รู้หรือไม่ว่าผู้ที่มีอายุ 55-60 ปีขึ้นไป มักประสบกับภาวะ “ต้อกระจก” ที่เป็นเช่นนี้เพราะเกิดจากการเสื่อมสภาพของเลนส์แก้วตา ส่งผลให้เลนส์ตาที่เคยโปร่งใส่เหมือนกระจก กลายเป็นสีขาวขุ่นเข้ามาแทนที่ ปิดกันแสงที่ส่งผ่านเข้าไปยังจอประสาทตาได้น้อยลง คุณพ่อคุณแม่ หรือปู่ย่าตายายเราถึงเกิดอาการตาฟาง ภาวะการมองเห็นภาพไม่ชัดดังแต่ก่อน
การรักษา : ในกรณีที่อาการไม่รุนแรง การมองเห็นอาจทำให้ดีขึ้นได้ด้วยการเปลี่ยนแว่นสายตา ใช้แว่นขยายหรือเพิ่มแสง แต่หากวิธีนี้ไม่ได้ผลสามารถผ่าตัดรักษาได้ด้วย “การผ่าตัดสลายต้อกระจกและเปลี่ยนใส่เลนส์แก้วตาเทียม” โดยเป็นการสลายเลนส์ที่ขุ่นมัวจากสาเหตุของต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวนด์และใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่เพื่อปรับค่าสายตา
ทำไมควรรักษาด้วยการผ่าตัดต้อกระจก
ปัญหาต้อกระจกที่ส่งผลทำให้เลนส์แก้วตาขุ่นมัว จะรบกวนการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และอาจส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการมองเห็นได้ “การผ่าตัดสลายต้อกระจก และเปลี่ยนใส่เลนส์แก้วตาเทียม” เป็นวิธีการรักษาเดียวในปัจจุบันที่จะทำให้กลับมามองเห็นได้อย่างเต็มที่ และชัดเจนอีกครั้ง
การผ่าตัดสลายต้อกระจก มีวิธีการรักษาอย่างไร
แพทย์จะใช้คลื่นอัลตราซาวนด์เข้าไปสลายต้อกระจกผ่านท่อขนาดเล็กที่สอดเข้าไปในดวงตา โดยทำการเปิดปากแผลประมาณ 2-3 มิลลิเมตร คุณสมบัติของคลื่นอัลตราซาวนด์จะทำหน้าที่ให้เลนส์ที่ขุ่นมัวแตกออกเป็นชิ้นเล็กๆ จนสามารถดูดเศษเลนส์ชิ้นเล็กๆ นั้นออกมาทางท่อได้ หลังการผ่าตัดต้อกระจก แพทย์จะนำเลนส์แก้วตาเทียม ซึ่งเป็นวัสดุมีลักษณะเป็นพลาสติกใส เส้นผ่าศูนย์กลาง 5-6 มิลลิเมตร เข้าไปแทนที่ เลนส์ธรรมชาติที่ขุ่น เพื่อให้การมองเห็นชัดเจนขึ้น และจะคงอยู่ในดวงตาได้อย่างถาวร การผ่าตัดส่วนใหญ่ใช้เวลาระหว่าง 15 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมง และมีเลนส์ให้เลือกหลายประเภท ดังนั้น
• เลนส์แก้วตาเทียมชนิดระยะโฟกัสระยะเดียว (Standard IOL) เป็นเลนส์แบบธรรมดา มีกำลังการรวมแสงเดียว ช่วยให้สามารถโฟกัสภาพในระยะไกลได้ ส่วนการมองใกล้ต้องอาศัยแว่นอ่านหนังสือช่วย
• เลนส์แก้วตาเทียมชนิดโฟกัสหลายระยะ (Multifocal IOL) เป็น เลนส์แก้วตาเทียมที่มีหลายวง แต่ละวงจะมีกำลังการรวมแสงที่แตกต่างกันออกไปเพื่อใช้สำหรับมองไกลและใกล้ได้ แต่ผู้เข้ารับการรักษาอาจจะต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับตัวพอสมควร
• เลนส์แก้วตาเทียมชนิดแก้ไขสายตาเอียง (Toric IOL) เป็นเลนส์แก้วตาเทียมที่สามารถแก้ค่าสายตาเอียงในตัว (Toric IOL) ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้แว่นตาแก้สายตาเอียงหลังผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยที่มีสายตาเอียงอยู่เดิม โดยสามารถแก้ไขค่าสายตาเอียงได้ประมาณ 100-200
การผ่าตัดเปลี่ยนใส่เลนส์แก้วตาเทียมมีความเสี่ยงหรือไม่
ในส่วนของความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนได้อาจเกิดขึ้นได้ทุกชนิดของการผ่าตัด สำหรับ “การผ่าตัดสลายต้อกระจกและเปลี่ยนใส่เลนส์แก้วตาเทียม” ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การติดเชื้อ แต่สามารถแก้ไขได้ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะในการรักษา พบได้ไม่บ่อย และมักไม่รุนแรง ในบางกรณีอาจต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล อาการอักเสบของตา ตาแดงและหนังตาบวม อาการบวมของกระจกตา เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยสามารถลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดได้โดยการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของจักษุแพทย์ทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม คลินิกตา
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน 0 2271-7000 ต่อ 11396-97
ขอขอบคุณข้อมูล:paolohospital.com