ปวดท้อง ปวดหลัง อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ของหลายโรค หนึ่งในนั้นก็คือ “นิ่วในไต” ที่ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดหลังบริเวณบั้นเอว และอาจปวดอย่างรุนแรง ทานยาแก้ปวดก็ไม่บรรเทา หากใครมีอาการเช่นนี้ เราอยากให้รีบเช็กตัวเองตามข้อมูลข้างล่าง หากเข้าข่ายควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้ละเอียด เพราะโรคนิ่วในไตอาจนำไปสู่โรคไตที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลย
นิ่วในไต คืออะไร
นิ่วในไต ภาษาอังกฤษคือ Kidney Stone / Renal Stone / Renal calculi เป็นก้อนผลึกขนาดเล็ก ประกอบด้วยหินปูน (แคลเซียม) กับสารเคมีอื่น ๆ เช่น ออกซาเลต เป็นต้น หรือบางรายอาจจะมีขนาดใหญ่ที่เกิดจากสารตกค้างต่าง ๆ ทั้งจากสารอาหารที่เรากินเข้าไป หรือกรดบางชนิดที่ร่างกายขับออกไม่หมด เช่น กรดยูริก โดยเจ้าก้อนนิ่วนี้ไม่ได้สร้างแค่ความเจ็บปวดเพียงอย่างเดียว แต่ยังไปเพิ่มอัตราเสี่ยงในการเป็นโรคไตอีกด้วย
ทั้งนี้ นิ่วในไต พบได้ในคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และพบมากในช่วงอายุ 30-40 ปี ซึ่งนิ่วอาจมีเพียงก้อนเดียวหรือหลายก้อนก็ได้ แต่ส่วนใหญ่พบในไตเพียงข้างเดียว และมีขนาดต่าง ๆ กัน
นิ่วในไต เกิดจากสาเหตุอะไร นี่ล่ะปัจจัยเสี่ยง
อย่างที่บอกไปแล้วว่านิ่วในไตเกิดได้จากสารตกค้างต่าง ๆ เช่น อาหารที่เราทานเข้าไปแล้วร่างกายขับออกไม่หมด โดยเฉพาะแคลเซียมที่พบว่าทำให้เกิดนิ่วได้มากที่สุด ซึ่งข้อมูลจากเว็บไซต์ Health.com ระบุว่า มีหลายปัจจัยยเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไต ทั้งเรื่องอาหารและเรื่องอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ดังนี้
* รับประทานผักมากไปก็เป็นนิ่วได้นะ
ผักมีประโยชน์สำหรับร่างกายก็จริง แต่ผักบางชนิดอย่างเช่น ผักใบเขียว กะหล่ำ บรอกโคลี หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือเทศ หัวบีท ถั่วแดง ถั่วเหลือง มะเขือ แครอท ชะพลู ผักโขม ผักเสม็ด ผักกระโดน ฯลฯ รับประทานมากเกินไปก็ทำให้เกิดผลเสียได้เหมือนกัน เพราะในผักเหล่านี้มีสารออกซาเลตสูง และการที่มีสารเหล่านี้มากเกินไปก็จะไปตกค้างจนกลายเป็นนิ่วนั่นเอง
* รับประทานเนื้อมากไปก็อันตราย
การศึกษาในวารสาร Nutritional Epidemiology เมื่อปี 2014 ได้เปิดเผยว่า ผู้ที่รับประทานอาหารมังสวิรัติและปลา มีอัตราการเกิดนิ่วในไตน้อยกว่าผู้ที่รับประทานเนื้อแดงเป็นประจำ 30-50% เลยทีเดียวเชียว นั่นก็เป็นเพราะว่า ในการย่อยโปรตีนปริมาณที่มากเกินไปจะก่อให้เกิดการสร้างตัวของกรดยูริกและเข้าไปสะสมอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ เมื่อกรดยูริกมีมากเข้าก็จะจับตัวกลายเป็นก้อนแข็งที่เราเรียกว่านิ่วนั่นเอง แต่ถ้าหากคุณเลิกรับประทานเนื้อไม่ได้ ก็ควรจะรับประทานผักเพื่อเสริมแมกนีเซียมจะช่วยลดการก่อตัวของก้อนนิ่วได้
