คอเลสเตอรอลรู้ทัน-โรค

Cholesterol กับความเชื่อและข้อเท็จจริงที่ควรรู้

Views

ความเชื่อเกี่ยวกับ Cholesterol (คอเลสเตอรอล) มีหลากหลายแตกต่างกันไป ทว่าคำกล่าวเหล่านั้นเป็นจริงหรือเท็จ ควรศึกษาให้รู้แน่ชัด เนื่องจากคอเลสเตอรอลนั้นเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพหลายประการ ความเข้าใจแบบผิด ๆ จึงอาจส่งผลเสียต่อการดูแลสุขภาพได้

คอเลสเตอรอลคือไขมันชนิดหนึ่งที่ไหลเวียนอยู่กระแสเลือด โดยส่วนใหญ่ถูกผลิตขึ้นภายในตับ และมีบางส่วนมาจากอาหารที่รับประทานเข้าไป ทั้งนี้คอเลสเตอรอลแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

  • คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low-Density Lipoproteins: LDL) เป็นคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีต่อร่างกาย ส่วนหนึ่งได้รับจากอาหารที่รับประทานเข้าไป และบางส่วนร่างกายของคนเราสร้างขึ้นเอง หากมีคอเลสเตอรอลชนิดนี้ในร่างกายมากเกินไปจะทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดตามมาได้
  • คอเลสเตอรรอลชนิดดี (High-Density Lipoproteins: HDL) คือคอเลสเตอรอลที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ส่วนใหญ่สร้างขึ้นมาจากตับ มีหน้าที่ช่วยลดการก่อตัวของคราบสะสมของคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี และหากมีในปริมาณมากจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการอุดตันของหลอดเลือดลงได้

ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับคอเลสเตอรอล

หลากหลายความเชื่อเกี่ยวกับคอเลสเตอรอลที่เคยได้ยินกันนั้นอาจเป็นเพียงความเข้าใจผิด ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้อาจส่งผลให้ดูแลสุขภาพอย่างผิด ๆ ตามไปด้วย  

คอเลสเตอรอลเป็นสิ่งที่ไม่ดี

หลายคนมักคิดว่าคอเลสเตอรอลเป็นสิ่งที่ไม่ดีต่อร่างกาย ทั้งที่จริงแล้ว ร่างกายของคนเราต้องการคอเลสเตอรอลเพื่อให้ระบบต่าง ๆ ทำงานได้เป็นปกติ แต่จะส่งผลเสียกับร่างกายก็ต่อเมื่อในร่างกายมีคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีมากเกินไปเท่านั้น นอกจากนี้ หากร่างกายมีคอเลสเตอรอลชนิดดีสูงจะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองได้ ทั้งยังทำหน้าที่ป้องกันอันตรายจากกระบวนการเกิดอนุมูลอิสระที่เป็นผลมาจากคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีได้อีกด้วย

ไข่ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูง

ไข่ เป็นอาหารอีกชนิดที่มีปริมาณคอเลสเตอรอลสูง ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่กล้ารับประทานไข่ โดยเฉพาะผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูง แต่ความจริงแล้วผลกระทบจากคอเลสเตอรอลที่มีในไข่นั้นน้อยกว่าการรับประทานไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัว ซึ่งพบได้ในนมชนิดมีไขมันเต็มส่วนและเนื้อสัตว์ติดมัน นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาที่ระบุว่าการรับประทานไข่เป็นประจำอาจช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดสมองบางชนิดได้

อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานที่รับประทานไข่ 7 ฟองต่อสัปดาห์ อาจส่งผลให้เสี่ยงเกิดโรคหัวใจมากขึ้นได้ ดังนั้น เพื่อสุขภาพที่ดี ควรควบคุมปริมาณคอเลสเตอรอลจากอาหารอื่น ๆ ด้วยเมื่อรับประทานไข่ โดยผู้ที่มีสุขภาพดีควรบริโภคอาหารที่มีคอเลสเตอรอลไม่เกินวันละ 300 มิลลิกรัม ส่วนผู้มีภาวะคอเลสเตอรอลสูง เป็นโรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน ควรได้รับคอเลสเตอรอลจากอาหารไม่เกินวันละ 200 มิลลิกรั

