โรคกระเพาะอาหาร

โรคกระเพาะอาหาร เกิดจากเหยื่อบุกระเพาะอาหารถูกทำลาย เกิดแผลในกระเพาะอาหาร

Views
ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเป็น แผลในกระเพาะอาหาร

  • ปวดแสบปวดร้อนบริเวณลิ้นปี่เวลาท้องว่าง หรือจุก เสียด แน่นท้อง หรือปวดคล้ายกับเวลาหิวข้าว มักเกิดขึ้นหลังจากกินอาหารไปแล้วประมาณ 1-3 ชั่วโมง หรือปวดกลางดึก
  • เมื่อได้รับประทานอาหารมักจะหายปวด หรืออาจจะปวดยิ่งขึ้น
  • รู้สึกคลื่นไส้ หรืออาเจียน
  • รู้สึกท้องอืด มีลมในท้อง เหมือนอาหารย่อยได้ไม่ดี
  • อุจจาระเป็นสีคล้ำ ดำ หรือมีเลือดปน (ในกรณีที่มีแผลในกระเพาะอาหาร และมีเลือดออกร่วมด้วย แต่บางกรณีผู้ที่เป็นก็อาจไม่รู้สึกเจ็บปวด หรือมีอาการใดๆ จนกว่าจะมีเลือดออก)

โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Peptic ulcer) หรือเรียกย่อๆ ว่า โรค พียู (PU) หรือพียูดี (PUD, Peptic ulcer disease) เป็นโรคที่เกิดมีแผลขึ้นในกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กส่วนต้น บริเวณปลายหลอดอาหารส่วนที่อยู่ต่อกับกระเพาะอาหารร่วมด้วย เนื่องจากเยื่อเมือกบุภายในทางเดินอาหารเหล่านี้ถูกทำลายโดยน้ำย่อยจากกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่กระตุ้นให้เกิดโรคได้อีก เช่น 

  • การรับประทานอาหารที่ส่งผลต่อการระคายเคืองของกระเพาะอาหาร และลำไส้ เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมถึงยากลุ่ม NSAID อาทิ แอสไพริน ยารักษาโรคกระดูกและข้ออักเสบ และยาชุด เป็นต้น
  • พฤติกรรมการรับประทานอาหารแบบเร่งรีบ กินไม่เป็นเวลา หรืออดอาหารบางมื้อ
  • นอกจากบุหรี่จะส่งผลต่อปอดและทางเดินหายใจแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อกระเพาะอาหารด้วย เพราะอาจเพิ่มโอกาสการเป็นแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น
  • การติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobactor Pylori) ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ติดต่อโดยการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระของผู้ติดเชื้อ เชื้อนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปฝังตัวอยู่ใต้เยื่อบุกระเพาะ ผนังกระเพาะจึงอ่อนแอลงและมีความทนต่อกรดลดลง ทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นเกิดแผลได้ง่าย แผลหายช้า ส่งผลให้เกิดแผลซ้ำได้อีก
  • อื่นๆ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล คิดมาก นอนไม่หลับ เครียด อารมณ์หงุดหงิด พักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคแผลในกระเพาะอาหาร

  • เลือดออกในกระเพาะอาหาร (Upper GI bleeding) ผู้ป่วยจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำเหลว หน้ามืด วิงเวียน เป็นลม
  • กระเพาะอาหารทะลุ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องเฉียบพลันรุนแรง หน้าท้องตึง แข็ง กดแล้วเจ็บมาก
  • กระเพาะอาหารอุดตัน ผู้ป่วยกินได้น้อย อิ่มเร็ว อาเจียนหลังอาหารเกือบทุกมื้อ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

การตรวจ วินิจฉัย

  • การเอกซเรย์กลืนแป้ง การตรวจที่สามารถทำได้ง่าย สะดวก เป็นการตรวจขั้นต้น แต่ไม่สามารถนำชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติมได้
  • ตรวจโดยวิธีการส่องกล้องทางเดินอาหาร เป็นวิธีมาตรฐานที่ดีที่สุดและมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพราะสามารถเห็นรายละเอียดของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นได้ชัดเจนดีกว่าการกลืนแป้ง การส่องกล้องช่วยยืนยันการวินิจฉัย และสามารถยืนยันตำแหน่งและขนาดของแผลที่ตรวจพบได้ นอกจากนี้ การส่องกล้องทางเดินอาหารสามารถตรวจหาเชื้อpylori โดยนำชิ้นเนื้อเล็กๆ มาตรวจหาเชื้อ หรือส่งตรวจทางพยาธิสภาพกรณีสงสัยมะเร็งกระเพาะอาหารได้ด้วย
  • การตรวจหาเชี้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (pylori) สามารถตรวจด้วยวิธีการส่องกล้อง หรือตรวจจากลมหายใจด้วยวิธีการเป่า

ปฏิบัติตัวอย่างไร หลังจากรักษาโรคแผลในกระเพาะอาการ

  • กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย
  • กินอาหารจำนวนน้อยๆ แต่ให้บ่อยมื้อ ในแต่ละมื้อไม่ควรกินให้อิ่มมาก
  • หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด อาหารหมักดอง น้ำอัดลม
  • งดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุรา
  • งดการใช้ยาแก้ปวดแอสไพริน และยาแก้อักเสบทุกชนิด ถ้ามีความจำเป็นให้รับประทานหลังอาหารทันที และดื่มน้ำตามมากๆ ห้ามรับประทานยาตอนท้องว่าง
  • ผ่อนคลายความเครียดและวิตกกังวล พักผ่อนให้เพียงพอ
  • กินยาลดกรด หลังยารักษาแผลกระเพาะอาหารติดต่อกันอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์ รวมทั้งให้ยากำจัดเชื้อ pylori ด้วย
  • ถ้ามีอาการของภาวะแทรกซ้อน ปวดท้องรุนแรง หรือเบื่ออาหาร น้ำหนักลดมาก ควรรีบปรึกษาแพทย์

โรคแผลในกระเพาะอาหารเป็นโรคเรื้อรัง เมื่อรักษาแผลหายแล้วยังมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก หลังได้รับยาอาการปวดจะหายไปก่อนใน 3-7 วัน แต่แผลจะยังไม่หาย ต้องได้รับยาติดต่อกันเป็นเวลานาน 4-8 สัปดาห์ เมื่อหายแล้วสามารถกลับมาเป็นใหม่ได้อีก หากไม่ระวังเรื่องการปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง หรือยังไม่สามารถกำจัดเชื้อ H.pylori ให้หมดได้ 

ระบบทางเดินอาหารและตับ อาคาร 1 ชั้น 2 โทร.02-2717000 ต่อ 10288-89

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : .paolohospital

Leave a Reply