* อาหารรสเค็มใครว่าทำให้เป็นโรคไตอย่างเดียว นิ่วก็เป็นได้เหมือนกัน
เรามักจะคิดว่าการรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจะส่งผลต่อไตและความดันโลหิต แต่จริง ๆ แล้ว ก็เป็นสาเหตุให้เกิดนิ่วในไตได้เช่นกัน เพราะปริมาณโซเดียมที่มากเกินไป จะทำให้เกิดการก่อตัวขึ้นของแคลเซียมในกระเพาะปัสสาวะ และแคลเซียมที่ตกค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะก็จะตกผลึกก่อตัวเป็นก้อนนิ่วในไตได้ ซึ่งปริมาณของโซเดียมทีเหมาะสมต่อร่างกายคือไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ถ้าหากเป็นผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูงควรจะรับประทานให้น้อยกว่าวันละ 1,500 มิลลิกรัมจะดีที่สุดค่ะ
* รับประทานผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวน้อยเกินไป ความเสี่ยงยิ่งถามหา
ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว อาทิ ส้ม มะนาว เกรปฟรุต เลมอน เป็นผลไม้ที่มีสารซิเตรท (Citrate) อันมีฤทธิ์ในการลดความเสี่ยงการเกิดนิ่วในไต ซึ่งมีการศึกษาหนึ่งในวารสารชื่อ Nature ได้พบว่า เมื่อคนเรารับประทานผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวเป็นประจำติดต่อกัน 1 เดือนจะทำให้สารที่ก่อให้เกิดนิ่วในไตซึ่งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะลดลง ฉะนั้นไม่อยากเป็นโรคนี้ละก็ ควรดื่มน้ำมะนาวเป็นประจำทุกวันค่ะ
* ดื่มชาเย็นเป็นประจำ สารก่อนิ่วเพียบ
รายงานล่าสุดในวารสารทางการแพทย์อย่าง New England Journal of Medicine พบว่าการดื่มชาดำเย็นมาก ๆ เป็นสาเหตุให้เกิดอาการไตวายเฉียบพลันได้ เนื่องจากในชาดำมีสารออกซาเลตเป็นจำนวนมาก การดื่มชาดำเป็นประจำจะทำให้สารออกซาเลตตกค้างอยู่ในร่างกายและก่อให้เกิดนิ่วในไตได้ ยิ่งถ้าหากคุณมีประวัติว่าเคยเป็นนิ่วมาก่อน ควรจะเลี่ยงให้ไกล หรือไม่ก็ปรึกษาแพทย์ก่อนดีกว่า กันไว้ดีกว่าแก้
* น้ำอัดลม เครื่องดื่มนี้ล่ะวายร้าย
หลายคนเวลาที่รู้สึกกระหายน้ำก็มักจะคว้าเอาน้ำอัดลมมาดื่มเพื่อให้รู้สึกสด ชื่นโดยลืมนึกไปว่าน้ำอัดลมนี้เป็นจอมวายร้ายทำลายสุขภาพ ไม่เพียงแต่ทำให้เสี่ยงโรคเบาหวาน หรือโรคอ้วนเท่านั้น แต่ยังทำให้เสี่ยงเกิดนิ่วในไตด้วย โดยการศึกษาหนึ่งในปี 2013 พบว่าการดื่มน้ำอัดลมเพียงวันละ 1 กระป๋องก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงที่นิ่วจะก่อตัวขึ้นได้มากถึง 23% สาเหตุก็มาจากน้ำตาลฟรุกโตสในน้ำอัดลมนั่นล่ะค่ะ คราวหน้าถ้าอยากสดชื่น หันมาดื่มน้ำเปล่าแทนดีกว่า
* นิ่วเกิดจากกรรมพันธุ์ได้เหมือนกัน
