โรคเกาต์

โรคเก๊าท์

Views

โรคเก๊า … เป็นโรคข้ออักเสบที่เกิดจากร่างกายมีกรดยูริคสะสมมากเกินไป จนตกตะกอนเป็นผลึกยูเรทตามเนื้อเยื่อต่างๆ ทั่วร่างกายโดยเฉพาะภายในข้อต่อและพังผืด รอบๆข้อและไต

กรดยูริคเกิดขึ้นได้อย่างไร

           โดยปกติ ร่างกายของเรามีการสร้างกรดยูริคเป็นประจำอยู่แล้วกรดยูริคส่วนใหญ่ราว 2 ใน 3 เป็นของเสียที่เกิดจากขบวนการสร้างเซลล์ใหม่ๆ เพื่อทดแทนเซลล์เก่าที่แก่เฒ่า หรือตายไปซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา กรดยูริคส่วนน้อยเกิดจากการสลายของอาหารพิวรีนหรือโปรตีนที่กินเข้าไป

           กรดยูริคที่เกิดขึ้น ประมาณ 2 ใน 3 ส่วน ร่างกายจะขับออกจากทางปัสสาวะและที่เหลือโดยทางอุจจาระ ดังนั้นผู้ที่มีกรดยูริคสูง จึงไม่ได้เกิดจากการกินอาหาร “แสลง” หรือโปรตีนมากเกินไปดังที่เข้าใจผิดกันบ่อยๆ แต่มักจะเกิดจากความผิดปกติของร่างกายเกี่ยวกับการสร้างมากเกินไป หรือไตขับกรดยูริคน้อยเกินไป

สาเหตุของโรคเก๊าท์

หรือสาเหตุที่ร่างกายมีกรดยูริคสูงผิดปกติ แบ่งออกเป็น 2 จำพวกคือ

  1. เก๊าท์ปฐมภูมิ ผู้ป่วยกว่าร้อยละ 90 จะอยู่ในกลุ่มนี้ โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการที่ไตขับถ่ายกรดยูริคน้อยเกินไป โดยมักเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ เพศและฮอร์โมนทางเพศด้วย เพราะเก๊าท์พบบ่อยในชายวันกลางคนมากกว่าเพศหญิงราว 9-10 เท่า และเพศหญิงมักจะเป็นโรคเก๊าท์ในวัยสูงอายุ หรือหลังจากหมดระดูไปแล้ว 10-20 ปี
  2. เก๊าท์ทุติยภูมิ หมายถึง ผู้ป่วยที่เป็นโรคประจำตัวอื่นอยู่แล้วหรือกินยาที่ใช้รักษาตัว เป็นเหตุที่ทำให้เกิดภาวะกรดยูริคในเลือดสูงจนเกิดอาการโรคเก๊าท์เป็นผลพวงตามมา ตัวอย่าง เช่น
  • โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย มะเร็งเม็ดเลือดโลหิตขาวบางชนิด
  • โรคไตวายเรื้อรัง
  • โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง
  • โรคหัวใจบางชนิด
  • ผู้ป่วยที่กินยาประจำบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาแอสไพรินขนาดน้อยๆ ยาต้านวัณโรค เป็นต้น

โรคเก๊าท์ที่เกิดจากสาเหตุเหล่านี้ พบได้น้อยมาก คือ ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของผู้ป่วยทั้งหมด

อาการของโรคเก๊าท์

สำหรับโรคเก๊าท์ปฐมภูมิ แบ่งออกเป็น 4 ระยะคือ

  1. ระยะที่ไม่มีอาการ ตรวจพบกรดยูริคในเลือดสูงเท่านั้นซึ่งในเพศชายจะเริ่มมีกรดยูริคสูงตั้งแต่อายุ 14-15 ปี หรือเริ่มเป็นหนุ่ม ในเพศหญิงจะเริ่มสูงหลังจากหมดประจำเดือนแล้ว
  2. ระยะข้ออักเสบเฉียบพลัน โดยมักเริ่มปวดบวมที่ข้อเท้าหรือหัวแม่เท้า อาการปวดข้อรุนแรงมากจนเดินไม่ได้หรือเดินลำบาก หากรับการรักษาอาการจะหายสนิทได้ภายใน 1-3 วัน หากปล่อยไว้ก็อาจหายเองได้ภายใน 4-6 วัน โดยข้ออักเสบจะหายเป็นปกติ
  3. ระยะเป็นๆ หายๆ อาการข้ออักเสบจะกำเริบเป็นซ้ำที่เดิมเป็นๆหายๆ เริ่มแรกอาจกำเริบปีละ 1-2 ครั้ง ต่อมาถี่ขึ้นเป็นปีละ 4-5 ครั้ง ข้ออักเสบจะเพิ่มจำนวนขึ้นจาก 1-2 ข้อ, 3-4 ข้อ จนเป็นหลายๆข้อ เช่น ที่ข้อเท้า 2 ข้าง, เข่า ช่วงเวลาที่ข้ออักเสบจะยาวขึ้น เช่น เป็นครั้งละ 5-7 วัน, 7-10 วัน เป็นต้น
  4. ระยะข้ออักเสบเรื้อรัง มักมีข้ออักเสบหลายข้อ และเป็นตลอดเวลา ไม่มีช่วงเว้นว่างหายสนิทอีกระยะนี้มักจะมีปุ่มก้อนขึ้นตามข้อต่างๆที่มีอาการอักเสบ เช่น ที่ตาตุ่มของเท้า หัวแม่เท้า ข้อศอก เข่า ข้อมือ เป็นต้น ปุ่มเหล่านี้ คือ ก้อนผลึกยูเรทที่สะสมมากขึ้นๆ บางครั้งจะแตกออกเป็นสารขาวๆ คล้ายยาสีฟันไหลออกมา หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยจะมีข้อพิการผิดรูปปวดทุกข์ทรมานมาก และอาจมีโรคไตวายแทรกซ้อนได้ อาการจากระยะที่ 1 จนถึงระยะที่ 4 อาจใช้เวลาหลายสิบปี แต่ในรายที่รุนแรงอาจใช้เวลาเพียง 5-10 ปี เท่านั้น และหากได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้องจนเกิดภาวะไตวายแทรกซ้อนยิ่งจะทำให้เกิดโรคเก๊าท์เป็นรุนแรงมากขึ้นอีกด้วย

