มะเร็งกล่องเสียง (ภาษาอังกฤษ : Laryngeal cancer) คือ เนื้องอกร้าย (มะเร็ง) ที่เกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อของกล่องเสียง ซึ่งอาจจะเริ่มจากแผลเล็ก ๆ แล้วลุกลามจนเป็นก้อนเนื้อที่ประกอบไปด้วยเซลล์มะเร็ง จากก้อนเล็ก ๆ กลายเป็นก้อนใหญ่ขึ้น หรืออาจลุกลามออกนอกกล่องเสียงไปยังอวัยวะใกล้เคียง และเมื่อโรคลุกลามมากขึ้นอาจมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นที่อยู่ห่างไกลกล่องเสียงออกไป เช่น สมอง ปอด กระดูก ตับ เป็นต้น มะเร็งกล่องเสียงสามารถเกิดได้กับกล่องเสียงในทุกตำแหน่ง* โดยในคนไทยจะพบมะเร็งที่กล่องเสียงส่วนที่อยู่เหนือสายเสียงมากที่สุด รองลงมา คือ กล่องเสียงส่วนสายเสียง และกล่องเสียงส่วนที่อยู่ใต้สายเสียง ตามลำดับ โดยชนิดของโรคมะเร็งกล่องเสียงที่พบได้บ่อยที่สุด คือ ชนิด Squamous cell carcinoma
มะเร็งกล่องเสียงเป็นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยชนิดหนึ่งของคนทั่วโลก (พบได้ประมาณ 2-3% ของโรคมะเร็งทั้งหมด) ถึงแม้ว่ายังไม่ติด 1 ใน 10 ของโรคมะเร็งที่พบบ่อยก็ตาม แต่ถ้านับเฉพาะโณคมะเร็งของหู คอ จมูก โรคมะเร็งกล่องเสียงก็พบได้มากเป็นอันดันที่ 3 รองจากโรคมะเร็งหลังโพรงจมูกและโรคมะเร็งโพรงจมูก นอกจากนี้ยังพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึงประมาณ 10 เท่า และพบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่มีประวัติการสูบบุหรี่จัดมานาน (โดยเฉลี่ยอายุของผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 60-70 ปี)
ในสหรัฐอเมริกาพบโรคนี้ได้ประมาณ 5 รายต่อประชากร 100,000 คน (รวมทั้งผู้ชายและผู้หญิง) ต่อปี ส่วนในประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ.2544-2546 พบโรคนี้ในผู้ชาย 2.5 รายต่อประชากรชาย 100,000 คน และในผู้หญิง 0.3 รายต่อประชากรหญิง 100,000 คน
หมายเหตุ : กล่องเสียง (Larynx) เป็นอวัยวะเดี่ยวที่อยู่ด้านหน้าของลำคอ มีขนาดกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร และมีหน้าที่ในการออกเสียง ช่วยการหายใจ และช่วยการกลืนอาหาร ซึ่งอวัยวะที่อยู่ติดกับกล่องเสียงทางด้านหน้าคือ ต่อมไทรอยด์ ส่วนอวัยวะที่อยู่ติดกับกล่องเสียงทางด้านหลัง คือ หลอดอาหาร ดังนั้น เมื่อเป็นโรคมะเร็งกล่องเสียง โรคจึงลุกลามเข้าอวัยวะทั้งสองนี้ได้ง่าย โดยกล่องเสียงอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ
- กล่องเสียงส่วนที่อยู่เหนือสายเสียง (Supraglottis) ส่วนนี้จะมีทางเดินน้ำเหลืองมากมาย เมื่อเกิดมะเร็งของกล่องเสียส่วนนี้ โรคจึงแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองได้สูง
- กล่องเสียงส่วนสายเสียง (Glottis) ส่วนนี้จะไม่ค่อยมีทางเดินน้ำเหลือง เมื่อเกิดมะเร็งของกล่องเสียงส่วนนี้ โรคจึงมักไม่ค่อยแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลือง
- กล่องเสียงส่วนที่อยู่ใต้สายเสียง (Subglottis) เป็นส่วนที่ติดต่อกับท่อลมและมีทางเดินน้ำเหลืองติดต่อกับส่วนช่องอก เมื่อเกิดมะเร็งของกล่องเสียงส่วนนี้ โรคจึงแพร่กระจายเข้าท่อลมและต่อมน้ำเหลืองในช่องอกได้สูง
สาเหตุของมะเร็งกล่องเสียง
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็งกล่องเสียง แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งกล่องเสียงได้ คือ
- การสูบบุหรี่ พบว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของการเกิดโรคมะเร็งกล่องเสียง เพราะการเผาไหม้ของบุหรี่สามารถทำให้เกิดสารก่อมะเร็งได้ นอกจากนั้นควันบุหรี่ยังทำให้ขนกวัดของเยื่อบุกล่องเสียงหยุดการเคลื่อนไหวหรือเคลื่อนไหวได้ช้าลง มีสารคัดหลั่ง หรือสารระคายเคืองค้างอยู่ ทำให้เยื่อบุของกล่องเสียงหน้าตัวขึ้นและเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพเซลล์จนกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ และความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ด้วย
- การดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์สามารถไปกระตุ้นเยื่อบุของกล่องเสียงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพเซลล์จนกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้