น่าแปลกใจใช่ไหมล่ะที่จริง ๆ แล้วนิ่วก็เกิดจากกรรมพันธุ์เช่นเดียวกับโรคอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน หรือโรคเบาหวาน นั่นก็เป็นเพราะว่าโรคนิ่วนั้นมีสาเหตุเกิดจากความผิดปกติของยีนที่เกี่ยวข้องกับการย่อยโปรตีน ทำให้เกิดกรดยูริกตกค้างในร่างกาย และอาจเกิดได้จากความบกพร่องของยีนที่ทำงานสัมพันธ์กับการดูดซึมสารออกซาเลตในร่างกาย ดังนั้นหากครอบครัวของคุณมีใครเคยเป็นนิ่วในไต ก็ควรระมัดระวังตัวให้มากขึ้น
* ระบบทางเดินอาหารอักเสบ ส่งผลร้ายลามมาถึงไต
คนที่มีอาการอักเสบในระบบทางเดินอาหารมีความเสี่ยงในการเกิดนิ่วมากว่าคนทั่วไป โดยการศึกษาในปี 2013 จาก International Journal of Nephrology and Renovascular Disease พบว่าผู้ที่มีโรคโครห์น และลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง จะมีความเสี่ยงในการเป็นนิ่วในไตมากเป็นพิเศษ มีความสืบเนื่องกันจากการท้องเสียซึ่งเป็นอาการหลัก ๆ ของกลุ่มอาการอักเสบในระบบทางเดินอาหาร เพราะอาการท้องเสียจะส่งผลให้เกิดการขาดน้ำ และการขาดน้ำก็เป็นสาเหตุให้เกิดนิ่วนั่นเอง
* การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
จริง ๆ แล้วการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะไม่ใช่ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดนิ่วในไต แต่เป็นสัญญาณของการเกิดนิ่วในไตเลยเชียวล่ะ เพราะเมื่อนิ่วในไตก่อตัวขึ้นก็จะไปปิดกั้นทางเดินของปัสสาวะ ส่งผลให้ปัสสาวะติดขัด และทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ถ้าหากคุณมีอาการปัสสาวะติดขัดหรือรู้สึกเจ็บเวลาปัสสาวะ รีบไปหาหมอดีกว่าค่ะ
* การใช้ยาระบายที่มากเกินไป ก่อให้เกิดการเสียสมดุล
การเสียสมดุลของเกลือแร่และในร่างกายอันเนื่องมาจากการใช้ยาระบายบ่อยเกินไป เป็นผลเสียที่ก่อให้เกิดอาการที่อันตรายกว่านั้น นั่นก็คือโรคนิ่วในไต เพราะเมื่อร่างกายเกิดการขับถ่ายบ่อย ๆ กว่าปกติ ร่างกายก็จะขับเอาเกลือแร่และน้ำออกจากร่างกาย ส่งผลให้การขจัดของเสียต่าง ๆ ในร่างกายออกทางปัสสาวะเกิดความผิดปกติ เมื่อของเสียสะสมอยู่ในร่างกายมากเกินไปก็จะทำให้ของเสียเหล่านั้นจับตัวกันเป็นก้อนนิ่ว ดังนั้นควรเลิกใช้ยาระบาย หันมารับประทานผักผลไม้ที่มีไฟเบอร์แทนกันเถอะ
* การรักษาโรคด้วยยาบางชนิด พิษที่ได้รับคือสารตกค้าง
ยาแม้ช่วยในการบรรเทาอาการแต่ก็ไม่ดีเสมอไปหรอกค่ะ เนื่องจากยาบางชนิดสามารถก่อให้เกิดนิ่วในไตได้ เช่น ยารักษาโรคไมเกรนอย่าง Topamax เนื่องจากเจ้ายาชนิดนี้จะไปเพิ่มระดับค่า PH ในทางเดินปัสสาวะ และระดับความเป็นกรดด่างที่เพิ่มขึ้นในระบบทางเดินปัสสาวะนี่ล่ะที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคนิ่วในไต ฉะนั้นหากต้องใช้ยานี้จริง ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
