โรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นโรคที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นได้เฉพาะในผู้ใหญ่ แต่แท้ที่จริงแล้วโรคนี้พบได้ทุกเพศทุกวัย ซึ่งเป็นอีกโรคหนึ่งที่สามารถติดต่อจากแม่สู่ลูกได้ และมักพบได้มากในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ หากปล่อยเอาไว้จนอาการเรื้อรัง อาจเสี่ยงถึงขั้นกลายเป็นมะเร็งได้Advertisement
โรคไวรัสตับอักเสบบี ในประเทศไทย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับแข็ง และมะเร็งตับ สามารถถ่ายทอดเชื้อจากแม่สู่ลูกได้ หากมารดามีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในเลือดสูง เด็กจะมีโอกาสป่วยเรื้อรังมากถึง 90%
จากการสำรวจโรคไวรัสตับอักเสบบีในคนไทย พบว่า ปัจจุบันมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจากมารดามากถึง 3,800 คนต่อปี ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีการป้องกัน โดยการฉีดวัคซีนในเด็กแรกเกิด จนมีความครอบคลุมการได้รับวัคซีนสูงกว่า 99% แล้ว แต่ก็ยังคงพบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบที่ติดเชื้อมากกว่า 0.1% การป้องกันการถ่ายทอดไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูก นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว ยังมีมาตรการเสริม ได้แก่ การใช้ยาต้านไวรัส Tenofovir disproxil fumarate (TDF) ให้แก่มารดาAdvertisement
ไวรัสตับอักเสบบี ติดต่อทางไหน?
รศ.นายแพทย์ทวีศักดิ์ แทนวันดี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องตับ อธิบายว่า ไวรัสตับอักเสบบี เป็นต้นเหตุของโรคเกี่ยวกับตับหลายโรค ได้แก่ ตับอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งตับ สำหรับในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีค่อนข้างมาก โดยมีช่องทางการติดต่อของ โรคไวรัสตับอักเสบบี ดังนี้
1.ได้รับเชื้อจากแม่สู่ลูก
เกิดจากการที่เลือดของแม่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและลูกสัมผัสกับเลือดของแม่ช่องทางใดช่องทางหนึ่ง การติดเชื้อไวรัสระหว่างคลอดนับเป็นช่องทางการติดต่อที่สำคัญที่สุด ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเกือบทั้งหมดมักได้รับเชื้อจากช่องทางนี้ ทั้งนี้หากแม่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีก็ไม่ได้หมายความว่าลูกทุกคนจะต้องติดเชื้อ ขึ้นอยู่กับปริมาณไวรัสตับอักเสบบีของแม่ขณะคลอดว่ามีมากหรือน้อยเพียงใด
วิธีป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี หากแม่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ก่อนถึงกำหนดคลอดประมาณ 3 เดือน แพทย์จะเช็กผลเลือดว่ามีปริมาณไวรัสมากน้อยเพียงใด หากมีปริมาณมากแพทย์จะจ่ายยาคุมเชื้อไวรัสให้รับประทานติดต่อกันนาน 3 เดือน ถ้ามีเชื้อไวรัสไม่มากก็คอยเฝ้าติดตามอาการต่อไป เมื่อเด็กคลอดแพทย์จะฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และภูมิต้านทานที่หน้าขาทั้งสองข้างของเด็กทันที เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
2.ได้รับเชื้อทางเพศสัมพันธ์
เป็นช่องทางสำคัญของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในวัยผู้ใหญ่ โอกาสในการติดเชื้อสูงกว่าการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีมากถึง 100-200 เท่า เพราะปริมาณไวรัสตับอักเสบบีในเลือดหรือสารคัดหลั่ง เช่น อสุจิ น้ำหล่อลื่น สูงกว่าไวรัสเอชไอวีมาก
วิธีป้องกัน หากคู่ของคุณติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี อีกฝ่ายควรรีบฉีดวัคซีนป้องกัน เพราะโอกาสติดเชื้อมีค่อนข้างสูงAdvertisement
3.ได้รับเชื้อจากการใช้เข็มร่วมกัน
ยกตัวอย่างเช่น การเจาะ การฝังเข็ม การสัก หรือการใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น หากทำไม่ถูกวิธี ก็ย่อมมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสนี้ทั้งสิ้น เพราะเชื้อไวรัสชนิดนี้ไม่สามารถทำลายได้โดยการนำเข็มจุ่มแอลกอฮอล์เพียงระยะเวลาสั้นๆ
4.ได้รับเชื้อจากการคลุกคลีกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ
หากมีบาดแผลอยู่ หากต้องสัมผัสโอบกอด หอมแก้ม หรือจูบผู้ติดเชื้อ อาจทำให้บาดแผลนั้นสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อโดยตรง จึงมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อAdvertisement
รับประทานอาหารร่วมกัน ดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ติดเชื้อหรือไม่?