- การสัมผัสต่าง ๆ เช่น สารใยหิน นิกเกิล ฝุ่นไม้ สี สารเคมีบางชนิด (เช่น กระกำมะถัน) ฝุ่นควันจากโรงงานอุตสาหกรรม การสูดดมอากาศที่เป็นพิษ (เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์) เป็นระยะเวลานาน
- การระคายเคืองเรื้อรังของเยื่อบุกล่องเสียง เช่น จากโรคกรดไหลย้อน จากคอหรือจากหลอดลมที่อักเสบเรื้อรัง รวมถึงการเกิดเนื้องอกกล่องเสียงจากเชื้อเอชพีวีซ้ำไปซ้ำมา
- การติดเชื้อไวรัส เพราะเชื้อไวรัสสามารถทำให้เซลล์เกิดการเปลี่ยนแปลงและแบ่งเซลล์ผิดปกติ และยังสามารถถ่ายทอดยีนทางพันธุกรรม ทำให้เกิดเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งในคนรุ่นต่อไปได้ด้วย ซึ่งการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human papilloma virus – HPV) ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวกับที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก แต่เป็นคนละสายพันธุ์ย่อย มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเกิดโรคมะเร็งกล่องเสียง
- ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
- ภาวะขาดสารอาหาร ซึ่งมักพบร่วมกับผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด (พบโรคนี้ได้สูงกว่าในคนที่ขาดการรับประทานผักและผลไม้)
- การฉายรังสี การรักษาโดยการฉายรังสีก้อนเนื้อบริเวณคอ สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้
- ฮอร์โมนเพศ เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งกล่องเสียงจะมีเซลล์ตัวรับสัญญาณเอสโตรเจนรีเซบเตอร์ (Estrogen receptor) เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
อาการของมะเร็งกล่องเสียง
ไม่มีอาการเฉพาะของโรคมะเร็งกล่องเสียง แต่อาการจะเหมือนกับกล่องเสียงอักเสบจากสาเหตุทั่วไป ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ รายรายอาจมีเพียงอาการเดียว แต่บางรายอาจมีหลายอาการร่วมกันได้ ดังนี้
- เจ็บคอเรื้อรัง
- ไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะ หรืออาจมีเสมหะปนเลือด
- กลืนอาหารลำบาก กลืนติด กลืนแล้วเจ็บ หรือสำลักร่วมด้วย
- ปวดหู
- หายใจไม่ออก หายใจติดขัด หรือหายใจลำบาก เนื่องมาจากก้อนเนื้อที่โตมากจนไปอุดกั้นทางเดินหายใจ
- ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต เมื่อโรคลุกลามจะคลำได้ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต (มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเกิน 1 เซนติเมตร) ไม่เจ็บ อาจคลำได้เพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างของลำคอ อาจมีเพียงต่อมเดียวหรือหลาย ๆ ต่อมได้พร้อมกัน
- เสียงแหบเรื้อรังติดต่อกันนานเกิน 2-3 สัปดาห์ ซึ่งหากมะเร็งเกิดที่กล่องเสียงส่วนสายเสียงจะแสดงอาการนี้ตั้งแต่ระยะแรก แต่หากเป็นกล่องเสียงส่วนอื่น อาการเสียงแหบที่เกิดขึ้นมักจะแสดงในระยะลุกลามแล้ว
- เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง
- เมื่อโรคลุกลามมากขึ้นอาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นที่อยู่ห่างไกลกล่องเสียงออกไป เช่น สมอง (ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ มึนเวียนศีรษะ), ปอด (ทำให้เกิดอาการหายใจหอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด), ตับ (ทำให้เกิดอาการตัวเหลืองตาเหลือง อ่อนเพลีย), กระดูก (ทำให้เกิดอาการปวดกระดูก) เป็นต้น
ระยะของมะเร็งกล่องเสียง
โรคมะเร็งกล่องเสียงแบ่งออกเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งอื่น ๆ คือ
- ระยะที่ 1 มะเร็งลุกลามอยู่เฉพาะในกล่องเสียงเพียงส่วนเดียว
- ระยะที่ 2 มะเร็งลุกลามเข้ากล่องเสียงตั้งแต่ 2 ส่วนขึ้นไป
- ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามจนสายเสียงไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ และ/หรือมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโตเพียง 1 ต่อม และมีขนาดเล็กไม่เกิน 3 เซนติเมตร
- ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามเข้าผิวหนัง และ/หรือต่อมไทรอยด์ และ/หรือหลอดเลือด และ/หรือมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโคหลายต่อม และ/หรือมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโตมากกว่า 6 เซนติเมตร และ/หรือมะเร็งมีการแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะอื่น ๆ ที่อยู่ห่างไกลออกไป เช่น ปอด ตับ กระดูก สมอง เป็นต้น แต่ที่พบได้บ่อยคือ เข้าสู่ปอด
การตรวจวินิจฉัยมะเร็งกล่องเสียง
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งกล่องเสียงได้การซักประวัติอาการ ประวัติการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ โรคประจำตัว ยาที่รับประทานอยู่ แล้วจากนั้นจะตามด้วยการตรวจร่างกาย การตรวจคลำลำคอ การตรวจภาพกล่องเสียงด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) แต่ที่ให้ผลแน่นอน คือ การใช้กล้องส่องตรวจกล่องเสียง (Laryngoscopy) ตามรูปด้านล่าง ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยไปตรวจพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา (Biopsy) ว่ามีเซลล์มะเร็งหรือไม่
นอกจากนี้ยังมีการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยสำหรับการดมยาสลบและส่องกล้องตรวจกล่องเสียงและตัดชิ้นเนื้อ และมีการตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น การตรวจเอกซเรย์ปอด (Chest x-ray) การตรวจสแกนกระดูก (Bone scan) การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อให้ทราบระยะของมะเร็งและดูว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปที่ใดบ้าง
การแยกโรค
อาการเสียงแหบอาจเกิดจากความผิดปกติของกล่องเสียงด้วยสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่โรคมะเร็งกล่องเสียงก็ได้ เช่น
- กล่องเสียงอักเสบจากการติดเชื้อ ผู้ป่วยมักมีอาการไข้หวัด เจ็บคอ ไอร่วมกับอาการเสียงแหบ ซึ่งมักจะหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์
- กล่องเสียงอักเสบจากการระคายเคือง เช่น การใช้เสียงมาก การสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้มีอาการเสียงแหบเป็น ๆ หาย ๆ เวลาหยุดใช้เสียงหรือหยุดสูบบุหรี่/ดื่มแอลกอฮอล์อาการเสียงแหบจะดีขึ้นเอง
- โรคกรดไหลย้อน ผู้ป่วยมักมีอาการเสียงแหบช่วงหลังตื่นนอน พอตอนสาย ๆ ก็จะทุเลาลง ซึ่งมักจะเป็นทุกวันติดต่อกันเป็นแรมเดือนจนกว่าจะได้รับการรักษา และแม้จะเป็นเรื้อรังแต่ก็มักจะไม่มีอาการเลือดออกปนกับเสมหะหรือมีก้อนแข็งที่ข้างคอตามมา
- ติ่งเนื้อหรือปุ่มเนื้อที่สายเสียง ซึ่งเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง ผู้ป่วยมักมีอาการเสียงแหบเรื้อรังเกิน 3 สัปดาห์ขึ้นไปคล้ายกับโรคมะเร็งกล่องเสีย อาจหายได้เองหรือรักษาด้วยการตัดออก
- ภาวะขาดไทรอยด์ ผู้ป่วยมักมีอาการเสียงแหบร่วมกับอาหารหน้าและหนังตาบวมฉุ ผมบางและหยาบ ผิวหนังหยาบแห้งและเย็น ทำอะไรเชื่องช้า รู้สึกขี้หนาว มีอาการท้องผูก
การรักษามะเร็งกล่องเสียง
วิธีการรักษามะเร็งกล่องเสียงมีหลายวิธี คือ
- การผ่าตัดกล่องเสียง (Laryngectomy) การรักษาโดยการผ่าตัดเป็นวิธีทางเลือกอันดับแรกของการรักษาโรคมะเร็งกล่องเสียง หลัก ๆ แล้วจะประกอบด้วยการผ่าตัดกล่องเสียงออกบางส่วนและการผ่าตัดกล่องเสียงออกทั้งหมด ซึ่งการผ่าตัดย่อมแตกต่างกันและผู้เชี่ยวชาญจะยึดตามสภาพอาการของผู้ป่วย
- การฉายรังสี (Radiation therapy) เป็นการรักษาที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งกล่องเสียงในระยะแรกเริ่ม หรือเป็นผู้ป่วยที่มีสภาพร่างกายอ่อนแอและไม่เหมาะกับการผ่าตัด
- การให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการรักษาที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งกล่องเสียงระยะลุกลามที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ มักใช้เพื่อช่วยลดอาการที่เกิดจากก้อนมะเร็งขนาดที่ใหญ่เกินกว่าการฉายรังสีเพียงอย่างเดียวจะควบคุมได้ ช่วยลดการแพร่กระจายของมะเร็งที่มีก้อนขนาดใหญ่ การใช้ร่วมกับการฉายรังสีในช่วงเวลาเดียวกันจะช่วยลดขนาดของก้อนมะเร็งให้เล็กลงกว่าการให้การรักษาเพียงวิธีใดวิธีหนึ่ง และการรักษาวิธีนี้อาจช่วยให้สามารถรักษากล่องเสียงไว้ได้