* โรคอ้วน อีกปัจจัยเสี่ยงของนิ่วในไต
การศึกษาที่ถูกเผยแพร่ในปี 2011 จากวารสาร Urology แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วนมีอัตราเสี่ยงในการเป็นโรคนิ่วสูงกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติถึง 35% นั่นก็เป็นเพราะว่าผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วนจะมีระดับกรด-ด่างในปัสสาวะสูงกว่าคนปกติ ก่อให้เกิดการสร้างตัวของกรดยูริกที่มากกว่าปกติ และตกค้างกลายเป็นนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
* การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน ผอมทางลัดระวังให้ดี
แม้ว่าความอ้วนจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคนิ่วได้ แต่ใช่ว่าการรักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดจะลดความเสี่ยงได้ แถมยิ่งทำให้เกิดนิ่วในไตได้ง่ายกว่าเดิมอีกด้วย เนื่องจากการผ่าตัดรักษาโรคอ้วนจะทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมได้ดี และกลายเป็นว่าสุดท้ายสารออกซาเลต รวมทั้งแคลเซียมที่เราบริโภคเข้าไปจะไปตกค้างในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดสารออกซาเลตและสารนั้นก็จะก่อตัวเป็นนิ่ว แต่ถ้าหากคุณต้องผ่าตัดเพื่อรักษาโรคอ้วนจริง ๆ ละก็ ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ในการรับประทานอาหารจะได้ไม่เจอกับโรคอันตรายจนต้องผ่าตัดซ้ำสองค่ะ
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากพฤติกรรมของตัวเองด้วย เช่น
– ดื่มน้ำน้อย หรือดื่มน้ำที่มีฟลูออไรด์สูง
– การอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อน เป็นเหตุให้ร่างกายเสียเหงื่อ ทำให้ขาดน้ำ ทำให้ปัสสาวะมีความเข้มข้นของสารเหล่านี้ จนตกผลึกกลายเป็นก้อนนิ่วได้
– กินวิตามินซีเสริมมากเกินไป เพราะวิตามินซีไปช่วยสร้างสารออกซาเลต ทำให้มีโอกาสเป็นนิ่ว
– กลั้นปัสสาวะบ่อย
– ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติซ่อนเร้นอยู่ เช่น โรคเกาต์ หรือมีระดับกรดยูริกในเลือดสูง ซึ่งเป็นความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ หรือต่อมพาราธัยรอยด์ทำงานมากเกิน ซึ่งทำให้มีแคลเซียมในเลือดสูง
นิ่วในไต อาการเป็นอย่างไร ปวดบริเวณไหน
– เมื่อเป็นนิ่วในไตจะรู้สึกปวดเอวหรือปวดหลังข้างที่เป็นนิ่ว จะปวดแบบเสียด ๆ หรือปวดบิดเกร็งเป็นพัก ๆ คล้ายปวดท้องประจำเดือน อาจปวดนานเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ ลักษณะเฉพาะของโรคนี้คือจะมีอาการปวดร้าวไปที่อัณฑะหรือช่องคลอดข้างเดียวกัน
– อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ร่วมกับปวดท้อง ปวดหลัง ใจหวิว ใจสั่น