การรับประทานอาหารร่วมกัน หรือดื่มน้ำแก้วเดียวกัน ไม่ได้ทำให้ติดเชื้อได้ เนื่องจากเชื้อไวรัสมีปริมาณน้อย แต่เพื่อความไม่ประมาท ควรพยายามหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น มีดโกนหนวด กรรไกรตัดเล็บ และแปรงสีฟัน เป็นต้น
อาการ โรคไวรัสตับอักเสบบี
1.ชนิดเฉียบพลัน
มักเป็นผู้ที่ติดเชื้อในตอนโตหรือวัยผู้ใหญ่ ผู้ป่วยมักปวดเมื่อยเนื้อตัว เบื่ออาหาร อ่อนเพลียมาก เหนื่อยง่าย มีไข้ต่ำๆ คลื่นไส้ อาเจียน บางรายอาจมีอาการจุกแน่นบริเวณซี่โครงด้านขวา และจะเริ่มสังเกตเห็นว่าสีปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มกว่าปกติ ตัวเหลือง และตาเหลือง ควรรีบพบแพทย์
การรักษา แนวทางการรักษาจะเป็นการประคับประคองตามอาการโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา หากคลื่นไส้ อาเจียนมาก อาจจะต้องให้น้ำเกลือ แนะนำให้รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกลิ่น มัน หรือรสจัด เพราะอาจกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้ขึ้นมาได้ และไม่ควรดื่มน้ำหวานปริมาณมากๆ เพราะจะเกิดไขมันพอกตับแทน รับประทานอาหารบ่อยครั้งจะได้มีสารอาหารนำไปต่อสู้กับไวรัสได้ และควรพักผ่อนให้เพียงพอ แนะนำให้นอนช่วงพักกลางวันประมาณ 15-30 นาทีเพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นตัว มิฉะนั้นช่วงเย็นจะอ่อนเพลียมากกว่าปกติ
2.ชนิดเรื้อรัง
มักเกิดจากการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก หรือติดเชื้อขณะคลอด แบ่งระยะของโรคออกได้ 3 ระยะดังนี้
- ระยะมีเชื้อแต่ไม่มีอาการ ขณะที่ยังมีอายุน้อย เช่น 10-15 ปี แม้จะมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในเลือดและตับจำนวนมหาศาล แต่กลับไม่มีการอักเสบของตับเลย เนื่องจากภูมิต้านทานยังตรวจไม่พบว่ามีสิ่งแปลกปลอมแฝงตัวอยู่ในร่างกาย
- ระยะอักเสบ ถ้าภูมิต้านทานของผู้ป่วยเอาชนะไวรัสไม่ได้ อาจเกิดการอักเสบนานนับปี เมื่อมีการอักเสบของตับมากขึ้นเรื่อยๆ เซลล์ตับก็จะถูกแทนที่ด้วยพังผืด แม้ในที่สุดภูมิต้านทานจะเข้าต่อต้านควบคุมไวรัสได้ แต่ตับอาจกลายเป็นตับแข็งไปแล้วเพราะผ่านการอักเสบมานาน
- ระยะสงบเชื้อน้อย จะพบว่าการทำงานของตับเป็นปกติ แม้มีเชื้อไวรัสก็ไม่มากนัก ผู้ป่วยที่ผ่านระยะที่ 2 มาได้ก็จะเข้าสู่ระยะนี้ เพราะผ่านการอักเสบมานาน แม้ว่าผลการทำงานของตับยังเป็นปกติ แต่ตับก็เสียหายไปมากแล้ว
วิธีกำจัด โรคไวรัสตับอักเสบบี จากแม่สู่ลูก ได้กำหนดมาตรการที่สำคัญ เอาไว้ดังนี้Advertisement
1.เร่งรัดให้มีการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีในหญิงตั้งครรภ์ทุกราย
2.ส่งเสริมให้ทารกแรกเกิดจากมารดาที่ติดเชื้อได้รับ Hepatitis B Immunoglobulin (HBIG) อย่างน้อย 95%Advertisement
3.ส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อและมีปริมาณไวรัสตับอักเสบบีสูง ได้รับยาต้านไวรัสอย่างน้อย 95%
4.คงระดับความครอบคลุมการได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ให้ได้มากกว่า 90%
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เวลาที่คุณหมอนัดให้คุณแม่ไปรับการฉีดวัคซีน หรือนัดเพื่อตรวจดูพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ คุณแม่ไม่ควรพลาดนัด ยิ่งเรารู้ได้ไวเท่าไหร่ ก็จะสามารถป้องกันโรคต่างๆ ได้มากเท่านั้น
ขอบคุณที่มา: Amarin Book และ ไทยรัฐ
ขอขอบคุณข้อมูล:amarinbabyandkids.com