อาหาร กับ สุขภาพ

แพ้ท้อง ขิง ช่วยได้จริงหรือเปล่า?

Views

บรรดาคุณแม่มือใหม่ที่กำลังพบกับอาการคลื่นไส้อาเจียนเนื่องจาก แพ้ท้อง และการตั้งครรภ์อาจทำให้ไม่สามารถใช้หยูกยาอะไรมา ช่วยแก้อาการแพ้ท้องที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ได้เลย แต่ถ้าเป็นสมุนไพรแล้วล่ะก็ ขิง อาจช่วยบรรเทาอาการได้

ต้านอาการคลื่นไส้…ไว้ใจ ขิง

ขิง เป็นสมุนไพรสารพัดประโยชน์ เพราะทุกส่วนของขิงหนึ่งต้น สามารถช่วยแก้อาการป่วยได้แตกต่างกัน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ขิงมีประโยชน์ตั้งแต่ต้นยันราก นอกจากนี้ ขิงยังมีรสชาติหวานเผ็ดร้อน ซึ่งเป็นรสชาติที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการความอบอุ่นอีกด้วย  โดยส่วนของขิงที่เรานำมาใช้กัน ทั้งในการประกอบอาหาร และในฐานะของสมุนไพรรักษาโรค ก็คือส่วนที่เรียกว่า “เหง้า” หรือรากของขิงนั่นเอง และหนึ่งในสรรพคุณสำคัญของขิงก็คือแก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน เนื่องจากขิงมีสารสำคัญที่ชื่อว่า diarylheptanoids ซึ่งเป็นสารชีวเคมี ที่มีงานวิจัยพิสูจน์แล้วว่าช่วยต้านอาการคลื่นไส้อาเจียนอย่างได้ผล

ขิง..กับผู้หญิงมีครรภ์

จากฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีพบว่า เหง้าขิงช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนจากอาการแพ้ท้องในหญิงตั้งครรภ์ช่วง 3 เดือนแรกได้จริง โดยจากการศึกษาของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก จำนวน 27 ราย ซึ่งได้รับขิงผงในขนาด 1 กรัมต่อวัน แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง รับประทานติดต่อกัน 4 วัน ให้ผลบรรเทาอาการคลื่นไส้ได้ดีกว่ายาหลอก นอกจากนี้ยังมีการศึกษาโดยให้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จำนวน 120 คน รับประทานสารสกัดขิงขนาด 125 มิลลิกรัม (เทียบเท่าขิงแห้ง 1.5 กรัม) วันละ 4 ครั้ง นาน 4 วัน พบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดขิงมีอาการคลื่นไส้ และ retching (การขย้อน) น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก

ส่วนการศึกษาประสิทธิผลของยาน้ำเชื่อมขิง (ginger syrup) 1 ช้อนโต๊ะ ผสมในน้ำร้อนหรือน้ำเย็น 4-8 ออนซ์ วันละ 4 ครั้ง พบว่า 67% (8 ใน 12 ราย) ของกลุ่มที่รับประทานยาน้ำเชื่อมขิงหยุดอาเจียนในวันที่ 6 เทียบกับ 20% (2 ใน 10 ราย) ในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก อย่างไรก็ตาม มีหลายหน่วยงาน เช่น Commission E, The American Herbal Products Association (AHPA), Health Canada ได้ระบุห้ามใช้เหง้าขิง (แห้ง) ในสตรีมีครรภ์ (คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา, 2549)

ใช้ได้กับการแพ้ท้องในระดับไหน

โดยปกติแล้วอาการแพ้ท้องมี 3 ระดับ คือ น้อย ปานกลาง และมาก ดังนั้น อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า ขิงเป็นสมุนไพรใช้รักษาอาการเบื้องต้น จึงสามารถใช้ระงับอาการแพ้ท้องได้ในระดับที่ไม่รุนแรง ไปจนถึงระดับการแพ้ท้องขั้นปานกลาง ส่วนคุณแม่ท่านใดที่แพ้ท้องหนักถึงขั้นไม่สามารถรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้ ทางออกที่ดีที่สุดคือไปหาหมอและรับการรักษาอาการอย่างถูกวิธีค่ะ

วิธีใช้ขิงแก้แพ้ท้อง

1.น้ำขิง

  • ใช้เหง้าขิงสด 15 กรัม (จำนวน 5 แง่ง) น้ำเชื่อม 15 กรัม (1 ช้อนโต๊ะ) น้ำเปล่า 240 กรัม (16 ช้อนโต๊ะ)
  • นำขิง ที่เตรียมไว้มาล้างน้ำให้สะอาดแล้วหั่นเป็นแว่น
  • นำขิง ที่หั่นไว้และน้ำเปล่าใส่หม้อตั้งไฟต้มจนเดือดสักครู่
  • ยกลงแล้วกรองเอา ขิง ออก ใส่น้ำเชื่อมพอประมาณชิมรสตามชอบแล้วจิบได้เรื่อยๆ เมื่อเริ่มมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน

2. รับประทานสด

ถ้าหากคุณแม่มือใหม่คนใดที่ไม่ชอบรสชาติความเผ็ดร้อนแซ่บเบอร์แรงล่ะก็ สามารถนำขิงมาประยุกต์เป็นเมนูอาหารคาวอย่างอื่นได้ เช่น หมูผัดขิง หรือสามารถนำมารับประทานเป็นเครื่องเคียงกับโจ๊กร้อนๆ ได้เช่นกัน

ผลข้างเคียงของขิง

เมื่อใช้ในปริมาณต่ำ ขิงจะมีผลข้างเคียงน้อยมาก แต่หากใช้ในปริมาณสูง หรือมากกว่า 5 กรัมต่อวัน จะมีโอกาสทำให้เกิดผลข้างเคียงมากขึ้น

  • การรับประทานขิงในปริมาณสูงมากๆ อาจเกิดอาการหัวใจเต้นไม่ปกติ เนื่องจากมีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง
  • ขิงยับยั้งการสังเคราะห์ทรอมบอกเซน (thromboxane) ที่สำคัญในกระบวนการห้ามเลือด จึงควรระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีปัญหาการตกเลือด มีรายงานพบว่าการใช้ขิงในระดับสูง อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการจับตัวของเกล็ดเลือด แต่จะหายไปหลังจากหยุดรับประทานไปหนึ่งอาทิตย์ ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการจับตัวของเกล็ดเลือดควรระมัดระวังในการใช้ขิง
  • ขิงอาจมีปฏิกิริยาต่อยาอย่างเช่น ยาละลายลิ่มเลือด และสำหรับโรคเบาหวาน รวมไปถึงโรคความดันโลหิตสูง ควรปรึกษาหมอก่อนที่จะเริ่มต้นกินขิงเป็นอาหารเสริม
  • ขิงอาจทำให้เกิดการแพ้ได้ มีรายงานว่าน้ำคั้นจากขิงอาจทำให้เกิดอาการผื่นแพ้ได้ และอาจทำให้เกิดพิษที่ผิวหนังเนื่องจากแสง (phototoxicity) แต่ไม่รุนแรงมากนัก
  • ไม่ควรใช้ในผู้มีปัญหานิ่วในถุงน้ำดี เนื่องจากขิงมีฤทธิ์ขับน้ำดี ในกรณีผู้ป่วยที่มีปัญหาถุงน้ำดี จึงควรระมัดระวังในการใช้และอยู่ในความดูแลของหมอ

ขอขอบคุณ:hellokhunmor.com

Leave a Reply