โรคกระเพาะอาหาร

โรคกระเพาะจากเชื้อแบคทีเรีย

Views
เชื้อเอชไพโลไร เป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดอาการกระเพาะอาหารอักเสบ เชื้อชนิดนี้สามารถเกาะเยื่อบุผิวกระเพาะ และผลิตด่างขึ้นป้องกันตัวเอง สามารถอาศัยอยู่ในกระเพาะผู้ติดเชื้อนานนับ 10 ปี โดยอาจไม่มีอาการกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้หากมีอาการปวดท้อง แสบท้อง แน่นเฟ้อ รับประทานอาหารแล้วจุก อิ่มแน่น คล้ายอาการของโรคกระเพาะอักเสบ กินยารักษาแล้วหาย แต่กลับมาเป็นใหม่ วนเวียนนาน 2-3 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อเอชไพโลไร

ปวดท้อง แสบท้อง ท้องอืดเฟ้อ อาจไม่ได้เป็นเพียงโรคกระเพาะอาหารเท่านั้น ปัจจุบันมีการตรวจพบสาเหตุโรคกระเพาะอาหารเรื้อรังรักษาไม่หายขาด จนอาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร

รู้จักเชื้อเอชไพโลไร H. Pylori (Helicobacter Pylori)

แบคทีเรียทั่วไปที่พบในเขตร้อน อาศัยอยู่ในระบบทางเดินกระเพาะอาหารได้โดยผ่านการรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงด้วยความร้อน ซึ่งส่วนใหญ่มีการปนเปื้อนของแบคทีเรีย เช่น น้ำไม่สะอาด มือไม่ล้าง รวมถึงอุปกรณ์การปรุงที่สกปรกปนเปื้อน

ปกติในกระเพาะอาหารมีการสร้างกรดเพื่อทำลายอาหารที่ปนเปื้อน แบคทีเรียส่วนใหญ่เมื่อลงสู่กระเพาะถ้าเชื้อไม่รุนแรงมาก จะถูกกรดทำลายไปส่วนหนึ่ง รวมถึงแบคทีเรียบางชนิดไม่สามารถอยู่ในกระเพาะอาหารได้ แต่เชื้อเอชไพโลไร มีคุณสมบัติพิเศษ สามารถเกาะเกี่ยวตัวเองไว้กับเยื่อบุผิวกระเพาะ รวมถึงสามารถผลิตด่างขึ้นป้องกันตัวเอง แทรกอยู่ระหว่างช่องเซลล์ของผิวเยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งสามารถอาศัยอยู่ในกระเพาะผู้ติดเชื้อนานนับ 10 ปี โดยอาจไม่มีอาการใดๆ

ทั้งนี้หากมีการติดแบบเฉียบพลัน หรือในปริมาณเชื้อมากๆ จะมีอาการเหมือนกระเพาะอาหารอักเสบ โดยมีไข้ ปวดท้องคลื่นไส้ อาเจียน เป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วหายไป เนื่องจากกลไกร่างกายพยายามทำให้การอักเสบเบาลง แต่เชื้อยังไม่ตายและซ่อนอยู่ ในขณะที่ผู้รับเชื้อในปริมาณน้อยอาจไม่มีอาการใดๆ เลย และเชื้อก็จะฝังตัวอยู่ในกระเพาะอาหารไปเรื่อยๆ โดยสร้างความเป็นด่างในกระเพาะเพิ่มขึ้นจนผู้ป่วยเกิดการอักเสบเรื้อรังที่ผิวกระเพาะอาหาร โดยมีอาการหรือไม่มีก็ได้

เมื่อกระเพาะอักเสบเรื้อรังนาน ผิวกระเพาะอาหารเริ่มฝ่อ ความแข็งแรงของผิวเยื่อบุลดลง ส่งผลให้กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังหรือเกิดแผลในกระเพาะอาหารหรือในลำไส้เล็กได้ ในที่สุดอาจทำให้คนไข้มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร ดังนั้นหากผู้ป่วยกินยาลดกรดแล้วกลับมาเป็นซ้ำใหม่ 70-80% ในระยะ 2 ปี ควรเข้ารับการตรวจหาเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร ซึ่งหากตรวจพบและรักษาหาย โรคแผลในกระเพาะที่กลับมาเป็นซ้ำจะลดเหลือเพียง 4- 7 % เท่านั้น