- การใช้รังสีรักษาร่วมกับยารักษาตรงเป้า (Targeted therapy) ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและในปัจจุบันยายังคงมีราคาแพงมากเกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึงยาได้
- การใช้สารป้องกันมะเร็ง (Chemoprevention) ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา โดยเป็นการให้ยา วิตามิน หรือสารอื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งหรือเพื่อลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งที่จะกลับมาเป็นซ้ำ
- การใช้สารเพิ่มผลของรังสี (Radiosensitizers) ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา โดยเป็นการใช้ยาหรือสารที่ทำให้เซลล์มะเร็งมีความไวต่อรังสีรักษามากขึ้น ซึ่งการนำมาใช้ร่วมกับการฉายรังสีอาจฆ่าเซลล์มะเร็งได้มากขึ้นIMAGE SOURCE : www.karenpanetta.com
การรักษามะเร็งกล่องเสียงตามระยะของโรค
เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งกล่องเสียง แพทย์จะให้การรักษาตามแนวทางดังนี้
- ถ้าเป็นระยะแรกเริ่ม (ระยะที่ 1-2) แพทย์จะให้การรักษาโดยการฉายรังสี (Radiation therapy) หรือทำการผ่าตัดกล่องเสียง (Laryngectomy) เพียงวิธีใดวิธีหนึ่งเท่านั้น เพราะทั้งสองวิธีให้ผลการรักษาได้เท่าเทียมกัน แต่การฉายรังสีรักษาจะเป็นการใช้รังสีกำลังสูงเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งสามารถใช้รักษาโรคมะเร็งกล่องเสียงระยะแรกให้หายขาดและสามารถรักษากล่องเสียงเอาไว้ได้ จึงทำให้ผู้ป่วยยังคงพูดได้เป็นปกติ ส่วนการผ่าตักล่องเสียงมักจะเป็นการผ่าตัดกล่องเสียงออกบางส่วน (Partial laryngectomy) เท่านั้น และหลังการผ่าตัดผู้ป่วยยังสามารถพูดและรับประทานอาหารได้ตามปกติ แต่อาจมีอาการเสียงแหบไปบ้าง
- ถ้าเป็นระยะลุกลาม (ระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ซึ่งยังไม่มีการแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด) แพทย์จะให้การรักษาร่วมกันหลาย ๆ วิธี เช่น การผ่าตัดกล่องเสียงออกทั้งหมด (Total laryngectomy) รวมทั้งต่อมน้ำเหลืองที่โตหรือที่อยู่ใกล้เคียงด้วย ร่วมไปกับการฉายรังสี (Radiation therapy) และบางรายแพทย์อาจให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ร่วมด้วย ทั้งนี้แพทย์ทางหูคอจมูก แพทย์รังสีรักษา และแพทย์อายุรกรรมด้านมะเร็ง จะเป็นผู้พิจารณาแนวทางในการรักษา โดยจะประเมินจากความรุนแรงและระยะของโรคมะเร็ง ความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของสถาบันที่ให้การรักษา รวมถึงสภาพร่างกายของผู้ป่วยด้วย
- ถ้ามะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่นที่อยู่ห่างไกลจากกล่องเสียง เช่น ปอด ตับ กระดูก สมอง ฯลฯ การรักษาจะมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาแบบประคับประคองและรักษาตามอาการ ป้องกันและบรรเทาความทุกข์ทรมารต่าง ๆ รวมทั้งดูแลปัญหาอื่น ๆ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เช่น การให้ยาแก้ปวด ยาคลายเครียด การเจาะคอ (Tracheostomy) เพื่อลดปัญหาก้อนมะเร็งอุดตันทางเดินหายใจทำให้หายใจได้สะดวกขึ้น การให้อาหารผ่านทางสายยาง การดูดเสมหะออกจากหลอดลมเมื่อมีปริมารเสมหะมากหรือค่อนข้างเหนียว เป็นต้น (การรักษาทางด้านจิตใจมีความสำคัญพอ ๆ กับการรักษาทางด้านร่างกาย ผู้ป่วยในระยะนี้มักต้องการการดูแลทางด้านจิตใจเป็นอย่างมาก บุคคลใกล้ชิดจึงควรพูดคุยและรับฟังผู้ป่วยด้วยความเข้าใจ และเอาใจเขามาใส่ใจเรา)
การสื่อสารภายหลังการผ่าตัดกล่องเสียงออกไป
ภายหลังการผ่าตัดกล่องเสียงออกไปแล้ว ผู้ป่วยจะไม่สามารถออกเสียงพูดตามธรรมชาติได้ และไม่สามารถหายใจเข้าทางรูจมูกได้อีก เนื่องจากการผ่าตัดนำหลอดลมมาเปิดติดต่อกับอากาศภายนอกร่างกายทางรูปเปิดที่ผิวหนังบริเวณลำคอ เมื่อหายใจเข้าอากาศจากภายนอกร่างกายจะผ่านเข้าไปในหลอดลมทางรูเปิดนี้เพื่อไปยังปอด และเมื่อหายใจออกอากาศจากปอดก็จะไหลผ่านหลอดลมออกมานอกร่างกายที่รูเปิดที่คอเช่นกัน ผู้ป่วยจึงต้องสื่อสารกับบุคคลอื่นในภาวะที่พูดไม่ได้ด้วยการใช้ตัวอักษรเป็นตัวสื่อ เช่น การเขียน การพิมพ์ แต่หลังจากที่หายเจ็บจากแผลผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยสามารถฝึกพูดแบบไม่มีกล่องเสียงได้ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีอยู่ 3 วิธีด้วยกัน คือ
