แม้โรคนิ่วในถุงน้ำดีกว่า 98% จะเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ แต่เราก็พบว่ามี 2% ที่เกิดในเด็ก สาเหตุการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีในเด็กจะไม่เหมือนในผู้ใหญ่ที่เกิดจากคอเลสเตอรอล โดยส่วนใหญ่ในเด็กจะเกิดจากการแตกตัวของเม็ดเลือดในผู้ป่วยโรคเลือด จะมีบ้างที่เกิดจากคอเลสเตอรอลแต่ก็เป็นส่วนน้อย
อะไรทำให้เด็กๆ เป็นนิ่วในถุงน้ำดี
- การแตกตัวของเม็ดเลือดที่เกิดจากโรคธาลัสซีเมีย หรือโรคเลือดอื่นๆ
- เกิดจากความผิดปกติของทางเดินน้ำดี
- อ้วน / พันธุกรรม (ความเสี่ยงนี้เหมือนในผู้ใหญ่)
- การได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด
- การได้รับสารอาหารทางเส้นเลือด หรือยาบางชนิด
อาการเหมือนในผู้ใหญ่ไหม?
อาการทั่วไปก็จะเหมือนที่ผู้ใหญ่เป็น คือ ท้องอืด มีลมในกระเพาะอาหาร ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย โดยเฉพาะเสียดแน่นท้องแถวๆ ลิ้นปี่หลังกินอาหารมันๆ ปวดร้าวไปยังบริเวณสะบักขวาหรือไหล่ด้านขวา กรณีที่นิ่วในถุงน้ำดีไปอุดกั้นทางออกของน้ำดี หรือเคลื่อนตัวไปอุดตันที่ท่อถุงน้ำดี หรืออุดท่อน้ำดีที่เป็นท่อร่วมจากตับก็จะมีการอักเสบ เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน เหงื่อออก มีไข้ ตัวเหลือง ตาเหลือง และคันตามตัว ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระสีซีดเทา ซึ่งควรรีบไปพบแพทย์
การตรวจวินิจฉัย
สำหรับเด็กที่มีอาการไม่มาก ไม่ได้อยู่ในภาวะฉุกเฉิน หมอมักให้ทำอัลตร้าซาวด์เพื่อยืนยันให้แน่ชัดว่ามีนิ่วในถุงน้ำดี แต่หากสงสัยว่าจะเป็นนิ่วในท่อน้ำดีต้องตรวจเลือดเพิ่มเติมเพื่อดูการทำงานของตับ ดูการติดเชื้อ รวมถึงดูว่ามีการอักเสบของตับอ่อนหรือเปล่า
ส่วนในเด็กโตหรือในผู้ใหญ่ หากสงสัยว่าเป็นนิ่วในท่อน้ำดี สามารถใช้วิธีตรวจด้วยการส่องกล้องเข้าทางปาก และใช้สายสวนเข้าไปในท่อน้ำดีเพื่อเอกซเรย์ว่ามีนิ่วในท่อน้ำดีหรือไม่ ถ้ามีก็จะใช้วิธีรักษาด้วยการคล้องนิ่วออกจากท่อน้ำดีร่วม
การรักษาด้วยการผ่าตัด
มีทั้งการผ่าตัดโดยวิธีเปิดหน้าอก และการผ่าตัดผ่านการส่องกล้องซึ่งจะมีแผลที่เล็กมากเพียงไม่กี่จุด หลังการผ่าตัดการเจ็บแผลและโอกาสที่จะติดเชื้อก็น้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด ใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลเพียง 1-2 วันก็สามารถกลับบ้านได้ หลังจากนั้นราว 1 สัปดาห์เด็กๆ ก็สามารถไปโรงเรียนและใช้ชีวิตได้ตามปกติสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมศูนย์ศัลยกรรม รพ.พญาไท 1โทร.02-201-4600 ต่อ 2185, 2285
Rate this article : เด็กเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้ด้วยหรือ?
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลพญาไท