ไม่นานมานี้ มีข่าวเล็กๆแต่เป็นอุทาหรณ์ให้กับคนที่ชอบรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยวิธีแปลกๆได้เป็นอย่างดี
เมื่อคนไข้รายหนึ่งตัดสินใจเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งด้วยการแพทย์ทางเลือกกับพระภิกษุ ส่งผลให้เธอมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง เกือบเอาชีวิตไม่รอด สุดท้ายต้องแบกสังขารกลับมารักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน
คำถามที่หลายคนสงสัยคือ แพทย์ทางเลือกคืออะไร หากตัดสินใจเข้ารับการรักษาแล้วต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง..
นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า แพทย์ทางเลือกคือ การแพทย์ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการแพทย์หลักหรือการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยจำแนกตามการนำไปใช้ได้ดังนี้
Complementary Medicine การแพทย์ทางเลือกที่สามารถนำไปใช้เสริมหรือใช้ร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบันได้
Alternative Medicine การแพทย์ที่สามารถใช้ทดแทนการแพทย์แผนปัจจุบันในกรณีที่ไม่สามารถบำบัดรักษาได้ด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน หรือรักษาไม่สำเร็จ
นพ.ปราโมทย์ กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ผู้ป่วยเลือกเข้ารับการรักษาด้วยแพทย์ทางเลือก เนื่องมาจากรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันแล้วไม่หาย เกิดความสิ้นหวัง หรือประสบปัญหากับโรคเรื้อรังที่ยังไม่มีวิวัฒนาการในการรักษาให้หายขาด
“10-20% ของประชาชนที่เผชิญกับโรคเรื้อรัง เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคไต โรคหัวใจ โรคเบาหวานความดันหรือมะเร็งบางชนิด พวกนี้เป็นโรคที่วิทยาการยังไปไม่ถึงทำให้ประชาชนแสวงหาแพทย์ทางเลือกอื่น”
นพ.ปราโมทย์ แนะนำว่า ประชาชนที่แสวงหาการรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกต้องคำนึงถึงพื้นฐานสำคัญ 4 ข้อ ได้แก่
ประสิทธิผล คนไข้ต้องประเมินว่า การแพทย์ในศาสตร์และสาขานั้นสามารถบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยได้จริงไหม และมีหลักฐานอ้างอิงตามกล่าวอ้างหรือไม่
ความปลอดภัย หากเลือกรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวแล้วมีภาวะแทรกซ้อนจะส่งผลให้เกิดอันตรายหรือไม่ และหากมีจริง ผู้บำบัดสามารถแก้ไขหรือป้องกันภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใด ขณะเดียวกันสถานที่ที่ให้การบำบัดรักษาก็ควรพิจารณา
ความพร้อม รวมถึงยาและอุปกรณ์ที่ใช้ว่ามีคุณภาพหรือไม่ หัตถการต่างๆที่กระทำอันตรายแค่ไหน ผู้บำบัดมีการประเมินภาวะเจ็บป่วยและแจ้งให้ทราบหรือไม่ว่าอาจจะเกิดอันตรายจากการรักษาได้
ค่าใช้จ่าย จำเป็นต้องประเมินว่า การบำบัดรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือกนั้น ค่าใช้จ่ายโดยรวมมีความคุ้มค่าหรือไม่เมื่อเทียบกับผลการรักษาและฐานะของตน โดยสอบถามให้ชัดเจน
ความน่าเชื่อถือ ตรวจสอบให้แน่ชัดว่า ผู้ให้การบำบัดได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ทางเลือก เช่นกันกับสถานพยาบาลได้ขออนุญาตเปิดอย่างถูกต้องจากกระทรวงสาธารณสุข
“4 ข้อดังกล่าวเป็นพื้นฐานสำคัญในการตัดสินใจเข้ารับการรักษาจากแพทย์ทางเลือกทุกศาสตร์และสาขา”
รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์ฯ บอกว่า แพทย์ทางเลือกส่วนใหญ่ทั้งในไทยและต่างประเทศนั้นล้วนคาบเกี่ยวกับความเชื่อและภูมิปัญญาชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น มีการพิสูจน์โดยการปฎิบัติจนเกิดการเรียนรู้ พัฒนาต่ออย่างเป็นระบบ บางการรักษาอาจมีการรวบรวมหลักฐานจนสามารถนำมาใช้อ้างอิงได้
อย่างไรก็ตามวิธีการหลายรูปแบบตอบได้ยากว่า มีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะบางอย่างมีงานวิจัยรองรับจริง บางอย่างก็ไม่ชัดเจน โดยภาครัฐพยายามทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคด้วยการให้ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้อง สร้างและตรวจสอบงานวิจัย รวมถึงผลสำเร็จในการรักษาโรคต่างๆ ซึ่งข้อเท็จจริงจะถูกพิสูจน์และคลี่คลายจากงานวิจัยและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นทุกขณะ
“สมมติตุ๊กแกกำลังได้รับความนิยมในการรักษา ภาครัฐก็มีหน้าที่ให้การให้ข้อมูลและพิสูจน์ว่า วิธีการนั้นปลอดภัยได้รับการยอมรับจริงหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงสำหรับตุ๊กแกก็คือมีการใช้ในสูตรยาแพทย์แผนจีน เมื่อรู้ว่ามันมีจริง ข้อคำนึงต่อมาก็คือ ความคุ้มค่า ความปลอดภัย และความน่าเชื่อถือของคนและสถานที่ ถ้ามีใบประกอบวิชาชีพ มีสถานประกอบการที่ถูกต้องตามกฎหมาย แบบนี้ก็ไม่มีปัญหาและอาจเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับบางคน”
นพ.ปราโมทย์ ทิ้งท้ายว่า ศาสตร์บางอย่างถูกพิสูจน์ ลองผิดลองถูก ปรับปรุงกันมาต่อเนื่องหลายร้อยปีตกทอดมาจนถึงยุคปัจบัน ต้องเข้าใจว่าบางสูตรที่ได้ผลในอดีตอาจจะล้มเหลวในปัจจุบัน เนื่องจากวัตถุดิบอย่างพืชหรือสัตว์บางชนิดนั้นหาไม่ได้แล้ว ทำให้การรักษาไม่ประสบความสำเร็จดังเช่นในอดีต
“ไม่ควรไปดูถูกหรือโจมตีแพทย์ทางเลือก หากคิดว่าไม่ใช่ ก็ควรพิสูจน์และหาเหตุผลมาหักล้าง เนื่องจากต้องยอมรับว่า โรคบางโรคในร่างกายของคนบางคน ยังไม่มีวิวัฒนาการทางการแพทย์แผนปัจจุบันรักษาให้หายขาดได้ ทำให้แพทย์ทางเลือกกลายเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ป่วยบางคน”
ขอบคุณที่มา https://www.posttoday.com/politic/report/483224