ความดันโลหิตสูงรู้ทัน-โรค

กินคุมความดัน ไม่มัน ไม่เค็ม กับสองทางเลือกใหม่ที่ควรรู้

View

เมื่อค่าเฉลี่ยคนไทย 1 ใน 5 เป็นโรคความดันเลือดสูง อายุมากก็ยิ่งเสี่ยง นอกจากการเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม การบริโภคให้ตรงหลักโภชนาการก็เป็นทางออกที่ดีในการควบคุมระดับความดันโลหิต

ตัวเลขโดยเฉลี่ยแล้วทุกๆ 5 คนจะมีผู้ที่เป็นโรคความดันเลือดสูง 1 คน อายุยิ่งมาก ยิ่งมีโอกาสเป็นโรคความ ดันเลือดสูงมากขึ้นตาม ดังนั้น ผู้ที่อายุมากกว่า 35 ปี ทุกคนควรได้รับการตรวจวัดความดันเลือดอย่างน้อยปีละครั้ง

สำหรับอาหารที่ได้รับการพิสูจน์ในผู้ป่วยความดันเลือดสูงแล้วว่าสามารถลดความดันเลือดได้ผลดี คืออาหารแดช (DASH ซึ่งย่อมาจาก Dietary Approach to Stop Hypertension) หรืออาหารหยุดความดันเลือดสูง จากการศึกษาในประชากรชาวอเมริกันที่ความดันเลือดปกติและสูงปานกลางจำนวน 500 กว่ารายในเวลา 8 สัปดาห์ พบว่า อาหารแดชนี้สามารถลดความดันเลือดทั้งตัวบนและความดันเลือดตัวล่างได้อย่างชัดเจน (ได้ผลพอๆ กับกินยาลดความดันเลือดหนึ่งตัว) โดยไม่เกิดผลข้างเคียงใดๆ ในขณะที่ผู้ที่กินอาหารอเมริกันทั่วไป ไม่พบว่าความดันเลือดลดลง และถ้ากินอาหารแดชร่วมกับการลดการกินเกลือโซเดียมในอาหารจะยิ่งลดความดันเลือดได้เพิ่มขึ้น

DASH

Dietary Approaches to Stop Hypertension (DASH) เป็นหลักการบริโภคอาหารเพื่อควบคุมภาวะความดันโลหิตสูง โดยมีหลักการดังนี้

– ลดอาหารรสจัดและมีโซเดียมสูง (จำกัดโซเดียมไม่เกิน 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน) โดยลดหรือเลี่ยงเครื่องปรุงรสต่างๆ เช่น เกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน หรือน้ำปลาไม่เกิน 3-4 ช้อนชาต่อวัน หรือซีอิ้วขาวไม่เกิน 5-6 ช้อนชาต่อวัน อาหารแปรรูป เช่น กุนเชียง หมูยอ แฮม ไส้กรอก ไส้อั่ว ปลาเค็ม แหนม อาหารกระป๋องอาหารหมักดอง อาหารที่มีผงฟู เช่น เค้ก บราวนี่ ขนมปังไส้ต่างๆ

– ลดการรับประทานไขมันอิ่มตัวไขมันทรานส์ โดยเลือกใช้น้ำมันพืชในการปรุงประกอบ เลี่ยงการบริโภคไขมันจากสัตว์ หนังสัตว์ เนยเทียม (มาการีน) อาหารจานด่วนต่างๆ เช่น พิชซ่า เบอร์เกอร์ มันฝรั่งทอดน้ำมันท่วม

– เพิ่มอาหารที่มีใยอาหารสูงมากขึ้น โดยเน้นผักผลไม้สด ข้าวไม่ขัดสี ธัญพืช ถั่ว และเมล็ดถั่วเปลือกแข็ง

– รับประทานนมไขมันต่ำ อาทิ นมพร่องมันเนย น นมขาดมันเนย และผลิตภัณฑ์นมเป็นประจำ

ทั้งนี้ การควบคุมความดันโลหิตจะได้ผลดีมากยิ่งขึ้น เมื่อปฏิบัติควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนี้

  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 30 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์
  • หยุดหรือลดบุหรี่และสุรา
  • หลีกเลี่ยงความเครียด รู้วิธีการจัดการความเครียด
  • กินยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่งเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน

Serving

ส่วนอีกวิธีที่ใช้ได้ผล คือการแนะนำให้กินอาหารแต่ละประเภทเป็น “Serving” (หนึ่ง Serving ประมาณหนึ่งฝ่ามือ หรือเป็นปริมาณที่กินใน 1 ครั้ง) เช่น ให้กินผลไม้ 3-4 Serving ต่อวัน ซึ่งยากในการปฏิบัติสำหรับคนไทยทั่วไป จึงขอดัดแปลงวิธีการดังกล่าวให้ง่ายในการปฏิบัติ คือ

– กินอาหารต่อไปนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่าจากเดิมที่เคยกิน คือ ผัก หรือผลิตภัณฑ์จากพืช โดยเฉพาะผักสด เช่น ผักจิ้มน้ำพริก ส้มตำ ยำ ผลไม้ โดยเฉพาะผลไม้สดจะให้คุณค่าอาหารมากกว่าการคั้นน้ำ หรือที่ทำสำเร็จรูปบรรจุกล่อง (สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน ต้องลดการกินผลไม้ลง ถ้าคุมระดับน้ำตาลไม่ได้)ธัญพืช เช่น ข้าวกล้อง ถั่ว งาดำ เป็นต้นปลานึ่ง ปลาต้ม (จะดีกว่าปลาทอด หรือแฮมเบเกอร์ปลา ซึ่งจะมีไขมันสูง)นมพร่องมันเนย หรือ นมปราศจากมันเนย หรือนมถั่วเหลือง

– กินอาหารต่อไปนี้ลดลงประมาณครึ่งหนึ่งจากเดิมที่เคยกิน คือ อาหารรสเค็มและปริมาณเกลือโซเดียม เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว เต้าเจี้ยว ผงชูรส อาหารสำเร็จรูป เป็นต้นอาหารรสหวาน เช่น น้ำอัดลม ลูกอม ขนมหวาน ไอศกรีม ขนมเค้ก คุกกี้ ฟาสต์ฟู้ด เป็นต้นอาหารรสมัน เช่น ไขมันสัตว์ และผลิตภัณฑ์สัตว์ เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เป็ด ไก่ ห่าน ไม่ติดหนังติดมัน เป็นต้น วิธีการเริ่มกินอาหารลดความดันเลือดสูง อาจจะเปลี่ยนชนิดอาหารทีละอย่าง ครั้งละน้อยๆ และค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ชอบกินอาหารรสจัด ต้องลดการปรุงแต่งเติมเสริมรสชาติลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง และใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์กว่าลิ้นของเราจะคุ้นเคยกับอาหารรสปรุงแต่งลดลง และเป็นธรรมชาติมากขึ้น

– จำกัดปริมาณอาหารที่กิน โดยเฉพาะอาหารไขมันและคาร์โบไเดรต และเพิ่มการออกกำลังกาย เพื่อเผาผลาญพลังงานส่วนเกินในร่างกาย ทำให้น้ำหนักลดลง ถ้าน้ำหนักลดลงได้อย่างน้อยร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัว ก็สามารถทำให้ความดันเลือดลดลงได้

นอกจากนี้ คุณผู้ชายที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ควรลดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดื่มลง เช่น ลดลงเหลือ เบียร์วันละ 2 กระป๋อง ไวน์วันละครึ่งแก้ว เป็นต้น (ผู้หญิงลดการดื่มลงครึ่งหนึ่งของผู้ชาย) ส่วนผู้ที่ไม่ได้ดื่ม ก็ไม่แนะนำให้ดื่ม เพราะแอลกอฮอล์ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้นได้เมื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในด้านอาหารประมาณ 2-3 สัปดาห์แล้ว ควรจะวัดความดันเลือดเปรียบเทียบกับความดันเลือดก่อนปรับเปลี่ยนอาหาร ถ้าความดันเลือดยังไม่ลดลงอย่างชัดเจน เช่น 5-10 มิลลิเมตรปรอท ก็ควรจะปรับลดอาหารหวาน มัน เค็ม และเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น หรือปรึกษานักโภชนาการ บุคลากรสาธารณสุข เพื่อให้คำแนะนำเพิ่มเติมในการลดความดันเลือดต่อไป

ภาพ : freepik 

ขอขอบคุณhttps://www.posttoday.com/

Leave a Reply