นิ่วในถุงน้ำดีสุขภาพทั่วไป

ติ่งเนื้อในถุงน้ำดี ควรรอหรือรีบรักษา

Views

ติ่งเนื้อในถุงน้ำดีอาจไม่ใช่ภาวะที่คุ้นหู แต่สามารถเกิดขึ้นได้และไม่สามารถป้องกันได้ ส่วนใหญ่มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และพบจากการตรวจอัลตราซาวนด์ โดยติ่งเนื้อที่พบ 70 – 80 เปอร์เซ็นต์เป็นเนื้อดี  มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นเนื้อร้าย ดังนั้นการใส่ใจตรวจเช็กสุขภาพประจำปีและหากพบติ่งเนื้อในถุงน้ำดีควรต้องรีบรักษาโดยเร็ว จะช่วยให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ

รู้จักกับติ่งเนื้อในถุงน้ำดี

ติ่งเนื้อในถุงน้ำดี (gallbladder polyp)คือติ่งเนื้อหรือโพลิป (polyp) ที่ตรวจพบได้จากอัลตราซาวนด์และมีลักษณะเป็นชิ้นเนื้อขนาดเล็กที่ยื่นออกมา โดยจะอยู่ติดกับผนังถุงน้ำดี ไม่มีการเคลื่อนไหว โดยติ่งเนื้อที่พบส่วนใหญ่มักเป็นติ่งเนื้อเทียม (pseudopolyp) มักเกิดจากคอเลสเตอรอลและอาจพบลักษณะของการอักเสบแล้วมีลักษณะคล้ายติ่งเนื้อร่วมด้วย (inflammatory polyp) โดยกลุ่มนี้ไม่สัมพันธ์กับการกลายเป็นเนื้อร้าย ติ่งเนื้อที่เป็นเนื้องอกจริง (true gallbladder polyp หรือ neoplastic polyp) พบได้ไม่มาก แต่กลุ่มนี้สามารถพบได้ทั้งเนื้อดีและเนื้อร้าย พบได้ตั้งแต่ติ่งเนื้อเดียวไปจนถึงหลาย ๆ ติ่งเนื้อ ความน่าสนใจของติ่งเนื้อในถุงน้ำดี  คือ เมื่อเป็นแล้วจะไม่แสดงอาการ ส่วนใหญ่จะพบเมื่อมีการตรวจอัลตราซาวนด์จากการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งควรต้องรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็วที่สุด

รักษาติ่งเนื้อในถุงน้ำดี

เมื่อแพทย์ตรวจพบติ่งเนื้อในถุงน้ำดีสามารถทำการรักษาได้ 2 แบบคือ

  1. ติดตามอาการ หากแพทย์พิจารณาแล้วว่าไม่ตรงกับข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด แพทย์จะติดตามอาการผู้ป่วยด้วยการอัลตราซาวนด์ทุก 6 – 12 เดือน แต่หากพบความเสี่ยงจะมีการพิจารณาเพื่อเข้ารับการผ่าตัดทันที
  2. ผ่าตัดติ่งเนื้อในถุงน้ำดี เมื่อติ่งเนื้อที่พบในถุงน้ำดีตรงตามข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด ศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อเอาถุงน้ำดีออก ปัจจุบันจะใช้วิธีการเทคโนโลยีผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (MINIMALLY INVASIVE SURGERY : MIS) โดยเจาะรูขนาดเล็กบริเวณหน้าท้องด้วยเครื่องมือเฉพาะ จากนั้นใส่กล้องเข้าไปเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนทุกมิติ ก่อนจะตัดขั้วและเลาะถุงน้ำดีให้หลุดออก วิธีนี้ศัลยแพทย์สามารถมองเห็นอวัยวะภายในได้ชัดเจน แผลเล็ก เจ็บน้อย ลดโอกาสการติดเชื้อ ผู้ป่วยฟื้นตัวไว ไม่ต้องพักฟื้นนาน แต่ในกรณีที่มีความซับซ้อนของโรค ศัลยแพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องได้เช่นกัน โดยจะพิจารณาจากระยะของโรค ซึ่งแบ่งตามการกระจายและความลึกของติ่งเนื้อบริเวณผนังถุงน้ำดี
ติ่งเนื้อในถุงน้ำดี

ข้อบ่งชี้การผ่าตัด

สำหรับข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดติ่งเนื้อในถุงน้ำดี ได้แก่

  • ติ่งเนื้อมีขนาดใหญ่กว่า 1 เซนติเมตร
  • ติ่งเนื้อก้อนเดี่ยวขนาดใหญ่ ฐานกว้าง 
  • มีติ่งเนื้อร่วมกับนิ่วในถุงน้ำดี
  • ติ่งเนื้อบริเวณผนังถุงน้ำดีหนาตัวผิดปกติ
  • ติ่งเนื้อโตเร็วผิดปกติ
  • ติ่งเนื้อที่ก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ 
  • อื่น ๆ 

อย่าชะล่าใจตรวจเช็กสุขภาพ

การตรวจเช็กสุขภาพอย่างละเอียด โดยเฉพาะการอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบนจะช่วยให้ทราบว่ามีติ่งเนื้อในถุงน้ำดีหรือไม่ ซึ่งผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปควรตรวจเช็กอย่างละเอียด นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือ การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ลดของมันของทอด ควบคุมหวาน มัน เค็ม เลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นทางผักผลไม้ให้มาก ออกกำลังกายเป็นประจำย่อมช่วยให้สุขภาพดีในระยะยาว 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : bangkokhospital

Leave a Reply