โรคเก๊าท์เป็นโรคข้ออักเสบ ที่เกิดจากภาวะที่ร่างกายมีกรดยูริกสูงมากในเลือด สะสมมาเป็นระยะเวลานาน จนกรดยูริกนั้นตกตระกอนอยู่ตามส่วนต่างๆของร่างกาย อาจใช้เวลานานถึง 10 ปี กว่าจะแสดงอาการข้ออักเสบ ปวดแดงร้อนที่ข้อ ถ้ากรดยูริกสะสมตามผิวหนังจะทำให้มีปุ่มนูนขึ้นตามผิวหนัง แต่ถ้ากรดยูริกไปตกตะกอนที่ไตจะทำให้เกิดนิ่วในไตและไตเสื่อมได้ในที่สุด
กรดยูริก คืออะไร
กรดยูริก เกิดจากร่างกายสร้างขึ้นเอง ประมาณ 80 % และอีก 20 % ที่เหลือเกิดจากการที่เรารับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูงมากจนเกินไป ซึ่งสารพิวรีนจะพบในสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ พืชผักบางชนิด และอาหารทะเลบางอย่าง โดยปกติร่างกายสามารถขับกรดยูริกออกทางปัสสาวะได้ แต่บางคนร่างกายไม่สามารถขับกรดยูริกออกได้หมด ทำให้มีกรดยูริกสะสมอยู่ตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณข้อและกระดูก ผนังหลอดเลือดและไต ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการเกิดโรคเก๊าท์
อาการของโรคเก๊าท์
ในระยะแรกจะมีอาการปวดแดงร้อนเฉียบพลัน 24 ชั่วโมงแรกจะปวดมากที่สุด จะไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า อยู่ดีๆก็ปวดขึ้นมาเลย โดยเฉพาะที่นิ้วโป้งเท้าและตรงข้อเท้า เข่า หลังจาก 24 ชั่วโมงผ่านไปอาการจะเริ่มดีขึ้น และจะหายสนิทภายใน 5-7 วัน
ในระยะแรกจะมีอาการอักเสบแค่บริเวณเดียว หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องจะทำให้โรคค่อยๆ ลามไปจุดอื่นทั่วร่างกาย มีอาการจะปวด บวม นานขึ้น และรุนแรงขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้เป็นโรคเก๊าท์
ผู้ที่มีกรดยูริกสูงเป็นระยะเวลานานโดยไม่รู้ตัว หรือมีกรรมพันธุ์เป็นโรคนี้ บวกกับมีพฤติกรรมชอบกินอาหารที่มีสารพิวรีนสูงเป็นประจำ ซึ่งสารพิวรีนเป็นสารตั้งต้นที่ก่อให้เกิดกรดยูริก โดยเฉพาะแอลกอฮอล์ เป็นตัวสำคัญที่ทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้น คนที่เป็นโรคอ้วน น้ำหนักเกินมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้
การรักษาโรคเก๊าท์ในระยะแรก
ในระยะแรกที่มีอาการเฉียบพลัน คือ ปวดบวมแดงร้อน จะใช้ยาแก้ปวดเพื่อลดอาการ ดูแลตัวเองและป้องกันไม่ให้เกิดอาการซ้ำอีก โดยการงดเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทานอาหารที่มีพิวรีนให้น้อยลง การดื่มน้ำเยอะๆ สามารถช่วยขับกรดยูริกออกมาทางปัสสาวะได้หรือการดื่มนมสดก็ช่วยลดกรดยูริกได้เหมือนกัน แต่ถ้ากินยาแก้ปวดและดูแลตัวเองแล้ว ยังมีอาการกำเริบบ่อยกว่า 2-3 ครั้งต่อปี จะต้องใช้ยาลดกรดยูริก การรักษาโรคเก๊าท์แบบไม่ใช้ยา โดยการควบคุมอาหาร สามารถช่วยลดอาการปวดได้ แต่การควบคุมอาหารเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับการรักษาโรคเก๊าต์ให้หายขาดได้
สามารถใช้วิธีนวดเพื่อบรรเทาอาการปวดได้หรือไม่?
ถ้ามีอาการปวดห้ามบีบนวดเด็ดขาด เพราะการบีบนวดจะทำให้กรดยูริกวิ่งเข้ามาในข้อเยอะมากขึ้น ทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น แต่ควรจะพักการใช้งานของข้อ ให้นอนพักและประคบเย็นเท่านั้นก็เพียงพอโดยใช้น้ำแข็งประคบเมื่อมีอาการปวดตามข้อเพื่อลดอาการปวด และถ้าปวดที่เท้าให้ยกเท้าสูง เพื่อช่วยลดการอาการบวม
โรคเก๊าท์ รักษาให้หายขาดได้
โรคเก๊าท์สามารถรักษาให้หาขาดได้ โดยการกินยาเพื่อควบคุมระดับกรดยูริกไม่ให้สูง แต่ผู้ป่วยต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอ ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี เป็นอย่างน้อย และปรับพฤติกรรมการกิน แต่ถ้าหายขาดแล้ว แต่ยังมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารเหมือนเดิมก็จะกลับไปเป็นอีกได้
ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรออกกำลังกายอย่างไร?
ช่วงที่ข้ออักเสบ ปวด บวม ไม่ควรออกกำลังกาย ควรพักผ่อนให้เพียงพอ รักษาให้ดีขึ้นก่อนแล้วค่อยเริ่มออกกำลังกายทีละนิด ออกกำลังกายทั่วไปที่ไม่เน้นหนักไปที่ข้อมากจนเกินไปนัก เพราะข้อที่อักเสบบ่อยๆ จะทำให้ข้อเสื่อมได้ ช่วงปกติให้ออกกำลังกายธรรมดาตามวัย
โรคเก๊าท์เป็นได้ทุกวัย
โรคเก๊าท์สามารถพบได้ตั้งแต่เด็ก แต่ส่วนใหญ่จะพบในเพศชายอายุ 30-40 ปี ขึ้นไป เพราะโรคเก๊าท์จะต้องใช้เวลาในการสะสมกรดยูริกนานเป็น 10 ปีกว่าจะแสดงอาการ และสาเหตุที่ผู้ชายเป็นโรคเก๊าท์มากกว่าผู้หญิงถึง 10 เท่า เพราะผู้ชายดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าผู้หญิง
ผู้หญิงส่วนใหญ่จะไม่เป็นโรคเก๊าท์
จนกว่าประจำเดือนจะหมด สำหรับผู้หญิงจะต่างกับผู้ชาย ผู้หญิงจะเป็นโรคเก๊าท์ในวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว เพราะช่วงที่มีประจำเดือนอยู่นั้นจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งจะช่วยขับกรดยูริกออกจากร่างกาย ดังนั้นผู้หญิงก่อนวัยหมดประจำเดือนจะไม่เป็นโรคเก๊าท์ แต่พอหลังประจำเดือนหมดไปประมาณ 5-10 ปี ก็จะเริ่มมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้ได้
คำแนะนำสำหรับผู้ที่มีกรดยูริกสูง
ควรรีบปรึกษาแพทย์ และใส่ใจสุขภาพมากขึ้น เลือกรับประทานอาหารที่ดี งดเว้นแอลกอฮอล์ไปก่อน ตรวจสุขภาพทุกปี เพื่อดูค่ายูริกว่าสามารถควบคุมได้หรือไม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นโรคเก๊าท์
อันตรายของโรคเก๊าท์
ไม่ถึงกับเป็นอัมพาตแต่เปรียบเสมือนเป็นอัมพาต เพราะปวดข้อมากตลอดเวลาต้องนอนอยู่บนเตียงตลอด เดินไม่ได้ เดินไม่ใหว ในบางรายอาจจะมีอาการไตวายด้วย เพราะมีการสะสมของกรดยูริกที่ไต หรือการที่ผู้ป่วยปวดข้อมากๆ แล้วซื้อยาแก้ปวดมาทานเอง การทานยาแก้ปวดนานๆ ในการรักษาการปวดข้อโดยไม่ขจัดต้นตอของโรค ก็จะทำให้ไตวายได้
อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์
เนื่องจากกรดยูริกจะได้จากการเผาผลาญสารพิวรีน ดังนั้นการรักษาโรคเก๊าท์จึงต้องควบคุมสารพิวรีนในอาหาร
อาหารที่มีปริมาณพิวรีนสูง ควรหลีกเลี่ยง
เครื่องในสัตว์ทุกชนิด เนื้อสัตว์ปีก ไข่ปลา ปลาดุก ปลาไส้ตัน ปลาซาร์ดีน ปลาแมคโคเรล ปลาอินทรีย์ กุ้ง หอย ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ผักยอดอ่อนบางประเภท เช่น กระถิน ชะอม สะเดา ยอดมะพร้าวอ่อน น้ำต้มกระดูก น้ำสกัดเนื้อ ซุปก้อน เห็ด กะปิ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำผลไม้ที่มีรสหวาน
อาหารที่มีปริมาณพิวรีน ปานกลาง รับประทานได้บ้าง
ข้าวโอ๊ต เนื้อหมู เนื้อวัว ปลากระพงแดง ปลาหมึก ปู ถั่วลิสง ถั่วลันเตา หน่อไม้ ไบขี้เหล็ก สตอ ผักโขม ดอกกะหล่ำ ปลาน้ำจืด (ยกเว้นปลาดุก)
อาหารที่มีพิวรีนน้อยหรือไม่มีเลย รับประทานได้
นมและผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ ธัญญพืชต่างๆ ผักต่างๆ ผลไม้ต่างๆน้ำตาล ไขมัน ผลไม้เปลืองแข็งทุกชนิด วุ้นข้าว ขนมปังไม่เกิน 2 แผ่นต่อมื้ออาหาร เนยเหลว เนยแข็ง
ขอขอบคุณ http://www.saintlouis.or.th