- การพูดโดยการเปล่งเสียงผ่านหลอดอาหาร (Esophageal speech) การพูดโดยปกตินั้นจะต้องอาศัยอากาศจากปอดเป็นตัวก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนที่สายเสียงภายในกล่องเสียง แล้วอากาศนั้นจะเคลื่อนออกมาที่คอหอย ช่องปาก ผ่านริมฝีปากออกมาเป็นเสียง แต่การพูดโดยใช้วิธีนี้อากาศจะผ่านขึ้นมาทางหลอดอาหารและก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อบริเวณคอหอย ลิ้น ช่องปาก แล้วค่อยออกมาเป็นเสียงพูด ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องกลืนอากาศลงไปในกระเพาะอาหารเร็ว ๆ แล้วจึงค่อยปล่อยอากาศนั้นจากกระเพาะอาหารย้อนผ่านหลอดอาหารขึ้นมาเป็นเสียงพูด แต่เนื่องจากอากาศในกระเพาะอาหารจะมีปริมาตรน้อยกว่าในปอด จึงทำให้พูดได้ไม่นานก็ต้องหยุดพูดเพื่อกลืนลมลงไปในกระเพาะอีกครั้งก่อนที่จะพูดใหม่ การใช้วิธีนี้จึงต้องฝึกฝนกันพอสมควรผู้ป่วยจึงจะเริ่มพูดออกมาได้ชัด แต่มีข้อดีคือ ไม่ต้องใช้มือถืออุปกรณ์ช่วยพูดใด ๆ จึงทำให้ผู้ป่วยใช้มือทั้ง 2 ข้างได้อย่างเป็นอิสระ
- การพูดโดยการใช้อุปกรณ์ช่วยพูด (Electrolarynx) ซึ่งเป็นเครื่องแปลงการสั่นของกล้ามเนื้อให้เป็นเสียง โดยอุปกรณ์นี้จะทำงานด้วยแบตเตอรี่และมีปุ่มเปิด-ปิด ตัวเครื่องมีขนาดกะทัดรัดขนาดพอดีมือ น้ำหนักเบา พกพาสะดวก แต่ต้องใช้แบตเตอรี่ ผู้ป่วยสามารถพูดได้เลยเมื่อเริ่มใช้อุปกรณ์นี้โดยไม่ต้องมีการฝึกฝนทักษะใด ๆ (อุปกรณ์นี้จึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมากที่มักจะฝึกการเปล่งเสียงผ่านหลอดอาหารได้ยากและท้อแท้ที่จะฝึกให้สำเร็จได้) แต่เสียงที่เกิดขึ้นจะไม่สามารถทำให้เป็นเสียงสูงหรือเสี่ยงต่ำตามต้องการได้ โดยในการใช้งานนั้นเมื่อผู้ป่วยต้องการจะพูดก็ให้กดปุ่มเปิดและนำตัวเครื่องมาจ่อติดกับผิวหนังบริเวณใต้คาง เครื่องจะก่อให้เกิดการสั่นสะเทือนของกล้ามเนื้อและเยื่อบุของคอและช่องปาก (เป็นการทำงานเลียนแบบการสั่นสะเทือนของสายเสียงในกล่องเสียง) ในขณะที่มีการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อเหล่านี้ ให้ผู้ป่วยขยับริมฝีปากเป็นคำพูดที่ต้องการพูดก็จะเกิดเสียงพูดขึ้นมา
- การพูดผ่านรูต่อระหว่างหลอดลมและหลอดอาหาร (Tracheoesophageal speech) โดยปกติแล้วหลอดลมและหลอดอาหารจะไม่มีช่องทางเชื่อมต่อกัน การพูดด้วยวิธีนี้จึงต้องมีการผ่าตัดเพื่อทำช่องทางเชื่อมต่อระหว่างส่วนต้นของหลอดอาหารและส่วนต้นของหลอดลมขึ้น (ทางเชื่อมต่อนี้มักจะต้องใส่อุปกรณ์พิเศาอย่างกล่องเสียงเทียมคาไว้ เพื่อไม่ให้ตัน และไม่ให้อาหารและน้ำรั่วลงไปในหลอดลม ซึ่งจะทำให้สำลัก ไอ และเกิดภาวะทางเดินหายใจอักเสบติดเชื้อได้) เพื่อให้อากาศจากปอดผ่านช่องทางไปนี้ยังคอหอยและปากได้ ข้อดีคือ ผู้ป่วยจะพูดได้นานกว่าการพูดโดยการเปล่งเสียงผ่านหลอดอาหาร อาศัยการฝึกฝนไม่นานก็เริ่มพูดได้แล้ว แต่ผู้ป่วยจะต้องใช้มือ 1 ข้างมาปิดรูหายใจที่คอเพื่อไม่ให้อากาศรั่วออกมาในขณะพูด
การดูแลตนเองเมื่อเป็นมะเร็งกล่องเสียง
- ผู้ที่มีอาการเสียงแหบ ถ้าพักการใช้เสีย หยุดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์แล้ว หรือให้การรักษาอาการไข้หวัด เจ็บคอ ไอ ที่มีร่วมด้วย หากอาการเสียงแหบยังไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ หรือเสียงแหบต่อเนื่องทุกวันติดต่อกันนานเกิน 3 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย (ส่วนใหญ่มักจะมีสาเหตุมาจากโรคที่ไม่ร้ายแรง เช่น โรคกรดไหลย้อน หรือเป็นเนื้องอกธรรมดา มีส่วนน้อยที่อาจเป็นเนื้องอกร้ายหรือเป็นมะเร็งกล่องเสียง) ถ้าตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งกล่องเสียง ผู้ป่วยควรตั้งสติให้ดี ไม่ต้องตกใจ และควรเริ่มต้นรับการรักษาโดยเร็วที่สุดและรักษาให้ครบถ้วน เนื่องจากการรักษาแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ นั้นไม่เพียงพอที่จะควบคุมโรคได้และในที่สุดโรคจะลุกลามมากขึ้น
- ในช่วงการรักษาโรคมะเร็งกล่องเสียงหรือภายหลังจากครบการรักษาแล้ว ผู้ป่วยควรดูแลตนเองด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- การดูแลตนเองในเรื่องทั่วไป ผู้ป่วยควรพักผ่อนให้เต็มที่ (ถ้าอ่อนเพลียควรหยุดพัก แต่ถ้าไม่อ่อนเพลียก็สามารถทำงานได้ แต่ควรเป็นงานเบา ๆ ไม่ใช้แรงงานและสมองมาก), รักษาสุขภาพจิตให้ดี (ควรรู้จักให้กำลังใจตนเองและมองโลกในแง่ดีเสมอ), งดการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ตลอดชีวิต, รักษาสุขอนามัยพื้นฐานให้ดี, หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด (เพราะผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าคนทั่วไป), ดูแลรักษาโรคร่วมต่าง ๆ ที่เป็นอยู่ให้ดี (เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความโลหิตสูง เป็นต้น เพราะโรคร่วมเหล่านี้จะมีผลต่อสุขภาพโดยรวมและเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการรักษาได้สูงขึ้น), ไม่กินยาสมุนไพรหรือยาต่าง ๆ โดยไม่ปรึกษาแพทย์ผู้ให้การรักษาก่อน, ไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ, ไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่ออาการต่าง ๆ เลวลง หรือเกิดความผิดปกติไปจากเดิม หรือเมื่อกังวลในอาการ และไปพบแพทย์ฉุกเฉินหรือภายใน 24 ชั่วโมงซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ
- การดูตนเองในเรื่องอาหาร อาหารเป็นตัวยาสำคัญอย่างยิ่งตัวหนึ่งของการรักษาโรคมะเร็ง ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารโปรตีน (เช่น เนื้อ นม ไข่ ปลา ตับ) เพิ่มผักผลไม้ให้มาก ๆ และจำกัดอาหารไขมัน แป้ง น้ำตาล และอาหารเค็ม นอกจากนั้นคือ การปรับเปลี่ยนประเภทอาหารให้รับประทานได้ง่ายขึ้น (เช่น อาหารอ่อน อาหารเหลว) เตรียมอาหารครั้งละน้อย ๆ ทำให้ดูน่ารับประทาน และอาจปรับเปลี่ยนบรรยากาศที่รับประทานอาหารในบ้านให้ดีขึ้นหรือเปลี่ยนที่รับประทาน (เช่น อาจนั่งกินที่ระเบียง มีอากาศถ่ายเทดี สามารถมองเห็นต้นไม้ดอกไม้บ้าง) เป็นต้น ถ้ารับประทานอาหารได้น้อยให้พยายามเพิ่มจำนวนมื้อให้มากขึ้น รับประทานครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ และจำกัดอาหารหวานและเต็ม เพราะมีผลต่อน้ำตาลในเลือดและการทำงานของไต ควรแจ้งให้แพทย์เมื่อรับประทานอาหารได้น้อยหรือไม่ได้ และควรยอมรับเมื่อแพทย์แนะนำการให้อาหารทางสายเพื่อให้ร่างกายได้อาหารอย่างเพียงพอ
- การดูแลตนเองในด้านการออกกำลังกาย ในช่วงการรักษาผู้ป่วยควรออกกำลังกายอย่างเหมาะสมตามควรแก่สุขภาพอย่างสม่ำเสมอเท่าที่พอทำได้ ไม่หักโหม อย่าออกกำลังกายจนเหนื่อย และค่อย ๆ ทำไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าสุขภาพไม่เอื้อต่อการออกกำลังกาย ควรพยายามเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ไม่ควรนั่ง ๆ นอน ๆ ถ้ายังพอลุกไหว เพราะจะช่วยให้สภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยดีขึ้น
- การดูแลตนเองภายหลังการผ่าตัดกล่องเสียงออกไปแล้ว ผู้ป่วยควรหมั่นหยอดน้ำเกลือสะอาด 2-3 หยดลงไปในหลอดลมเพื่อก่อให้เกิดความชุ่มชื้นที่พอเหมาะ เพราะภายหลังจากการผ่าตัดกล่องเสียงออกไปแล้วผู้ป่วยจะหายใจทางหลอดลมที่มาเปิดที่ผิวหนังบริเวณลำคอ ดังนั้นอากาศที่หายใจเข้าไปในปอดจะไม่ผ่านโพรงจมูกอีกต่อไป (ปกติแล้วจมูกจะคอยปรับความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสมให้แก่อากาศที่จะผ่านลงไปยังปอด) จึงทำให้อากาศที่ลงไปในหลอดลมค่อนข้างแห้งจนส่งผลให้เยื่อบุภายในหลอดลมแห้งกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะหลอดลมอักเสบได้ง่ายขึ้น มีเสมหะปนเลือดได้บ่อย ๆ เนื่องจากเส้นเลือดฝอยภายในหลอดลมอ่อนแอกว่าปกติ และควรหาผ้าพันคอบาง ๆ มาปกคลุมที่บริเวรรูเปิดของหลอดลมเอาไว้ด้วยเพื่อช่วยกรองฝุ่นละอองและเชื้อโรค (อาจใช้ผ้าพันคอที่ทำขึ้นสำหรับผู้ป่วยที่ผ่าตัดกล่องเสียงโดยเฉพาะก็ได้) นอกจากนี้ยังควรดูแลรักษาอุปกรณ์ช่วยพูดที่ใช้อยู่ให้ดี หากอุปกรณ์ทำงานผิดปกติไปก็ควรนำอุปกรณ์ไปตรวจเช็ก (อาจเกิดจากแบตเตอรี่หมดหรืออุปกรณ์เสื่อมตามกาลเวลา) หรือหากกล่องเสียงเทียมทำงานผิดปกติ เช่น ทำให้พูดได้เบาลง พูดไม่ออก หรือต้องใช้แรงมากในขณะพูด พูดแล้วเหนื่อย รวมทั้งมีอาการสำลักอาหารและน้ำ ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจสภาพกล่องเสียงว่าเสื่อมหรือไม่ หรืออาจเกิดจากโรคมะเร็งที่ย้อนกลับมาลุกลามบริเวณคออีกครั้งก็เป็นได้