ทั้งนี้ หากต้องการรับประทานไข่แต่ไม่ต้องการเพิ่มคอเลสเตอรอลให้กับร่างกาย ควรหลีกเลี่ยงไข่แดงและรับประทานไข่ขาวแทน เพราะจะช่วยให้ได้ประโยชน์จากไข่โดยไม่ต้องกังวลเรื่องคอเลสเตอรอลแต่อย่างใด

เด็กมีภาวะคอเลสเตอรอลสูงไม่ได้

มีการศึกษาพบว่าการโรคหลอดเลือดแดงแข็งที่มีสาเหตุมาจากการมีภาวะคอเลสเตอรอลสูงนั้นเกิดขึ้นได้กับเด็กอายุตั้งแต่ 8 ปีขึ้นไป จึงเป็นข้อพิสูจน์ว่าเด็กมีภาวะคอเลสเตอรอลสูงได้ โดยเฉพาะเด็กที่มีน้ำหนักตัวเกิน มีโรคความดันโลหิตสูง หรือบุคคลในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคหัวใจ ซึ่งเด็กที่มีความเสี่ยงเหล่านี้ควรได้รับการตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอลตั้งแต่อายุ 2 ขวบ

ทั้งนี้ หากเด็กมีภาวะคอเลสเตอรอลสูง ผู้ปกครองควรควบคุมปริมาณการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และให้รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพตามคำแนะนำของแพทย์ นอกจากนี้ ควรเสริมอาหารที่มีกากใยสูง และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอร่วมด้วย

คนอ้วนเท่านั้นที่มีคอเลสเตอรอลสูง
แม้ว่าคนที่มีภาวะอ้วน จะมีแนวโน้มการเกิดภาวะคอเลสเตอรอลสูงมากกว่าคนผอม แต่คนที่มีน้ำหนักตัวน้อยก็เสี่ยงมีคอเลสเตอรอลสูงได้ไม่ต่างกัน ทั้งยังเสี่ยงเกิดภาวะนี้โดยไม่รู้ตัวอีกด้วย โดยเฉพาะคนที่อ้วนยาก เนื่องจากมักไม่ตระหนักว่าตนเองรับประทานไขมันทรานส์หรือไขมันอิ่มตัวเข้าไปมากเพียงใด ดังนั้น แม้จะมีน้ำหนักน้อยก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวัดระดับคอเลสเตอรอลอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งควรออกกำลังกายและเอาใจใส่อาหารที่รับประทานให้มากขึ้น

ไม่จำเป็นต้องตรวจคอเลสเตอรอลจนกว่าจะเข้าสู่ช่วงวัยกลางคน

คอเลสเตอรอลนั้นอยู่ในร่างกายของคนเราตั้งแต่เกิด จึงไม่จำเป็นต้องเริ่มตรวจระดับคอเลสเตอรอลเมื่อเข้าสู่วัยกลางคนเท่านั้น แต่ควรตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะมีการศึกษาระบุว่าเด็กที่คอเลสเตอรอลสูงนั้นมีความเสี่ยงเกิดโรคหัวใจเมื่อโตขึ้น ดังนั้น ผู้ปกครองจึงควรเริ่มดูแลเรื่องอาหารการกินและการออกกำลังกายของลูกน้อยตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อให้เติบโตมามีสุขภาพแข็งแรงและลดความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ โดยควรเริ่มตรวจคอเลสเตอรอลและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ตั้งแต่อายุ 20 ปีเป็นต้นไป

ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิต หากรับประทานยาลดคอเลสเตอรอล 

การรักษาด้วยยาถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ที่มีภาวะคอเลสเตอรอลสูง แต่การปรับเปลี่ยนอาหารที่รับประทานและรูปแบบการใช้ชีวิตเป็นอีกวิธีที่ดีในการช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดจากการภาวะคอเลสเตรอลสูงเช่นกัน ดังนั้น แม้จะรับประทานยาลดระดับคอเลสเตอรอลแล้วก็ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายวันละ 40 นาที สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ควบคู่กันไป ควรปรึกษาแพทย์ถึงการปรับเปลี่ยนอาหารและการออกกำลังกายที่เหมาะสมตั้งแต่เริ่มรับการรักษา เพื่อให้ระดับคอเลสเตอรอลลดลงอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อสุขภาพยิ่งขึ้น

ขอขอบคุณhttps://www.pobpad.com/

Leave a Reply