เช็คก่อนให้ชัวร์ อย่าเผลอไปแชร์มั่ว ๆ ว่าคอเลสเตอรอล ไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อร่างกาย แถมยังมีประโยชน์มากมายอีกด้วย เพราะ คอเลสเตอรอล (Cholesterol) เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ไม่ให้พลังงานแก่ร่างกาย พบอยู่ในเซลล์สัตว์เท่านั้น ร่างกายได้รับคอเลสเตอรอลจากอาหารเป็นหลัก ได้แก่ ไข่แดง เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ และอาหารทะเล โดยคอเลสเตอรอลมีประโยชน์และมีความจำเป็นต่อร่างกายของมนุษย์ ได้แก่
• เป็นสารตั้งต้นในการผลิตสเตียรอยด์ฮอร์โมน ได้แก่ ฮอร์โมนเพศ(เอสโทรเจน, เทสโทสเตอโรน) และฮอร์โมนของต่อมหมวกไต
• เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์น้ำดี เกลือน้ำดี (bie salt) ช่วยในการย่อยไขมันให้มีขนาดเล็กลง ทำให้ลำไส้เล็กดูดซึมไขมันได้ดีขึ้น
• ช่วยในการสังเคราะห์วิตามินดี
• ช่วยในการสร้างผนังเซลล์และเป็นองค์ประกอบในการทำงานของผนังเซลล์
• เป็นสารที่จำเป็นต่อการทำงานระบบประสาทและสมอง
แต่! หากผู้บริโภคมีพฤติกรรมในการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะบริโภคอาหารที่มีพลังงานสูงหรือมีส่วนประกอบของคอเลสเตอรอลสูงจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ส่งผลให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูงและมีความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ดังนั้น อย. จึงออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข
(ฉบับที่ 182) พ.ศ. 2541 เรื่อง ฉลากโภชนาการ โดยกำหนดให้แสดงปริมาณคอเลสเตอรอลบนฉลากโภชนาการ รวมทั้งกำหนดเกณฑ์ปริมาณคอเลสเตอรอลในอาหารที่สามารถแสดงกล่าวอ้างปริมาณ เช่น “คอเลสเตอรอลต่ำ” ได้ ทั้งนี้ ปริมาณคอเลสเตอรอลที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (Thai Recommended Daily Intakes – Thai RDI) คือ 300 มิลลิกรัมต่อวัน
สรุปก็คือ คอเลสเตอรอลนั้นมีประโยชน์และจำเป็นต่อร่างกาย แต่ถ้าได้รับมากเกินไปก็อันตรายต่อสุขภาพนะ
ที่มา : บทความจากสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ประเด็น : ชี้แจงกรณีการเผยแพร่บทความโคเลสเตอรอลมีแต่ประโยชน์ ไม่มีโทษ วันที่ 22 มีนาคม 2560
ขอบคุณข้อมูลจาก : sure.oryor.com