– ถ้าก้อนนิ่วมีขนาดเล็กอาจตกลงมาที่ท่อไตได้ ทำให้เกิดอาการปวดบิดในท้องรุนแรง อาการปวดท้องอาจทุเลาได้เอง แต่ก็อาจกำเริบเป็นช่วง ๆ ตราบเท่าที่ก้อนนิ่วยังไม่หลุดออกมา
– ปัสสาวะอาจมีสีขุ่นแดง หรือมีเม็ดทราย หรือถ้าติดเชื้อรุนแรงก็อาจเป็นหนอง และอาจมีนิ่วก้อนเล็ก ๆ หลุดออกมากับปัสสาวะภายใน 1-2 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม หากปล่อยนิ่วในไตไว้นาน ๆ อาจเกิดอาการแทรกซ้อนทำให้เป็นไตวายเรื้อรังได้
นิ่วในไต แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไร
หากมีอาการปวดบริเวณดังกล่าว ปวดรุนแรง ปวดนานกว่าปกติ ทานยาแก้ปวดก็ไม่หาย ควรรีบไปพบแพทย์ และเมื่อสงสัยว่าเป็นนิ่วในไต แพทย์จะทำการตรวจปัสสาวะก่อน ซึ่งถ้าเป็นนิ่วจริงจะพบเม็ดเลือดแดงจำนวนมากในปัสสาวะ จากนั้นอาจมีการตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น ตรวจเลือด เอกซเรย์ อัลตราซาวด์ ฯลฯ
นิ่วในไต การรักษาทำได้อย่างไร
– หากเป็นนิ่วก้อนเล็ก ไม่เกิน 5 มิลลิเมตร สามารถหลุดออกได้เอง ดังนั้นแพทย์จะแนะนำให้ดื่มน้ำมาก ๆ และให้ยาละลายนิ่วร่วมด้วย
– หากเป็นนิ่วก้อนใหญ่ จะต้องใช้วิธีการผ่าตัดนิ่วออกมา
นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยการใช้เครื่องสลายนิ่ว (extracorporeal shock wave lithotripsy/ESWL) โดยใช้คลื่นเสียงไปทำให้เกิดแรงกระแทกที่ก้อนนิ่ว ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวก ไม่เจ็บตัว ไม่มีบาดแผล ไม่ต้องดมยาสลบ ทำได้ที่โรงพยาบาลของรัฐที่เป็นโรงเรียนแพทย์เกือบทุกแห่งทั่วประเทศ รวมทั้งโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั้งรัฐและเอกชน
ทั้งนี้แพทย์จะพิจารณาสลายนิ่วด้วยวิธีนี้กับนิ่วในไตที่ไม่ใหญ่เกิน 2 เซนติเมตร หากเป็นนิ่วในท่อไตไม่ควรโตเกิน 1-1.5 เซนติเมตร และไม่เป็นนิ่วชนิดแคลเซียมออกซาเลตโมโนไฮเดรต แคลเซียมฟอสเฟตและนิ่วซีสตีน เพราะไม่ตอบสนองต่อการรักษา นอกจากนี้หากเป็นหญิงตั้งครรภ์และผู้ป่วยบางโรคที่ไม่สามารถใช้วิธีสลายนิ่วได้ เพราะอาจเป็นอันตราย
สลายนิ่วในไต ด้วยวิธี ESWL ค่ารักษาเท่าไร
เพราะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการรักษานิ่วในไต จึงทำให้ค่ารักษาค่อนข้างสูงตามไปด้วย โดยในโรงพยาบาลรัฐ ค่ารักษาเริ่มต้น 20,000 บาทต่อครั้ง หากเป็นโรงพยาบาลเอกชนจะมีค่ารักษาสูงขึ้นไปอีก คือเริ่มต้น 30,000-50,000 บาท
อย่างไรก็ตาม นอกจากการสลายนิ่วด้วยวิธี ESWL แล้ว ล่าสุดยังมีนวัตกรรมใหม่คือการส่องกล้องเข้าในไตเพื่อเอานิ่วออกที่เรียกว่า PCNL ซึ่งทำได้ด้วยการเจาะรูขนาดเล็กประมาณ 1 เซนติเมตรเพื่อส่องกล้องเข้าไปในไต ถือว่าเป็นวิธีการรักษาที่บาดเจ็บน้อยที่สุด และสลายนิ่วได้มากกว่าวิธี ESWL แต่มีค่าใช้จ่ายสูงเช่นกัน
