ง หรือมีโอกาสโชคร้ายด้วยมะเร็งตับได้เลย 

นั่นเป็นเพราะตับมีความสามารถพิเศษสุดน่าทึ่งอย่างหนึ่งคือ ความสามารถในการงอกเซลล์ใหม่ ทำให้เมื่อตับเกิดอาการอักเสบขึ้น มันจะทำลายเซลล์ที่อักเสบนั้นทิ้งแล้วสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาแทนที่ แต่ในขณะเดียวกันผลจากการทำลายเซลล์นั้นมันจะทิ้งซากฝากรอยแผลเป็นไว้ด้วย

ตับอักเสบเรื้อรังอาจกลายเป็นตับแข็ง และมะเร็งตับ 

แต่การอักเสบเรื้อรัง ที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้ตับต้องทำลายเซลล์อักเสบแล้วสร้างใหม่อยู่บ่อย ๆ กระทั่งเนื้อตับที่เนียนเรียบต้องถูกเนื้อแผลเป็นจำนวนมากเข้ามาบดบังแทน จนกลายเป็นพังผืดแทนที่เนื้อ เลือดไม่สามารถเข้าไปหล่อเลี้ยงตับได้ดี ซึ่งอาจนำไปสู่โรคตับแข็ง และมะเร็งตับได้ 

สาเหตุ ตับอักเสบเรื้อรัง

ตับอักเสบเรื้อรังสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น การที่ร่างกายไม่สามารถทำลายเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี และ ซี ได้ หรืออาจเกิดได้จากปัจจัยต่าง ๆ ที่มันดันเข้าไปแทรกแซงการทำงานของตับ และกระตุ้นให้เกิดการอักเสบที่ตับ เช่น ไขมันพอกตับ การดื่มสุรา เป็นต้น 

1.ตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัส 

แม้ว่าเชื้อไวรัสตับอักเสบจะมีมากมายหลายชนิดด้วยกัน แต่มันจะมีเพียง ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซี เท่านั้น ที่สามารถทำให้ตับอักเสบเรื้อรังยังคงอยู่กับเรา ซึ่งทั้งไวรัสบีและซีนี้ เป็นเชื้อไวรัสที่ไม่ได้ติดต่อทางน้ำลายอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นเชื้อติดต่อกันทางเลือด น้ำเหลือง สารคัดหลั่ง น้ำอสุจิ น้ำในช่องคลอด น้ำนม เท่านั้น 

ไวรัสตับอักเสบบี เป็นโรคที่ถูกพูดถึงบ่อยมาก นั่นเป็นเพราะจำนวนพาหะของโรคนี้มีปริมาณมากสูงถึง 7% ของประชากรไทย หรือราว ๆ 5 ล้านคน แต่โชคดีอย่างคือคนส่วนใหญ่ที่ได้รับเชื้อไวรัสบีนี้สามารถหายเองได้ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน แต่จะมีผู้โชคร้ายเพียง 5% เท่านั้น ที่ร่างกายไม่สามารถสู้และต้านทานไวรัสได้ ต้องกลายเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรังไป

ไวรัสตับอักเสบซี แม้จะไม่พบบ่อยเท่ากับไวรัสตับอักเสบบี แต่ก็สามารถทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรังด้วยเช่นกัน แถมยังเมื่อติดไวรัสซีแล้วยังมีโอกาสถึง 80% ที่ต้องกลายเป็นผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรัง และจะมีเพียง 20% เท่านั้นที่ร่างกายสามารถฟื้นฟูเยียวยาให้หายจากไวรัสตับอักเสบซีชนิดนี้ 

2.ตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ 

แอลกอฮอล์เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง นั่นเพราะมันมีฤทธิ์ในการทำลายเซลล์ตับ อีกทั้งตับต้องทำงานอย่างหนักในการขับดูดซับแอลกอฮอล์ออกมาจากเลือด และทำลายทิ้งออกไปจากร่างกาย แน่นอนว่าการทำงานหนักของตับย่อมทำให้ตับอักเสบ ดังนั้นการดื่มแอลกอฮอล์อย่างไม่หยุดพัก โรคตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ว มะเร็งตับ อาจจะตามมาถามหาได้ในไม่ช้า 

3.ตับอักเสบเรื้อรัง จากไขมันพอกตับ 

โรคไขมันพอกตับ เกิดจากการที่ร่างกายเราได้รับสารอาหารเข้าไป เมื่อสารอาหารถูกใช้ไม่หมด มันจะถูกนำมาเก็บรักษาไว้ที่ตับเพื่อใช้เป็นพลังงานสำรองในรูปของ ไกลโคเจน(น้ำตาลกลูโคส) และไตรกลีเซอร์ไรด์(ไขมัน)  แต่หากพลังงานนั้นไม่ถูกนำไปใช้และเรายังคงกินเยอะเข้าไปอย่างต่อเนื่อง ตับก็ต้องมีวันเต็มกลายเป็นโรคไขมันพอกตับ  มันจึงต้องทำลายเซลล์ที่ถูกไขมันมาเบียดแทรกทิ้ง และการทำลายทิ้งนี่แหละที่ทำให้เกิดการอักเสบ ตราบใดก็ตามที่ไขมันและไกลโคเจนไม่ถูกจำกัดออกไป ตับก็ต้องเกิดการอักเสบไปอย่างต่อเนื่อง เป็นตับอักเสบเรื้อรัง

ตับอักเสบเรื้อรัง ที่ไม่ค่อยแสดงอาการ 

โรคที่เกี่ยวข้องกับตับหลาย ๆ โรคนั้นมักจะไม่ค่อยแสดงอาการให้เห็นเท่าไหร่นัก กว่าจะเผยตัวออกมาตับก็ถูกทำลายไปเสียจนแทบไม่เหลือชิ้นดีแล้ว ตับอักเสบก็เช่นกัน กว่าหลาย ๆ คนจะรู้ตัวว่ามันกำลังคืบคลานเข้ามา ตับก็เกิดการอักเสบรุนแรง หรือเป็นระยะท้ายๆ แล้ว 

อาการของ ตับอักเสบเรื้อรัง

แม้ตับอักเสบมักไม่ค่อยแสดงอาการ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถสังเกตุได้เลย  โดยอาการของตับอักเสบเรื้อรังที่มักพบมีดังนี้ 

  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไร้เรี่ยวแรง  
  • ปวดท้องใต้ชายโครงขวา 
  • คลื่นไส้ วิงเวียน อยากอาเจียนบ่อย ๆ 
  • น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ
  • ปัสสาวะมีสีเข้มจัด แต่อุจาระกลับมีสีซีด 
  • ร่างกายเริ่มมีสีเหลือจากภาวะตัวเหลืองตาเหลือง มึนงง สับสน คิดอะไรก็ไม่ออก

การดูแล รักษา ตับอักเสบเรื้อรัง 

การดูแลรักษาฟื้นฟูตับจากการอักเสบเรื้อรังนั้น ต้องดูให้ชัดเจนก่อนว่าสาเหตุเกิดจากอะไรกันแน่

ถ้ามาจากไวรัสตับอักเสบก็ควรดูแลค่าตับ และปฏิบัติตามที่หมอสั่ง 

ถ้ามาจากการดื่มแอลกอฮอล์ จำเป็นต้องเลิกดื่ม

ถ้ามาจากโรคไขมันพอกตับ ก็เพียงแค่เลือกกินของดี ๆ กินในปริมาณที่เหมาะสมไม่กินเยอะ พยายามหลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมัน และแป้ง รวมไปถึงต้องออกกำลังกายให้ร่างกายได้นำพลังงานสำรองออกมาใช้ด้วย 

ขอขอบคุณ http://www.med-thai.com

Leave a Reply