- เนื่องจากการฉายแสงและเคมีบำบัดอาจมีผลทำให้ปากคอแห้ง มีอาการเบื่ออาหารได้ ผู้ป่วยจึงต้องพยายามรับประทานให้ได้ หรืออาจใช้อาหารเสริมหรือวิตามินเพิ่มเติม เพื่อไม่ทำให้ร่างกายอิดโรยหรือทรุดโทรม
- หลังครบการรักษาในช่วงระยะแรกประมาณ 4-8 สัปดาห์ยังถือว่าอยู่ในระยะพักฟื้น ผู้ป่วยควรค่อย ๆ ปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติทั้งในกิจวัตรประจำวัน การทำงาน และการออกกำลังกลาย นอกจากนั้นคือปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะการทำกายภาพฟื้นฟูเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่าง ๆ และควรกลับไปทำงานตามปกติเมื่อพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ
- ภายหลังการรักษามะเร็งกล่องเสียง แพทย์อาจนัดผู้ป่วยมาตรวจเป็นประจำทุก 1-2 เดือนในช่วง 1 ปีแรก เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรือการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งอีกครั้ง โดยแพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ตรวจเลือก เอกซเรย์ปอด หรือบางครั้งอาจต้องทำการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ด้วย
- ปัจจุบันตามโรงพยาบาลใหญ่ ๆ จะมีสมาคมชมรมผู้ไร้กล่องเสียงที่ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด โดยให้ผู้ป่วยดูแลช่วยเหลือกัน ทั้งด้านกำลังใจ การฝึกพูด และการดูแลสุขภาพ
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งกล่องเสียงใหม่ ๆ โดยเฉพาะผู้ที่ถูกผ่าตัดกล่องเสียงออก พูดไม่ได้ สื่อสารลำบาก มักจะเสียกำลังใจและรู้สึกท้อแท้ ญาติ ๆ ควรส่งเสริมให้ผู้ป่วยเข้าร่วมกิจกรรมของสมาคมดังกล่าว เพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยมีกำลังใจและรู้จักดูแลตนเองจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้
- เนื่องจากการดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งกล่องเสียงจะเหมือนกับโรคมะเร็งอื่น ๆ ซึ่งจะขอกล่าวถึงต่อไปอย่างละเอียดในเรื่อง การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง
ผลการรักษามะเร็งกล่องเสียง
โรคมะเร็งกล่องเสียงเป็นโรคที่มีความรุนแรงปานกลาง สามารถรักษาให้หายได้ ถ้าเป็นระยะแรกเริ่มก็สามารถรักษาให้หายขาดและพูดได้เป็นปกติ แต่ในรายที่เป็นโรคในระยะลุกลามและผ่าตัดกล่องเสียงก็มักจะมีชีวิตยืนยาว แต่จะพูดไม่ได้เป็นปกติ และต้องฝึกพูดด้วยด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังที่กล่าวไป ส่วนโอกาสในการรักษาให้หายนั้นจะขึ้นอยู่กับระยะของโรค ตำแหน่งของกล่องเสียงที่เกิดโรค (ถ้าเกิดโรคที่กล่องเสียงส่วนสายเสียงจะมีความรุนแรงน้อยกว่าส่วนอื่น แต่ถ้าเกิดโรคที่กล่องเสียงส่วนที่อยู่เหนือสายเสียงความรุนแรงของโรคจะสูงขึ้น และความรุนแรงจะสูงมากถ้าเกิดโรคที่กล่องเสียงส่วนที่อยู่ใต้สายเสียง) อายุ และสุขภาพร่างกายโดยรวมของผู้ป่วย โดยทั่วไปอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี ในโรคระยะที่ 1 คือ ประมาณ 70-90%, ระยะที่ 2 ประมาณ 60-70%, ระยะที่ 3 ประมาณ 40-60% และระยะที่ 4 ประมาณ 20-40% ในกลุ่มที่ยังไม่มีการแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ส่วนในกลุ่มที่โรคแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดแล้วโอกาสจะอยู่ได้ 2 คือ ประมาณ 30-50% (ส่วนในผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องมักจะเสียชีวิตภายใน 1 ปี ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตมักเกิดจากการลุกลามแพร่กระจายของมะเร็ง)
ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งกล่องเสียง
ผลการรักษาในแต่ละวิธีจะแตกต่างกันไป และผลข้างเคียงอาจพบได้มากขึ้นเมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยหลาย ๆ วิธีร่วมกัน และ/หรือเมื่อผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และมีโรคประจำตัวเรื้อรัง (โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคภูมิต้านตนเอง)
- ผลข้างเคียงจากรังสีรักษา คือ อาการเจ็บคอ กลืนลำบาก ทำให้รับประทานอาหารได้ยาก รับรสชาติอาหารได้น้อยลง น้ำหนักตัวลดลง มีอาการอ่อนเพลีย เสียงแหบ ผิวหนังที่คอแห้งและแดง สีผิวเปลี่ยนไป ปากและคอแห้ง น้ำลายเหนียวกว่าปกติ (ผู้ป่วยจึงต้องคอยจิบน้ำอยู่เรื่อย ๆ) อาจทำให้มีปัญหาฟันผุตามมาได้ หายใจลำบากเนื่องจากกล่องเสียงบวมขึ้น หลังการฉายรังสีต่อมไทรอยด์อาจถูกทำลาย ทำให้ฮอรืโมนไทรอยด์ต่ำ และเมื่อฉายรังสีครบแล้วอาจเกิดพังผืดกับสายเสียง ทำให้เกิดอาการเสียงแหบถาวรได้
- ผลข้างเคียงจากการผ่าตัด ในรายที่ต้องผ่าตัดกล่องเสียงทั้งหมดจะทำให้พูดไม่ได้และต้องหายใจทางการเจาะคอถาวร แต่ในโรคระยะแรกเริ่มในบางตำแหน่ง แพทย์อาจผ่าตัดกล่องเสียงออกเพียงบางส่วน ผู้ป่วยจึงยังพูดได้และไม่ต้องเจาะคอ หลังผ่าตัดอาจอาจทำให้กลืนอาหารได้ลำบาก อาจต้องให้อาหารทางสายยางผ่านรูจมูกหรือใส่สายให้อาหารทางหน้าท้องชั่วคราว รวมทั้งอาจมีภาวะเลือดออก เกิดรูรั่วของทางเดินอาหารใหม่ เกิดการตีบตันของรูเจาะคอถาวร เกิดการสำลักอาหารเข้าสู่หลอดลมและปอด
- ผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด ในช่วงให้ยาจะมีอาการเจ็บคอมาก มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ และมีเลือดเลือดออกหรือมีจ้ำเลือดตามตัวได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ หรือมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เบื่ออาหาร มีแผลในปาก ผมร่วง ซีด
- ผลข้างเคียงจากยารักษาตรงเป้า ยาบางชนิดอาจก่อให้กิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย เมื่อเกิดบาดแผลจึงทำให้แผลต่าง ๆ ติดยาก และอาจเป็นสาเหตุทำให้ผนังลำไส้ทะลุได้
การป้องกันมะเร็งกล่องเสียง
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งกล่องเสียงได้อย่างเต็ม 100% แต่เราสามารถลดโอกาสการเกิดโรคได้โดยการลดหรือหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังที่กล่าวไปแล้วในหัวข้อสาเหตุ เช่น
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารใยหิน นิกเกิล ฝุ่นไม้ สี สารเคมีบางชนิด (เช่น กรดกำมะถัน) ฯลฯ
- รับประทานผักและผลไม้ให้มาก ๆ และได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนและสมดุล
การตรวจคัดกรองมะเร็งกล่องเสียง
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองให้พบโรคมะเร็งกล่องเสียงได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นวิธีการดูแลตนเองที่ดีที่สุดคือ การรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเมื่อมีอาการดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่อยู่ ๆ พบว่ามีอาการเสียงแหบนานเกิน 2-3 สัปดาห์ และเป็นผู้ชายสูงอายุที่มีประวัติการสูบบุหรี่จัดมานาน เพราะการตรวจพบมะเร็งกล่องเสียงตั้งแต่ในระยะแรก สามารถรักษาให้หายขาดและทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “มะเร็งกล่องเสียง (Laryngeal cancer)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 1164-1165.
- National Cancer Institute. “Laryngeal cancer”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.cancer.gov. [09 พ.ค. 2017].
- ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. “มะเร็งกล่องเสียง (Laryngeal Cancer) รักษาหายได้ถ้ามาพบแพทย์แต่เนิ่นๆ”. (รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th. [10 พ.ค. 2017].
- หาหมอดอทคอม. “มะเร็งกล่องเสียง (Laryngeal cancer)”. (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [11 พ.ค. 2017].
- สาระน่ารู้ โรคมะเร็ง. “มะเร็งกล่องเสียง”. (พญ.จิราวดี จัตุทะศรี). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhospital.com/cancer/. [12 พ.ค. 2017].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)
ขอขอบคุณข้อมูล:medthai.com