อาการ

ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่พบแพทย์ด้วยโรคกระเพาะเรื้อรัง ปวดท้อง แสบท้อง แน่นเฟ้อ รับประทานอาหารแล้วจุก อิ่มแน่น ซึ่งเป็นอาการของโรคกระเพาะอักเสบเรื้อรัง หรือโรคกระเพาะอาหาร กินยารักษาแล้วหาย จากนั้นต้องกลับมากินยาใหม่ หากเป็นๆ หายๆ วนเวียนนาน 2-3 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อเอชไพโลไร

ปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อเอชไพโลไร

คนทุกเพศทุกวัยมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไพโลไรทั้งสิ้น ทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการ โดยมีปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

  • รับประทานอาหารดิบ กึ่งสุกกึ่งดิบ หรือของหมักดอง รวมถึงผักสดเป็นประจำ
  • ดื่มน้ำไม่สะอาด
  • อุปกรณ์ประกอบอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ
  • อาศัยในสิ่งแวดล้อมหรือรับประทานอาหารร่วมกับผู้ติดเชื้อ เนื่องจากเชื้อเอชไพโลไร สามารถติดต่อทางน้ำลายและสารคัดหลั่ง

การวินิจฉัยการติดเชื้อเอชไพโลไร

  • การส่องกล้อง เก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหาร โดยสอดอุปกรณ์ที่มีกล้องขนาดเล็กเข้าไปทางปาก เพื่อตรวจดูแผล และเยื่อบุกระเพาะอาหาร รวมถึงนำชิ้นเนื้อตรวจหาการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • การตรวจอุจจาระ โดยการเก็บตัวอย่างอุจจาระส่งตรวจภายใน 4 ชั่วโมง เพื่อหาซากเชื้อแบคทีเรีย หรือโปรตีนของเชื้อ ซึ่งมีความแม่นยำมากถึง 98%
  • การตรวจลมหายใจ เนื่องจากเชื้อเอชไพโลไร สามารถเปลี่ยนยูเรียไปเป็นแอมโมเนียได้ โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยกินยูเรีย จากนั้นจึงเป่าเพื่อเก็บลมหายใจไปตรวจปริมาณแอมโมเนียที่เพิ่มขึ้นเทียบกับคนปกติ หากพบว่ามีแอมโมเนียเพิ่มขึ้นมากแสดงว่ามีเชื้อเอชไพโลไรในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งวิธีการนี้มีความแม่นยำมากเช่นกัน

ทั้งนี้ การตรวจวินิจฉัยด้วยการตรวจอุจจาระ และการตรวจลมหายใจ ผู้ป่วยควรหยุดยา 7-10 วันหรือยาปฏิชีวนะทุกชนิด 4 สัปดาห์ ก่อนเข้ารับการตรวจอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ เนื่องจากอาจมีผลกระทบต่อการตรวจ

การรักษา

เมื่อตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อเอชไพโลไร แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะที่มีสูตรเฉพาะ เนื่องจากแบคทีเรียที่อยู่ในกระเพาะมีโอกาสดื้อยาสูง ซึ่งสูตรของยาปฏิชีวะมีความหลากหลาย ต้องใช้ร่วมกัน 2-3 ชนิด ในบางกรณีอาจมียาลดกรด หรือยาบิสมัทร่วมด้วย ซึ่งต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วันไปจนถึง 1-2 สัปดาห์ แล้วแต่ชนิดของยาและความเหมาะของแต่ละบุคคล ทั้งนี้หากมีผู้ติดเชื้อในครอบครัวที่ใช้ชีวิตร่วมกันหรือรับประทานอาหารสำรับเดียวกัน ควรเข้ารับการตรวจเชื้อ เพื่อทำการรักษาไปพร้อมๆ กัน เพื่อป้องกันการกลับมาติดเชื้อซ้ำ

แม้ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไพโลไรในประเทศไทยจะลดลงจากเดิมอยู่มากกว่า 50% ของประชากร ปัจจุบันเหลือประมาณ 35% รวมถึงการติดเชื้อในระยะแรกอาจไม่มีอันตราย แต่หากปล่อยทิ้งไว้จนกลายเป็นโรคกระเพาะอักเสบเรื้อรัง และมะเร็งกระเพาะอาหารในที่สุด ดังนั้นหากเริ่มมีอาการปวดท้อง แสบท้อง แน่นเฟ้อที่รักษาไม่หายขาด โดยเฉพาะผู้มีความเสี่ยงที่ชอบรับประทานอาหารหมักดอง อาหารดิบ สุกๆ ดิบๆ หรือผักสด ควรเข้ารับการตรวจหาเอเอชไพโลไร เพื่อรับการรักษาให้หายขาด


บทความที่เกี่ยวข้อง

ขอบคุณข้อมูลจาก : samitivejhospitals

Leave a Reply