การรักษาโรคเก๊าท์

          ในปัจจุบันแพทย์สามารถรักษาโรคเก๊าท์ให้หายได้เกือบ 100% โดยผู้ป่วยควรได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ปัจจุบันเท่านั้น เพราะแพทย์ต้องประเมินหน้าที่ของไตและตับ รวมทั้งโรคประจำตัวของผู้ป่วยก่อนเลือกใช้ยาจำเพาะให้เหมาะสมและติดตามผลการรักษาเป็นระยะๆ และผู้ป่วยต้องกินยาเป้นประจำต่อเนื่องหลายปี

          ยาหลักจะประกอบด้วย ยากินประจำเพื่อป้องกันไม่ใช้โรคเก๊าท์กำเริบอีก ร่วมกับยากิน เพื่อลดระดับของกรดยูลิคในเลือดให้ต่ำลงมาก และนานพอที่จะไปสลายผลึกยูเรทที่สะสมในร่างกายผู้ป่วยให้ค่อยๆ หมดไป เมื่อผลึกยูเรทถูกละลายหมดแล้ว ผู้ป่วยก็หายขาดจาดโรคเก๊าท์ได้

อาหาร “แสลง” สำหรับโรคเก๊าท์

          อาหารจำพวกโปรตีนหรือพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ ยอดหน่อไม้ฝรั่ง สัตว์ปีก เนื้อสัตว์ หากรับประทานมากๆ จะทำให้กรดยูริคในเลือดสูงขึ้น 1-2 มก./ดล. เท่านั้น ซึ่งไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคเก๊าท์ แต่หากผู้ป่วยโรคเก๊าท์ที่มีกรดยูริคสูงอยู่แล้วอาจเกิดโรคกำเริบบ่อยขึ้นได้

          แต่ถ้าผู้ป่วยได้รับยารักษาที่ถูกต้องจนสามารถควบคุมระดับกรดยูลิค ให้ต่ำกว่าปกติแล้ว ผู้ป่วยก็สามารถกินอาหารทุกอย่างเหมือนคนทั่วไปได้ จึงไม่จำเป็นต้องงดอาหารเหล่านี้อีกต่อไป แต่ควรหลีกเลี่ยง งดหรือลดปริมาณเครื่องดื่มประเภทเหล้าหรือเบียร์ ซึ่งเป็น “แสลง” สำหรับสุขภาพทุกคนโดยเฉพาะโรคเก๊าท์

ข้อควรจำสำหรับโรคเก๊าท์

  1. ไม่ได้เกิดจากการกิน “อาหารแสลง” มากเกินไป
  2. สามารถรักษาให้หาย (ขาด) ได้ แต่ต้องกินยาที่ถูกต้องและต่อเนื่องนานหลายปี
  3. สามารถกินอาหารและดำรงชีวิตเป็นปกติสุขเหมือนคนทั่วไปได้
  4. การรักษาที่ไม่ถูกต้อง เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดข้ออักเสบซ้ำซาก ข้อพิการผิดรูป โรคไตวาย หรือโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น กระเพาะอาหารเป็นแผลเลือดออก โรคโลหิตจาง โรคขาดสารอาหาร ฯลฯ
  5. ไม่ควรหลงเชื่อว่ามียาวิเศษ หรือกรรมวิธีการรักษาไดๆ ที่จะทำให้โรคหายขาดได้ในระยะเวลาสั้นๆ เพราะอาจเสี่ยงกับยาอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หรือสิ้นเปลืองเวลาและค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น

ขอขอบคุณ https://www.thonburihospital.com

Leave a Reply