นิ่วในไต อันตรายไหม
หากเป็นก้อนนิ่วขนาดเล็กสามารถหลุดออกมากับปัสสาวะได้จะไม่มีอันตราย แต่ถ้านิ่วมีขนาดใหญ่เกิดการอักเสบติดเชื้ออาจทำให้เป็นโรคไตได้ หรือไปอุดกั้นทางเดินปัสสาวะก็เป็นอันตรายได้เช่นกัน
นิ่วในไต อาหารอะไรต้องระวัง
– อาหารที่มีสารออกซาเลตสูง เช่น ช็อกโกแลต โกโก้ น้ำชา มันเทศ หน่อไม้ ใบชะพลู ผักโขม ผักเสม็ด ผักกระโดน กะหล่ำ บรอกโคลี หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือเทศ หัวบีท ถั่วแดง ถั่วเหลือง มะเขือ แครอท งา มะเฟือง ฯลฯ
– อาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ถั่ว สาหร่าย หน่อไม้ ฯลฯ
– อาหารรสเค็ม
– ผู้ที่เป็นนิ่วชนิดกรดยูริกควรลดอาหารที่ให้สารพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ปีก เบียร์ ถั่ว
– ลดอาหารประเภทโปรตีน เพราะจะไปเพิ่มการขับเกลือ แคลเซียม ยูริก และออกซาเลต
– เลี่ยงการดื่มชา น้ำอัดลม
– ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทานวิตามินเสริมและอาหารเสริมต่าง ๆ
นิ่วในไต กินอะไรได้บ้างที่ช่วยป้องกันโรคได้ด้วย
– ต้องดื่มน้ำในปริมาณมาก ๆ เพื่อไม่ให้มีตะกอนสะสมเป็นก้อนจนเกิดนิ่วได้
– ดื่มน้ำมะนาววันละแก้วเป็นประจำ เพราะสารซิเตรทในมะนาวจะป้องกันนิ่วที่เกิดจากแคลเซียม
– รับประทานอาหารที่มีกากใยมาก ๆ
– สามารถทานอาหารที่มีแคลเซียมได้ โดยการศึกษาในปี 2013 ของคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ระบุว่า การบริโภคแคลเซียมจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดนิ่วในไตได้ เพราะการทานแคลเซียมไม่เพียงพอจะทำให้สารออกซาเลตไปจับตัวกับแคลเซียมที่อยู่ในกระเพาะปัสสาวะแทนที่จะไปอยู่ในลำไส้ สารออกซาเลตจึงตกค้างในกระเพาะปัสสาวะและตกผลึก จับตัวกันเป็นก้อนนิ่วในที่สุด ดังนั้นจึงควรทานแคลเซียมให้ได้ประมาณ 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้ยังควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง คืออย่ากลั้นปัสสาวะ ควรปัสสาวะออกมาให้มากกว่าวันละ 2.5 ลิตร เพื่อป้องกันการตกตะกอนของสารต่าง ๆ และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินจะช่วยให้ก้อนนิ่วขนาดเล็กหลุดได้
เข้าใจปัจจัยเสี่ยงและอาการของนิ่วในไตแล้ว ก็อย่าปล่อยผ่านไปนะคะ นำไปใช้ให้เป็นประโยชน์โดยการเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและดูแลตัวเองให้ดีมากขึ้นกันเถอะ
ขอขอบคุณhttps://health.kapook.com
ข้อมูลจาก
หน่วยศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
หน่วยปฏิบัติการวิจัยชีวเคมีและชีววิทยาโมเลกุลของโรคทางเมแทบอลิซึม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย