“กินอาหารไม่ตรงเวลาใช่ไหม ถึงได้เป็นโรคกระเพาะ” เรียกว่าเป็นประโยคแรกๆ เลยทีเดียวเมื่อมีใครสักคนบ่นว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร จนกลายเป็นความเชื่อไปแล้วว่ากินอาหารไม่ตรงเวลาแล้วจะป่วยเป็นโรคกระเพาะ แต่ความเป็นจริงเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือไม่
โรคกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) หรือ เรียกสั้นๆ ตามภาษาพูด โรคกระเพาะอาหาร หรือ โรคกระเพาะ
โรคกระเพาะ นี้เกิดจากการอักเสบ บวม แดง ของเยื่อบุภายในกระเพาะอาหาร โรคกระเพาะนั้นสามารถพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และโรคพบได้ใกล้เคียงกันทั้งหญิงและชาย
สถิติในประเทศสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยโรคกระเพาะกว่า 1.8 – 2.1 ล้านรายต่อปี
อาการของโรคกระเพาะ
ผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะจะมีอาการสำคัญดังนี้
– ปวดหรือจุกแน่นท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือ หน้าท้องช่วงบน โดยเฉพาะเวลาท้องร้องหรือหิว แต่เป็นอาการปวดที่ทนได้
– ในบางรายปวดหลังจากรับประทานอาหาร
– อาการปวดแน่นดังกล่าว สามารถบรรเทาด้วยยาลดกรดหรืออาหาร
– จะมีอาการปวดเป็นๆ หายๆ โดยมีการเว้นช่วงค่อนข้างนานแล้วกลับมาเป็นใหม่ เช่น ปวด 1 – 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นอีกหลายเดือนจึงกลับมาปวดใหม่
– ปวดแน่นท้องกลางดึกหลังจากที่หลับไปแล้ว
– มีอาการท้องอืด ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ เรอลม มีลมในท้อง ร้อนในท้อง คลื่นไส้อาเจียน
– ถึงจะมีอาการเรื้อรังเป็นปี สุขภาพทั่วไปยังไม่ทรุดโทรม
อย่างไรก็ตามอาการของโรคอาจจะไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของโรคเลยก็ได้ เช่น บางรายไม่มีอาการปวดท้อง แต่มีแผลใหญ่มากในกระเพาะอาหารและลำไส้
อาการแทรกซ้อนของโรคกระเพาะ
– อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเหลวเป็นสีดำ หน้ามืด วิงเวียน เป็นลม อันเนื่องมาจากเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร
– อาการปวดท้องช่วงบนแบบเฉียบพลัน หน้าท้องแข็งตึง กดเจ็บมาก อันเนื่องมาจากกระเพาะอาหารทะลุ
– อาเจียนหลังอาหารเกือบทุกมื้อ เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง รับประทานอาหารได้น้อย อิ่มเร็ว อันเนื่องมาจากกระเพาะอาหารอุดตัน
หากมีอาการข้างต้น ต้องรีบพบแพทย์ เพราะอาจจะถึงแก่ชีวิตได้
สาเหตุของโรคกระเพาะ
สาเหตุของโรคกระเพาะ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งไม่ได้เกิดจากการกินอาหารไม่ตรงเวลาเพียงอย่างเดียว มีสาเหตุดังนี้
1. เชื้อโรค Helicobacter pylori
เชื้อโรค Helicobacter pylori หรือภาษาไทยอ่านว่า “เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร” แบคทีเรียตัวนี้ จะมีรูปร่างเป็นแท่งติดสีน้ำเงิน มีความสามารถอยู่ในสภาวะกรดได้ดี แบคทีเรียดังกล่าวนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในกระเพาะอาหาร และมะเร็งกระเพาะอาหาร จากการคาดการณ์ผู้คนทั่วโลกได้ติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ไปแล้วกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลก ในประเทศไทยพบการติดเชื้อ 40% ของผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารทั้งหมด พบมากที่สุดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สำหรับการติดเชื้อ Helicobacter pylori เกิดจากผู้ป่วยโรคกระเพาะ รับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก หรืออาหารที่ปนเปื้อนแบคทีเรีย Helicobacter pylori ในอาหารและน้ำดื่ม หรือสัมผัสน้ำลายหรืออุจจาระของคนที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
ขอบคุณรูปจาก jschofield
2. กระเพาะอาหารมีกรดมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปนี้ทำให้มีกรดในกระเพาะมากขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงเป็นโรคกระเพาะมากขึ้น
2.1 ความเครียด ความวิตกกังวล เพราะจะกระตุ้นให้เซลล์กระเพาะอาหารหลั่งกรดเพิ่มขึ้น ซึ่งกรดจะก่อการระคายเคือง และก่อการอักเสบต่อเซลล์เยื่อเมือกบุกระเพาะอาหาร ส่งผลทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบ
2.2 การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์ บรั่นดี ยาดอง
2.3 ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ จะทำให้กระเพาะหลั่งกรดออกมามาก
2.4 การสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่ทำให้เกิดการหลั่งกรดออกมามาก
2.5 รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา
2.6 ภาวะที่มีกรดหลั่งออกมามาก เช่นโรค Zollinger-Ellisson syndrome กรดที่หลั่งออกมามากจะทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
ขอบคุณรูปจาก dertrick
3. มีการทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร
3.1 รับประทานยาแก้ปวด ยาแก้ปวด แก้ปวดกระดู ปวดกล้ามเนื้อ ยาชุดที่มีแอสไพรินและยาสเตียรอยด์ ยาชุดต่างๆโดยเฉพาะสารที่ระคายกระเพาะ เช่น ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAID ต่อให้เป็นการให้ยาโดยการอมใต้ลิ้นหรือฉีดก็มีโอกาสเกิดแผลที่กระเพาะ เนื่องจากนี้จะไปกระตุ้นให้เกิด cyclooxigenase II (Cox II) ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบที่กระเพาะ
3.2 รับประทานอาหารเผ็ดจัด และเปรี้ยวจัด
3.3. ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์ บรั่นดี ยาดอง
4. คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคกระเพาะ หากครอบครัวไหนมีโรคกระเพาะ คนในครอบครัวนั้นก็จะมีโอกาสเกิดโรคสูง
ประเภทของโรคกระเพาะ
ขอบคุณรูปจาก Clker-Free-Vector-Images
หากแบ่งตามความยาวนานของโรค แบ่งเป็นดังนี้
1. โรคกระเพาะอาหารอักเสบชนิดเฉียบพลัน
โรคกระเพาะอาหารอักเสบชนิดเฉียบพลัน หมายถึง โรคที่เป็นในระยะสั้นๆ ไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ก็หาย ลักษณะอาการสำคัญ คือ จะปวดท้องหรือจุกแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่ มักเป็นเวลารับประทานอาหาร หรือหลังรับประทานอาหารเล็กน้อย คลื่นไส้ อาเจียน ในรายที่เป็นโรคกระเพาะรุนแรง จะมีอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระสีดำได้ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย สาเหตุที่พบบ่อย คือ จากอาหารเป็นพิษ พิษสุรา และจากยาที่มีฤทธิ์ระคายเยื่อบุกระเพาะอาหาร เช่น ยาแอสไพริน และยาแก้โรคกระดูกและข้ออักเสบ หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์ เพราะอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้
2. โรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง หมายถึง โรคที่เป็นนานเป็นเดือนหรือเป็นปี ผู้ป่วยมักมีอาการไม่มากหรือแทบไม่มีอาการอะไรเลย นอกจากแน่นท้องเป็นๆ หายๆ เท่านั้น หลักการปฏิบัติตัวเหมือนผู้ป่วยแผลกระเพาะอาหาร
หลักการปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคกระเพาะ
ขอบคุณรูปจาก Clker-Free-Vector-Images และ ElasticComputeFarm
หลายคนคิดว่าโรคกระเพาะเป็นแล้วหายขาด ในความเป็นจริงนั้น ผู้ป่วยต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า โรคแผลกระเพาะอาหารเป็นโรคเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ มักไม่หายขาดตลอดชีวิต ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยารักษาติดต่อกันเป็นเวลานาน หลังได้รับยา อาการปวดจะหายไปก่อน ใน 3-7 วัน แต่แผลจะยังไม่หาย ส่วนใหญ่ใช้เวลาถึง 4-8 สัปดาห์ แผลจึงหาย เมื่อหายแล้ว จะกลับมาเป็นใหม่ได้อีกถ้าไม่ระวังปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ดังนั้นผู้ป่วยต้องปฏิบัติตัวดังนี้
– รักษาตามสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อไม่ให้รับเชื้อเพิ่ม
ขอบคุณรูปจาก cegoh
– รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้มหมูสับ แกงจืดผักต้มเปื่อย ข้าวสวยหุงเปียก แกงจืดหมูสับเต้าหู้ ไข่ตุ๋น ปลาต้มเปื่อย เนื้อสัตว์ต้องต้มเปื่อย ผักต้มเปื่อย และเป็นชนิดใยอาหารต่ำ เช่น ผักกาดขาว แกงจืดผักกาดขาว ผลไม้ต้องเป็นผลไม้สุกงอม
– รับประทานอาหารตรงตามเวลาทุกมื้อ
– รับประทานอาหารจำนวนน้อยๆ แต่รับประทานให้บ่อยมื้อ ไม่ควรรับประทานจนอิ่มมากในแต่ละมื้อ
– ปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำ
– หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด สุรา
ขอบคุณรูปจาก Comfreak
– งดสูบบุหรี่
– งดการใช้ยาแก้ปวด แอสไพริน และยาแก้โรคกระดูกและข้ออักเสบทุกชนิด
ขอบคุณรูปจาก geralt
– ผ่อนคลายความเครียด กังวล พักผ่อนให้เพียงพอ
– รับประทานยาลดกรด หรือยารักษาแผลกระเพาะอาหารติดต่อกันอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์
ขอบคุณรูปจาก Unsplash
– ถ้ามีอาการของภาวะแทรกซ้อน ต้องรีบไปพบแพทย์
การป้องกันโรคกระเพาะ
ขอบคุณรูปจาก Pexels
1. รับประทานอาหารปรุงสุก สะอาดในปริมาณที่ไม่มากไม่น้อยเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อโรค ทำให้เกิดโรคกระเพาะ
2. หลีกเลี่ยงรับประทานอาหารอาหารรสจัด เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ กาแฟ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
3. ไม่รับประทานยาโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะกลุ่มยาที่ทำให้ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร หากจำเป็นควรปรึกษาแพทย์ พยาบาลหรือเภสัชกร
4. รับประทานอาหารให้ตรงเวลา
5. ควบคุมความเครียด เช่น ใช้หลักศาสนาเข้าช่วย ออกกำลังกาย ดูรายการตลก สังสรรค์กับเพื่อนฝูง รับประทานของหวาน เป็นต้น
6. รักษา ควบคุมโรคที่ทำให้เกิดความเสี่ยงโรคกระเพาะ
7. ลด ละ เลิกบุหรี่และยาสูบอื่นๆ
8. หลีกเลี่ยงการนอนดึก เมื่อนอนดึกจะยิ่งหิว เนื่องจากกรดถูกหลั่งในท้องมากเกินไป
สมุนไพรรักษาโรคกระเพาะ
ในแพทย์แผนไทยนั้นมีพืชและสมุนไพรที่ช่วยรักษาโรคกระเพาะได้ เช่น
ขอบคุณรูปจาก punnamjai
1. กระเจี๊ยบมอญ
มีสารเพคตินและสารเมือกช่วยเคลือบกระเพาะอาหารและลำไส้ จึงช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้ อีกทั้งยังช่วยดูแลระบบทางเดินอาหารด้วย เพราะเป็นผักที่มีเส้นใยสูง จึงช่วยให้ขับถ่ายได้ดี
ขอบคุณรูปจาก lbokel
2. ขมิ้นชัน
น้ำมันหอมระเหยในขมิ้นชันมีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืด แน่นจุกเสียด ขับลม จึงนิยมนำขมิ้นมาใช้สมานแผลในกระเพาะอาหาร ทำความสะอาดลำไส้ รักษาโรคกระเพาะอาหาร
ขอบคุณรูปจาก stevepb
3. กล้วย
เนื้อและเปลือกกล้วยมีเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารที่มีผลยับยั้งการหลั่งของน้ำย่อยของกระเพาะอาหาร และกระตุ้นให้ลำไส้เล็กบีบตัวมากขึ้น จึงช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารและทำให้ระบายได้
ขอบคุณรูปจาก new_abdul17
4. ฝรั่ง
เป็นผลไม้ที่มีสารแทนนินอยู่มาก จะช่วยยับยั้งการลุกลามของเชื้อโรค ช่วยสมานท้องและลำไส้ ลดอาการอักเสบของกระเพาะลำไส้ และช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลพญาไท, หมอชาวบ้าน, kapook,นพ. สิริวัฒน์ อนันตพันธุ์พงศ์ โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ ,ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล,ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
ขอขอบคุณข้อมูล:leejangmeng.com